ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารออมสินที่ระดับ “AAA” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและผลประกอบการทางการเงินที่ดีของธนาคาร รวมทั้งความเป็นไปได้ในระดับสูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเมื่อธนาคารมีปัญหาทางการเงิน ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 กำหนดไว้ว่า ข้อผูกพันต่าง ๆ ของธนาคารออมสินในส่วนของการชำระคืนเงินต้นเงินกู้ยืม ตลอดจนดอกเบี้ยเงินฝาก และการจ่ายชำระหนี้อื่น ๆ นั้นจะได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาลทั้งสิ้น
เป็นเวลามากกว่า 100 ปีหลังการก่อตั้งในปี 2456 ที่ธนาคารออมสินมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาอย่างสม่ำเสมอโดยเน้นให้บริการด้านการเงินและการธนาคารแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นธนาคารของประชาชนและมีหน้าที่ในการสนับสนุนนโยบายพัฒนาสังคมของรัฐบาล ปัจจุบันธนาคารอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ธปท. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามกรอบแนวทางพื้นฐานของ Basel II โดยมีเป้าหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีความแข็งแกร่งด้านการบริหารความเสี่ยงและมีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมภิบาลและความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับธนาคารออมสินคือการสร้างสมดุลระหว่างการบรรลุพันธกิจของธนาคารและการรักษาผลประกอบการทางการเงินที่ดีเอาไว้ให้ได้ ทั้งนี้ ธนาคารจะต้องให้บริการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลรวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจบางภาคส่วนตามนโยบายแม้กิจกรรมเหล่านี้จะมิได้สร้างผลกำไรให้แก่ธนาคารก็ตาม
เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว ธนาคารออมสินมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ในด้านของขนาดสินทรัพย์ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 2.58 ล้านล้านบาท ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดใหญ่ทั้งในส่วนของสินเชื่อและเงินฝาก โดย ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ระดับ 10.6% ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 4 และเงินฝากที่ระดับ 12.7% ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 2 สถานะทางการตลาดด้านเงินฝากที่แข็งแกร่งของธนาคารสะท้อนสถานะภาพการเป็นสถาบันเงินฝากชั้นนำ อีกทั้งธนาคารยังมีบทบาทสำคัญในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง พบว่าธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ระดับ 10.2% หรืออยู่ในอันดับที่ 4 ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 นอกจากนี้ ธนาคารยังให้บริการทางการเงินการธนาคารที่ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านเครือข่ายสาขาอีกด้วย
ธนาคารออมสินมีฐานลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารยังมีการพึ่งพิงธุรกิจการปล่อยสินเชื่อเป็นอย่างมาก สัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอยู่ที่ระดับกว่า 80% ของรายได้รวมในช่วงสิ้นปี 2559 ซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 17 แห่ง* ซึ่งอยู่ที่ระดับ 62% ในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและบัตรเครดิตและค่านายหน้าอื่น ๆ นั้นอยู่ในระดับต่ำ โดยสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิของธนาคารอยู่ที่ระดับเพียง 6.6% ในปี 2559 เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 20%
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนตามหลัก Basel-II ของธนาคารจะอยู่ในระดับ 12%-13% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งเพียงพอต่อการขยายธุรกิจในระยะใกล้ สัดส่วนเงินทุนชั้นที่ 1 (Tier-1) ต่อเงินกองทุนรวมอยู่ที่ระดับ 93.8%
ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 และมีความเป็นไปได้สูงว่ากระทรวงการคลังจะยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลของธนาคารในปัจจุบันไว้ ถึงแม้ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8.5% ที่กำหนดโดย ธปท. แต่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ซึ่งคงอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนตามหลัก Basel-III ในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารจึงไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการมีผลตอบแทนสูงสุด ดังนั้น ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจึงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ระดับประมาณ 1.06%
ณ สิ้นปี 2559 ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 1.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะมีการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมและลดการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงในอนาคต แม้ว่าการเสื่อมถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.44% ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 จากระดับ 1.74% ณ สิ้นปี 2558 แต่สัดส่วนดังกล่าวยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 3.7% ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนลูกหนี้ชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษต่อสินเชื่อรวมของธนาคารมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 4.53% ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะสำรองส่วนเกินของธนาคาร (ปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของทางการ) อยู่ในระดับปานกลางที่ 111% ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 ซึ่งต่ำกว่าสถานะสำรองส่วนเกินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ สถานะสำรองส่วนเกินของธนาคารที่ระดับดังกล่าวสะท้อนนโยบายการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพียงพอ**
ธนาคารออมสินมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเนื่องจากธนาคารมีฐานลูกค้าเงินฝากที่กว้างขวางและธนาคารเองก็มีสถานะพิเศษในการเป็นธนาคารของรัฐ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบริการเงินฝากที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ จนทำให้ยากที่จะลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้บริการที่ธนาคารคู่แข่งได้ อีกทั้งรัฐบาลยังเป็นผู้ค้ำประกันภาระหนี้ทั้งหมดของธนาคารอีกด้วย ทั้งนี้ ธนาคารมีเงินฝากคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 86% ของเงินทุนทั้งหมดโดยรวมถึงส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ในขณะที่สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินรับฝากของธนาคารอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยอยู่ที่ระดับ 89.4% ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560
ธนาคารคงสถานภาพการเป็นผู้ให้กู้ยืมสุทธิในตลาดระหว่างธนาคารอย่างสม่ำเสมอและยังเป็นผู้จัดหาสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจและองค์กรของภาครัฐอื่นๆ อีกด้วย สถานะสภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมและต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของธนาคารอยู่ที่ระดับ 27.2% และ 31.5% ตามลำดับ ณ วันสิ้นงวดครึ่งแรกของปี 2560 โดยสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนใหญ่มาจากเงินให้กู้ยืมในตลาดระหว่างธนาคารระยะสั้น
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารออมสินจะรักษาสถานภาพการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้ พ.ร.บ. จัดตั้งและจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่องจากรัฐบาลต่อไป
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงไปหากสถานะของธนาคารภายใต้ พ.ร.บ. จัดตั้งเปลี่ยนแปลงไป หรือหากทริสเรทติ้งมีมุมมองต่อระดับความสำคัญในเชิงนโยบายของธนาคารซึ่งเกี่ยวกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
* ค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในที่นี้หมายถึงค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 17 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)
7. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
9. ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
10. ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
11. บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
12. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
13. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
14. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
15. ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
16. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
ธนาคารออมสิน (GSB) อันดับเครดิตองค์กร AAA แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html