เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2544 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ได้ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน มูลค่า 7,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2549 ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ในระดับ "BBB" โดยสะท้อนความสามารถในการผลิตของบริษัทซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและมีทีมผู้บริหารที่มีความสามารถ รวมทั้งแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมพีวีซีในตลาดโลกในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า อันดับเครดิตยังรวมถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้ง 2 รายของบริษัท ได้แก่ กลุ่มโซลเวย์ของประเทศเบลเยียมและกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกถูกลดทอนจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดย ณ สิ้นปี 2542 อยู่ที่ระดับ 6.6% และเพิ่มเป็น 15.9% สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2543 นอกจากนี้ ภาวะล้นตลาดของผลิตภัณฑ์พีวีซีในประเทศจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราส่วนการทำกำไรของผู้ผลิตในประเทศลดลงเพราะอัตราส่วนกำไรจากการส่งออกต่ำกว่าการขายภายในประเทศ
รายงานของทริสระบุว่า วีนิไทยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพีวีซีที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศรองจาก บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) (ทีพีซี) โดยในปี 2542 มีส่วนแบ่งตลาดด้านยอดขายในประเทศประมาณ 36% แต่ในด้านกำลังการผลิตมีส่วนแบ่งประมาณ 26% การที่บริษัทได้ลงทุนสร้างโรงงานเพื่อผลิตวัตถุดิบในการผลิตพีวีซีคือวีซีเอ็มเองและเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2539 ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทสูงขึ้นมาก อัตราส่วนกำไรขั้นต้นก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 42% ในปี 2542 เป็นอัตราที่สูงกว่าของทีพีซีที่ระดับ 32% มาก
กลุ่มโซลเวย์ซึ่งถือหุ้น 46% ในวีนิไทยและเป็นผู้ผลิตพีวีซีรายใหญ่อันดับที่ 6 ของโลก ได้ร่วมดำเนินการกับบริษัทตั้งแต่ก่อสร้างโรงงานตามมาตรฐานสากล ให้การสนับสนุนด้านการผลิต ตลอดจนช่วยทำการตลาดทั้งตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ความแตกต่างระหว่างราคาพีวีซีบวกราคาโซดาไฟกับราคาเอธิลีน (Electrochemical Unit - ECU) เป็นตัวเลขที่ใช้วัดการเคลื่อนไหวของระดับกำไรสำหรับผู้ผลิตพีวีซีซึ่งในช่วงตกต่ำที่สุดของรอบวงจรพีวีซีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 291 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2541 และได้เพิ่มเป็น 420 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม 2543 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ามีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีการขยายกำลังการผลิตของพีวีซีโลกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายประสบปัญหาในช่วงตลาดพีวีซีตกต่ำในปี 2539-2541 และหากไม่เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลันในประเทศสหรัฐอเมริกา ทริสคาดว่าราคา ECU โดยเฉลี่ยใน 2-3 ปีข้างหน้าน่าจะรักษาอัตราปัจจุบันไว้ได้ ในส่วนของผู้ประกอบการของไทยคาดว่าอัตราการทำกำไรจะลดลงจากอดีตเพราะรัฐบาลมีนโยบายลดอัตราภาษีนำเข้าพีวีซีจากปัจจุบันอยู่ที่ 15% เป็น 10% ถึง 5% ในปี 2544-2546 ซึ่งราคาพีวีซีที่ขายในประเทศอิงกับอัตราภาษีการนำเข้าดังกล่าว
กลุ่มโซลเวย์และซีพีมีพันธะที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่บริษัทในรูปของทุนหรือเงินกู้ด้อยสิทธิจำนวนรวมไม่เกิน 800 ล้านบาทในกรณีที่บริษัทมีเงินไม่เพียงพอที่จะจ่ายชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ นับตั้งแต่บริษัทได้เริ่มดำเนินงานผลิตวีซีเอ็มเองในปี 2539 และตั้งแต่มีการลดค่าเงินบาทในปี 2540 อัตรากำไรขั้นต้นก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทดีขึ้น คือเพิ่มจาก 27.8% ในปี 2539 เป็น 43.4% ในปี 2540 เป็น 38.7% ในปี 2541 และเป็น 42.4% ในปี 2542 ราคาขายของบริษัททั้งกับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศอิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเช่นเดียวกับต้นทุนการดำเนินการอีกเพียง 40%-50% อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างส่วนทุนที่เคยสูงถึง 85%-100% ในช่วงปี 2540-2542 ได้ลดลงมาเป็น 62% ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 ของปี 2543 หลังจากมีการเพิ่มทุนในเดือนพฤษภาคม 2543 แม้ว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินจะดีขึ้นมากจาก 2% ในปี 2541 เป็น 6.6% ในปี 2542 และ 15.9% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2543 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ - จบ