ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการเป็นผู้ประกอบธุรกิจสิ่งพิมพ์รายใหญ่ในประเทศและผลงานที่ยาวนานของบริษัท ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจหลักแม้แนวโน้มการเติบโตจะมีจำกัด รวมทั้งการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากบริษัทย่อยซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่ชะลอตัวลงอย่างมาก รวมทั้งการมีผลงานในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในระยะเวลาที่สั้น ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจพลังงาน และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน
บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกก่อตั้งในปี 2533 เพื่อให้บริการด้านสิ่งพิมพ์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 ณ เดือนตุลาคม 2560 บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 38% ในขณะที่ครอบครัวชินสุภัคกุลซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 17% บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการด้านสิ่งพิมพ์แบบครบวงจรแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ นิตยสาร คู่มือสินค้า หนังสือเรียน ปฏิทิน และสิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณาต่าง ๆ บริษัทได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจังเพื่อชดเชยกับรายได้ที่ลดลงจากธุรกิจสิ่งพิมพ์
อันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจบริการด้านสิ่งพิมพ์ในประเทศโดยพิจารณาจากฐานรายได้และสินค้าที่หลากหลาย ความมีชื่อเสียงและผลงานที่ยาวนานทำให้บริษัทสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับลูกค้าเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของสื่อดิจิทัลทำให้แนวโน้มความต้องการบริการในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ชะลอตัวลงโดยเห็นได้จากรายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัทที่ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับรายได้ 600-650 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2547-2555 ทั้งนี้ ในระยะยาวรายได้จากงานพิมพ์ยังคงมีแนวโน้มที่ลดลง กระนั้นก็ตาม การมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งก็ช่วยให้บริษัทยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ โดยเห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทที่สูงกว่าบริษัทอื่นในธุรกิจเดียวกัน เมื่อพิจารณาเฉพาะธุรกิจสิ่งพิมพ์แล้ว บริษัทยังคงมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) สูงกว่า 10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนจะขยายธุรกิจไปในงานด้านบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงประโยชน์จากการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานด้วย โดยบริษัทได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาตั้งแต่ปี 2555 โดยลงทุนผ่าน บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในบริษัทอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ปในสัดส่วน 75% บริษัทอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ปได้เริ่มดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) จำนวน 2 โครงการแรกในจังหวัดกาญจนบุรีในปี 2555 ด้วยขนาดกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ ต่อมาในปี 2556 บริษัทได้ก่อสร้าง Solar Farm เพิ่มขึ้นอีก 1 โครงการในจังหวัดลพบุรีซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ และในช่วงปี 2557-2558 บริษัทได้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) จำนวน 8 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการโดยมีขนาดกำลังการผลิตรวม 1.5 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โครงการ Solar Farm และ Solar Rooftop ทั้งหมดของบริษัทได้เริ่มดำเนินการแล้วและมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวภายใต้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่น่าพอใจกับผู้รับซื้อไฟฟ้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ในช่วงปี 2558-2559 บริษัทได้ซื้อและพัฒนาโครงการ Solar Farm ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ในจังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 1,030 ล้านบาท โครงการดังกล่าวได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2559 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนในโครงการ Solar Farm สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ในจังหวัดปราจีนบุรีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 268 ล้านบาทด้วย โครงการนี้ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2559
นอกเหนือจากการลงทุนในโครงการ Solar Farm แล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทยังได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโดยการซื้อกิจการของ 2 บริษัทด้วยมูลค่า 3,160 ล้านบาท การลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มขนาดกำลังการผลิตและขยายสัดส่วนการใช้พลังงานชนิดต่าง ๆ ในการผลิตไฟฟ้าของบริษัทลูกคือบริษัทอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป ในการนี้ บริษัทได้ซื้อหุ้น 49.5% ของ บริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC) และ 40% ใน บริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT) ในส่วนของ PPTC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมนั้นได้เริ่มดำเนินการผลิตมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ด้วยขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 120 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ส่วน SSUT นั้นมีโรงไฟฟ้า 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 240 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 60 ตันต่อชั่วโมง ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าของ SSUT ดำเนินการผลิตเต็มกำลังในเดือนธันวาคม 2559 การลงทุนซื้อกิจการเหล่านี้จะเพิ่มผลกำไรให้แก่บริษัทจากการที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้แก่บริษัทได้อีกถึง 155.4 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการลงทุน (หรือ 155.4 MWe) ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นประมาณ 192 MWe
