ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA+” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง การมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ และงบดุลที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนกฎระเบียบที่เข้มงวด และการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
บริษัทไทยเบฟเวอเรจก่อตั้งในปี 2546 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange -- SGX) ในปี 2549 โดยมีตระกูลสิริวัฒนภักดีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ เดือนพฤษภาคม 2560 ในสัดส่วน 68% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในประเทศไทย บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปยังตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยผ่านการควบรวมและซื้อกิจการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการซื้อกิจการของ Fraser and Neave, Ltd. (F&N) ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 28.5% ด้วย ในปี 2560 บริษัทได้เพิ่มตลาดในธุรกิจสุราโดยการถือหุ้น 75% ใน Myanmar Supply Chain and Marketing Services Co., Ltd. (MSC) และ Myanmar Distillery Co., Ltd. (MDC) ซึ่งรวมเรียกว่ากลุ่ม Grand Royal โดยกลุ่ม Grand Royal เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุรารายใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประกาศที่จะซื้อร้าน KFC มากกว่า 240 แห่งในประเทศไทยจาก Yum Restaurants International (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกระแสเงินสดในธุรกิจอาหารและเพิ่มความหลากหลายของแบรนด์ให้แก่บริษัทมากยิ่งขึ้นด้วย
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทมาจากความเป็นผู้นำในธุรกิจแต่ละประเภทในประเทศไทยและการมีกลุ่มสินค้าที่หลากหลายของบริษัท โดยบริษัทครองส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงปริมาณของตลาดสุราสีในประเทศไทย (Off-trade) ประมาณ 95% และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่จำนวน 2 รายของประเทศโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดคงที่ที่ประมาณ 38% ณ เดือนมิถุนายน 2560 หลังจากวางจำหน่ายเบียร์ช้างรูปลักษณ์ใหม่ในช่วงปลายปี 2558 นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายสำคัญในประเทศไทยอีกด้วย นอกจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทยังทำหน้าที่ในการบริหารและดำเนินงานเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งจำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็น และให้บริการจัดส่งอาหารอีกด้วย โดย ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทโออิชิมีเครือข่ายร้านอาหารรวม 242 สาขา ซึ่งครึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาทั้งหมดเป็นร้านชาบูชิ (Shabushi)
ฐานการผลิตของบริษัทในประเทศไทยประกอบด้วย โรงกลั่นสุรา 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง โรงผลิตเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์มากกว่า 10 แห่ง และครัวกลางอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์และโรงกลั่นสุราอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย บริษัทมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางครอบคลุมร้านจำหน่ายมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ การซื้อหุ้นข้างมากในธุรกิจของ F&N ซึ่งมุ่งเน้นตลาดเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ช่วยสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้มีหลากหลาย อีกทั้งยังช่วยขยายตลาดให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะตลาดในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย การรวมธุรกิจกับ F&N จะเป็นการผสานพลังทางธุรกิจ รวมทั้งลดต้นทุน และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการใช้ประโยชน์จากโรงงานผลิตที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้การใช้จ่ายทางการตลาดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดเวลาในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วย
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 บริษัทมีรายได้รวม 142,460 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ที่ลดลงมาจากยอดขายที่ลดลงในประเทศไทยอันเนื่องมาจากการบริโภคสุราและเบียร์ที่ลดลงในห้วงเวลาแห่งการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ธุรกิจสุรายังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรหลักให้แก่บริษัทซึ่งคิดเป็นประมาณ 57% ของรายได้รวม และสร้างกำไรประมาณ 82% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ดีขึ้นเป็น 17.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับ 16.3% ในปีงบประมาณ 2559 โดยอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นนั้นเนื่องมาจากการควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่องรวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท
สถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นซึ่งสะท้อนถึงเงินทุนจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้น ตลอดจนภาระหนี้ที่ลดลง และสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ 23,457 ล้านบาท ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 นั้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 63.1% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) เมื่อเทียบกับระดับ 55.7% ในปี 2558 ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทมีภาระหนี้สินระยะยาวที่ต้องชำระประมาณ 24,903 ล้านบาทและมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 7,457 ล้านบาท สภาพคล่องของบริษัทมีเพียงพอสำหรับภาระหนี้ดังกล่าวโดยบริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3,888 ล้านบาท รวมทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกประมาณ 60,000 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตประมาณ 10% ในปีงบประมาณ 2561 จากการควบรวมกิจการกับร้าน KFC และกลุ่ม Grand Royal ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจจะเติบโตในอัตราปานกลางในปีงบประมาณ 2562 และ 2563 โดยการขึ้นภาษีสรรพาสามิตครั้งล่าสุดจะมีผลกระทบเล็กน้อยในระยะสั้นเนื่องจากภาษีเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17% และคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะเติบโตมากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี
ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 42,360 ล้านบาท ลดลงจากระดับ 46,085 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับดีขึ้นเป็น 24.9% ณ เดือนมิถุนายน 2560 จากระดับ 27.1% ณ เดือนกันยายน 2559 การซื้อกิจการร้าน KFC และกลุ่ม Grand Royal จะมีมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่บริษัทจะใช้เงินกู้ในการซื้อกิจการดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 3 ปีข้างหน้าโดยรวมประมาณ 15,000 ล้านบาทเพื่อใช้ขยายโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 29% ในปีงบประมาณ 2561 และจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงเป็นประมาณ 25% ในปีงบประมาณ 2563
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไปและคงผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่ดีไว้ได้
อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องซึ่งอาจเป็นผลมาจากการทำกำไรที่ถดถอยลงหรือการใช้เงินกู้จำนวนมากเป็นแหล่งเงินทุน ในขณะที่การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตจะเกิดจากการที่บริษัทขยายธุรกิจไปยังตลาดนอกเหนือจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้นและสามารถสร้างรายได้และกำไร ตลอดจนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มมากยิ่งขึ้น
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html