ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” พร้อมคงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทที่ “Negative” หรือ “ลบ” โดยอันดับเครดิต “BBB-” สะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทย ตลอดจนการมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่ครบวงจร และตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ “ดั๊บเบิ้ล เอ” อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่ผันผวนของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อุปสงค์ของกระดาษที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปนิยมใช้สื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น รวมถึงธุรกรรมบางรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง
บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้นำในการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศไทยโดยบริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2532 บริษัทเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท Double A Holding Limited ที่มีตระกูลดำเนินชาญวนิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย ณ เดือนกันยายน 2560 นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 87.8% ในบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตกระดาษจำนวน 5 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกันทั้งสิ้น 1,045,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตกระดาษของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 เท่าหลังจากโรงงานแห่งที่ 3 (APM 3) ในประเทศไทยเริ่มเดินเครื่องในเดือนพฤศจิกายน 2555 และบริษัทได้ซื้อโรงงาน Alizay ในประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในเดือนมกราคม 2556 โดยบริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาทสำหรับ APM 3 และ 1,400 ล้านบาทสำหรับ Alizay บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายกระดาษคิดเป็น 90% ของรายได้รวม ตามด้วยรายได้จากการจำหน่ายไม้สับ (7%) รายได้จากการจำหน่ายเยื่อกระดาษ (2%) และรายได้จากการให้บริการ (1%)
ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากการมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่ครบวงจรซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าตูม จังหวัดปราจีนบุรี บริษัทมีกำลังการผลิตโรงงานเยื่อกระดาษขนาด 427,000 ตันต่อปี โดยบริษัทผลิตเฉพาะเยื่อกระดาษใยสั้นและเกือบทั้งหมดใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานผลิตกระดาษในประเทศไทยของบริษัท ทั้งนี้ โรงงานผลิตกระดาษในประเทศไทยของบริษัทมีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสื้น 745,000 ตันต่อปี การมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่ครบวงจรดังกล่าวทำให้เกิดการผสานพลัง (Synergy) และช่วยเพิ่มความได้เปรียบในด้านต้นทุนให้แก่บริษัท
ตรงกันข้ามกับโรงงานผลิตกระดาษในประเทศไทย Alizay ขาดการผสานพลังเนื่องจากการมีโรงกระดาษแต่เพียงอย่างเดียวในประเทศฝรั่งเศส ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระดาษของ Alizay สูงกว่าโรงงานผลิตกระดาษในประเทศไทย นอกจากนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในกลุ่มประเทศยุโรปและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปนิยมใช้สื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้ Alizay ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากเพียงพอที่จะทำให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ส่งผลให้ Alizay ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานนับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานในปี 2556 โดย Alizay มีผลขาดทุนก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจำนวน 105 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560
บริษัทมียอดขายกระดาษกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคและยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็งครอบคลุมมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายภายในประเทศ 30% ส่วนอีกประมาณ 50% มาจากตลาดอื่นในภูมิภาคเอเซีย 10% มาจากตลาดในยุโรป และ 10% มาจากตลาดในประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายในต่างประเทศกว่า 70% บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตามลำดับหลังจากที่ลดลงอย่างมากในปี 2557 และปี 2558 โดยอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ลดลงเป็น 5.9% ในปี 2557 และ 3.3% ในปี 2558 จากระดับที่สูงกว่า 10% ในอดีต ซึ่งการลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านเครื่องจักรเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 8.2% ในปี 2559 และ 12.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จากแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทภายใต้คำแนะนำของที่ปรึกษาจากภายนอก แผนดังกล่าวประกอบไปด้วยหลายมิติซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการให้ความสำคัญกับตลาดหลักและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ต้นทุนการผลิตโดยรวมลดต่ำลงหลังจากบริษัทลดปริมาณการผลิตที่โรงงานผลิตกระดาษ Alizay ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงและหันไปเพิ่มปริมาณการผลิตที่โรงงานผลิตกระดาษในประเทศไทยแทน การให้ความสำคัญกับตลาดหลักมากกว่าที่จะมุ่งเน้นการทำตลาดใหม่ ๆ ก็ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานลงด้วย นอกจากนี้ การลดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ลงยังช่วยลดปัญหาด้านเครื่องจักรอีกด้วยเช่นกัน โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2,107 ล้านบาทในปี 2559 จาก 1,050 ล้านบาทในปี 2558 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,124 ล้านบาทในปี 2559 จาก 867 ล้านบาทในปี 2558 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายและเงินทุนจากการดำเนินงานยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 1,457 ล้านบาทและ 1,443 ล้านบาทตามลำดับ กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันหลังจากที่ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มสูงขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 9.3 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จากระดับต่ำสุดที่ 2.9 เท่าในปี 2557 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงเหลือ 8.9 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จากระดับสูงสุดที่ 21.2 เท่าในปี 2558 ทั้งนี้ แม้กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นสำหรับอันดับเครดิตในปัจจุบัน
บริษัทวางแผนจะขายกิจการของ Alizay ให้แก่บริษัท Double A Holding Limited ซึ่งเป็นบริษัทแม่ การขายหรือการ Spinoff คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 โดยราคาขายยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท บริษัทคาดว่าจะไม่มีกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญจากการขาย Alizay ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัท Double A Holding Limited เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการซื้อ Alizay ซึ่งน่าจะทำให้ระดับการก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้นหลังการขาย ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทก็จะลดลงหลังจากการโอนส่วนเกินทุนจากการตีมูลค่าสินทรัพย์ของ Alizay ประมาณ 1,400 ล้านบาทออกไป โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 65% จาก 53.6% ณ เดือนมิถุนายน 2560 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 14%-15% หลังจากที่บริษัทไม่ต้องรวมผลการดำเนินงานของ Alizay และแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000-3,500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000-2,500 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 10%-13% และ 5-7 เท่าตามลำดับ โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าบริษัทจะไม่ให้การช่วยเหลือแก่ Alizay ในอนาคต เงินทุนจากการดำเนินที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2,000-2,500 ล้านบาทต่อปีนั้นน่าจะสามารถรองรับเงินลงทุนเพื่อรักษาสภาพสินทรัพย์ถาวรประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีและการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ยืมระยะยาวที่มีกับธนาคารพาณิชย์ที่ประมาณปีละ 600 ล้านบาทได้ทั้งจำนวนในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทจะมีหุ้นกู้มูลค่าจำนวน 2,350 ล้านบาทครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งปกติบริษัทจะทำการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมก่อนที่จะครบกำหนด ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงในการไถ่ถอนหนี้ที่จะครบกำหนดดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นสำหรับอันดับเครดิตในปัจจุบัน แนวโน้มอันดับเครดิตสามารถปรับกลับไปเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากการฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามที่คาดการณ์ไว้และเป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจะได้รับอิทธิพลจากอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันตามเงื่อนไขวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง โดยการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตองค์กรของบริษัทด้วยเช่นกัน
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html