สถาบันจัดอันดับเครดิต 6 แห่ง และ ก.ล.ต. จาก 4 ประเทศอาเซียนจัดประชุมประจำปีที่กรุงเทพฯ เพื่อหาแนวทางร่วมมือพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภูมิภาค ก.ล.ต. อาเซียนฝากความหวังให้สถาบันจัดอันดับเครดิตให้ความรู้แก่นักลงทุน และเน้นการวิเคราะห์ธรรมาภิบาลบริษัทลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ดร. วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) กล่าวในฐานะที่ทริสเป็นเลขาธิการจัดการประชุมประจำปี 2543 ของสมาคมสถาบันจัดอันดับเครดิตอาเซียนหรืออาฟครา (ASEAN Forum of Credit Rating Agencies-AFCRA) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2543 ว่า ปีนี้อาฟคราได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการจัดอันดับเครดิต หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จากประเทศสมาชิกทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ Capital Market Supervisory Agency (BAPEPAM) จากประเทศอินโดนีเซีย Securities Commission Malaysia จากประเทศมาเลเซีย และ Securities and Exchange Commission จากประเทศฟิลิปปินส์และไทย เพื่อร่วมประชุมหารือและแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคอาเซียนกับสมาชิกอาฟคราซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิต 6 แห่ง จาก 4 ประเทศ ได้แก่ Rating Agency Malaysia Berhad (RAM), Malaysian Rating Corporation Berhad (MARC), Philippine Rating Services Corporation (PhilRatings), PT Kasnic Duff & Phelps Credit Rating Indonesia (DCR-Indonesia), PT Pefindo Credit Rating Indonesia Ltd. (PEFINDO) และทริส
ทั้งนี้ ดร. วรภัทรกล่าวถึงผลของการประชุมว่า หน่วยงานกำกับดูแลได้ให้ข้อเสนอแนะหลายประการแก่สถาบันจัดอันดับเครดิตภูมิภาคในการให้ความร่วมมือแก่ภาครัฐในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลการจัดอันดับเครดิตแก่นักลงทุนให้มากขึ้น โดยต้องเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตจะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องการจัดอันดับเครดิตแก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป รวมทั้งปรับปรุงพัฒนากระบวนการและหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดและความต้องการของนักลงทุน นอกจากนี้ ก.ล.ต. จาก 4 ประเทศยังหวังให้สมาชิกอาฟคราเคร่งครัดกับมาตรฐานสูงสุดในวิชาชีพ มีความเป็นอิสระทางความคิด และพึ่งพาตนเองได้ในเชิงเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจะให้การสนับสนุนสถาบันจัดอันดับเครดิตอย่างต่อเนื่องต่อไป
ดร. วรภัทรกล่าวว่า ในหลายประเด็นที่เป็นความคาดหวังจาก ก.ล.ต. อาเซียนนั้น สมาชิกอาฟคราหลายแห่งได้ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว อาทิ การพัฒนาบริการประเภทใหม่ๆ และการปรับปรุงพัฒนากระบวนการและหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่สมาชิกอาฟคราต่างเห็นชอบกับ ก.ล.ต. ในการให้ความสำคัญกับแนวทางการกำกับดูแลที่ดี หรือธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) ของบริษัทลูกค้า เพื่อส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ทริสเองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากว่า 3 ปีแล้ว
นอกจากนี้ นายซานติอาโก ดัมเลา กรรมการผู้จัดการของ PhilRatings ได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลให้การสนับสนุนสถาบันจัดอันดับเครดิตของแต่ละประเทศเนื่องจากการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของภูมิภาคอาเซียนยังคงต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแล ในประเด็นดังกล่าว ก.ล.ต. อาเซียนเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่ ก.ล.ต. จะต้องให้การสนับสนุนสถาบันจัดอันดับเครดิตของแต่ละประเทศต่อไป ทว่าในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์นั้น สถาบันจัดอันดับเครดิตจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสถาบันจัดอันดับเครดิตสากล รวมทั้งเพื่อให้บรรลุความคาดหวังของนักลงทุนด้วยเช่นกัน
ดร. วรภัทรยังได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสมาชิอาฟคราด้วยว่า สมาชิกได้มีมติที่จะพัฒนา Website ของอาฟครา รวมทั้งได้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของสมาคมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด และกำหนดโครงการพัฒนาทักษะบุคลากรของสมาชิก โดยทริสจะเป็นเจ้าภาพจัดอบรมทักษะนักวิเคราะห์อาฟคราเรื่อง Project Finance Rating ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า - จบ