การขยายธุรกิจไปสู่การผลิตไฟฟ้าช่วยทำให้กระแสเงินสดของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือช่วยประกันการเติบโตให้แก่รายได้ของบริษัท รายได้รวมทั้งกลุ่มของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เท่ากับ 498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อยู่ที่ 47.6% เพิ่มขึ้นจาก 39.9% ในปี 2559 โดยที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจโรงพิมพ์ทรงตัวอยู่ในช่วง 18%-22% ในช่วงปี 2557 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2560
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทลดทอนลงบางส่วนจากการที่ตลาดสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ในบริการด้านสิ่งพิมพ์ที่ลดลง อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากการแข่งขันที่รุนแรงจากสื่อดิจิทัลซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลักคือธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัท และแม้บริษัทจะพยายามขยายไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า แต่ผลงานในธุรกิจพลังงานที่ยังมีไม่มากก็มีผลกดดันต่ออันดับเครดิตของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันของบริษัทและโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ในขณะที่การลงทุนจำนวนมากในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมซึ่งผ่านบริษัทอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ปนั้นก็จัดว่ามีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เท่าที่ผ่านมา โรงไฟฟ้า PPTC ก็ถือว่ามีผลการดำเนินงานใน 1 ปีแรกเป็นที่น่าพอใจ ในขณะที่โรงไฟฟ้า SSUT นั้นยังต้องใช้เวลาในการปรับปรุงแก้ไขอยู่
อันดับเครดิตยังลดทอนลงจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานของบริษัทด้วย การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นที่ระดับ 65% ในปี 2559 และ 70.2% ณ เดือนมิถุนายน 2560 เปรียบเทียบกับ 43.7% ในปี 2558 บริษัทยังมีแผนลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นขนาดกำลังการผลิตอีก 25 เมกะวัตต์ด้วยมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,700-3,000 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างในช่วงปี 2561-2562 หากโครงการเริ่มดำเนินการก็จะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงในช่วงการก่อสร้างโครงการ ในระยะสั้นทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังไม่มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าขนาด 25 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว อย่างน้อยจนกว่าบริษัทอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ปจะสามารถระดมทุนเพิ่มได้จากการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering -- IPO)
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงพิมพ์จะยังคงทรงตัวต่อไปถึงแม้ว่าบริษัทจะขยายธุรกิจไปในงานด้านบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มก็ตาม ในอนาคตข้างหน้าสัดส่วนรายได้ของบริษัทครึ่งหนึ่งจะมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าแต่จะสร้างสัดส่วนกำไรที่มากกว่าอย่างชัดเจน สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 950 ล้านบาทต่อปีเป็นอย่างต่ำในช่วงระหว่างปี 2560-2563 กำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากฐานรายได้ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นและรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีความสม่ำเสมอกว่า อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าอยู่ที่ระดับ 45% ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 500-600 ล้านบาทต่อปี โดยทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมได้เป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไปด้วย
ในอนาคตบริษัทคาดว่าจะรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไว้ให้ต่ำกว่า 3 เท่า สภาพคล่องของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายแล้วยังคงอ่อนแอ แต่คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อได้รับผลตอบแทนจากเงินลงทุนกลับมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ ทั้งนี้ ในช่วงปี 2560-2563 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับ 12%-15% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับ 3-5 เท่า และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะอยู่ในช่วง 60%-70% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสิ่งพิมพ์และยังคงสามารถสร้างผลกำไรจากธุรกิจนี้ได้ อีกทั้งบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดในระดับสูงได้อย่างสม่ำเสมอจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศและมีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจโดยที่โครงสร้างเงินทุนจะไม่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
อันดับเครดิตจะปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าด้วยการสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ซับซ้อนขึ้นในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงต่ำกว่า 60% ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตจะปรับลดลงหากบริษัทไม่สามารถรักษาความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักเอาไว้ได้ หรือไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงและทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน อีกทั้งยังทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่า 70% อย่างต่อเนื่อง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html