ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A-” จากเดิมที่ระดับ “BBB+” โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงอันดับเครดิตที่ดีขึ้นของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) จึงส่งผลบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ WHA ทั้งนี้อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นยังคงสะท้อนถึงผลงานที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและฐานรายได้ประจำจากธุรกิจการให้บริการสาธารณูปโภคและเงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า อันดับเครดิตได้พิจารณาถึงความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและการฟื้นตัวของความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่เชื่องช้าภายใต้สภาวะการลงทุนที่อาจจะชะลอตัวในระยะสั้น
บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 WHA ได้ซื้อกิจการของบริษัทโดยการทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจในเดือนมีนาคม 2558 และเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2559 WHA ประกอบธุรกิจให้บริการคลังสินค้าให้เช่าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-suit) รวมถึงคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่า และสำนักงานให้เช่า นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) อีกหลายแห่งด้วย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 WHA และบริษัทมีพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานที่มีผู้เช่าภายใต้การบริหารงานรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,536,682 ตารางเมตร (ตร.ม.) พื้นที่ส่วนใหญ่จำนวน 1,160,167 ตร.ม. เป็นพื้นที่เช่าที่เป็นเจ้าของโดยกองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ในขณะที่จำนวน 275,989 ตร.ม. เป็นพื้นที่เช่าของ WHA และจำนวน 100,526 ตร.ม. เป็นพื้นที่เช่าของบริษัท
บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญของ WHA บริษัทประกอบธุรกิจหลัก 2 ธุรกิจคือ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจการให้บริการสาธารณูปโภค โดยมี บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ให้บริการสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ในปี 2558-2559 บริษัทมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของรายได้รวมของ WHA และมีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี (EBIT) คิดเป็นสัดส่วน 70%-75% ของ WHA ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัททั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะผู้บริหารของ WHA
อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากสถานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี ด้วยพื้นที่พร้อมขายรวมทั้งสิ้น 30,877 ไร่ เมื่อพิจารณาจากยอดขายที่ดินรวมในประเทศแล้วถือว่าบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 35% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทที่มีการขายที่ดินได้มากที่สุดคือ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (28%) และบริษัทที่ขายที่ดินได้มากเป็นอันดับสามคือ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (20%) ในขณะที่บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินมียอดขายที่ดินมากที่สุดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 บริษัทมีที่ดินพร้อมสำหรับการขายรวมจำนวน 9,229 ไร่ โดยประมาณ 84% ของที่ดินดังกล่าวมีพื้นที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศในจังหวัดระยองและชลบุรี บริษัทมีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 711 ราย ซึ่ง 33% เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 13% เป็นลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และ 9% อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทได้ขยายการลงทุนสู่ประเทศเวียดนาม นิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของบริษัทในประเทศเวียดนามคือ WHA Hemraj Industrial Zone ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศในเมือง Nam Cam ในจังหวัด Nghe An บริษัทได้รับใบอนุญาตลงทุนจากรัฐบาลเวียดนามให้เช่าที่ดินขนาด 498 เฮกตาร์ (หรือ 3,100 ไร่) ระยะเวลา 50 ปี การพัฒนาที่ดินในเบื้องต้นจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการรอรับมอบที่ดินจากรัฐบาลเวียดนาม โดยบริษัทคาดว่าจะเริ่มพัฒนาที่ดินดังกล่าวได้ในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งงบประมาณสำหรับการลงทุนในพื้นที่ 3,100 ไร่จะอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท
บริษัทมีรายได้ประจำจากธุรกิจการให้บริการสาธารณูปโภคและรายได้ค่าเช่า โดยรายได้จาก 2 แหล่งนี้คิดเป็น 30%-40% ของรายได้รวมของบริษัท แม้ว่าสภาวะการลงทุนโดยภาคเอกชนจะซบเซา แต่รายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภคยังคงเพิ่มขึ้น บริษัทมีรายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1,549 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าเช่าลดลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เนื่องจากบริษัทขายสินทรัพย์ให้เช่าจำนวนมากให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) ในช่วงปลายปี 2559 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวส่งผลให้พื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ทำให้บริษัทมีรายได้ค่าเช่าอยู่ที่ 316 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ลดลงจาก 619 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นอกเหนือจากรายได้ประจำจากการให้บริการสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังได้รับเงินปันผลจำนวนมากจากการลงทุนในโรงไฟฟ้า รวมทั้งจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และ HREIT ด้วย บริษัทถือหุ้นในโรงไฟฟ้าหลายแห่งในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 850-1200 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 10%-26% ของ EBITDA ในปี 2557-2559 เงินปันผลรับคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อโรงไฟฟ้าหลายแห่งเริ่มทยอยดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2560-2562 ในปัจจุบันกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทรวมอยู่ที่ 447 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 542 เมกะวัตต์ในปี 2562 ทั้งนี้ เงินปันผลรับจะเติบโตอยู่ที่ระดับประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปีเมื่อโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่บริษัทลงทุนดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ครบทุกหน่วยตามแผนงาน
ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและสภาวะการลงทุน ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลลบต่อการลงทุนและยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่ที่ระดับเฉลี่ยที่ 1,442 ไร่ในปี 2559 และ 759 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เทียบกับยอดขายประมาณ 4,000 ไร่ต่อปีในอดีต ในทิศทางเดียวกัน ยอดขายของบริษัทลดลงเหลือ 835 ไร่ในปี 2559 และอยู่ที่ 722 ไร่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับระดับ 1,500-2,300 ไร่ต่อปีในช่วงปี 2554-2556
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากสาเหตุหลักคือยอดโอนที่ดินที่เพิ่มขึ้นมากเนื่องจากมียอดขายที่ดินรอโอนจำนวนมากที่ยกมาจากปี 2559 รายได้จากการโอนที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 785 ล้านบาทมาอยู่ที่ระดับ 2,215 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 EBITDA เพิ่มขึ้น 62.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 4,231 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ในขณะเดียวกันเงินทุนจากการดำเนินงานก็เพิ่มขึ้น 42.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1,929 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560
ภายหลังจากการรวมกิจการกับ WHA ระดับหนี้สินของบริษัทก็เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทมีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 14,947 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 25,668 ล้านบาทในปี 2559 แม้บริษัทจะได้ขายสินทรัพย์ให้เช่าจำนวนมากให้แก่กองทุน REIT ในช่วงปลายปี 2559 ก็ตาม ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทย่อยแห่งหนึ่งของบริษัทได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและปล่อยกู้ให้แก่ WHA จำนวนประมาณ 17,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 58.4% ณ สิ้นปี 2559 จากประมาณ 50% ในช่วงปี 2554-2558 แต่งบดุลและกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 จากความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน (Initial Public Offering -- IPO) ของบริษัทย่อยคือ WHAUP ในช่วงต้นปี 2560 ทำให้เงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 18,636 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 ลดลงจากระดับ 25,668 ล้านบาทในปี 2559 อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4.9 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 3.4 เท่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นของเงินทุนจากการดำเนินงานและการลดลงของเงินกู้ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 33.9% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 21%-22% ในปี 2557-2559
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าในปี 2560-2562 รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปีและเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโต บริษัทและบริษัทย่อยมีแผนการลงทุนจำนวนมากโดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินในประเทศไทยรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจการให้บริการสาธารณูปโภคและโรงไฟฟ้า จากระดับเงินลงทุนตามแผนงานของบริษัทและการจ่ายเงินปันผล 100% ของกำไรสุทธิคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 45% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมในระดับ 15%-20% ในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต่อไปได้ รายได้ประจำจำนวนมากจากธุรกิจการให้บริการสาธารณูปโภครวมทั้งเงินปันผลจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่บริษัท และเนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ WHA อันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับสถานะอันดับเครดิตของ WHA เป็นสำคัญ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ WHA จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (HEMRAJ)
อันดับเครดิตองค์กร A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
HEMRAJ217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
HEMRAJ222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
HEMRAJ231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
HEMRAJ244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
HEMRAJ252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable