นักลงทุนไทยและผู้ออกตราสารหนี้เข้าร่วมงานสัมมนาที่จัดโดยสถาบันจัดอันดับเครดิต 2 แห่งวันนี้ที่โรงแรม แกรนด์
ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังมุมมองของผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเกี่ยวกับแนวโน้มเครดิตในภูมิภาคอาเซียน
การสัมมนาในหัวข้อ “Credit Spotlight on Thailand: The Link to Continental Southeast Asia” จัดโดยสถาบัน
จัดอันดับเครดิตไทย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ร่วมกับ S&P Global Ratings โดยมี ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติแสดงปาฐกถาพิเศษ
นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ ทริสเรทติ้ง กล่าวว่าตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความเป็นไปได้สูงที่จะแซงตลาดสินเชื่อในภาคธนาคารในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
“ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวมาโดยตลอดในอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ประมาณ 15% ต่อปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาดสินเชื่อภาคธนาคารพาณิชย์สำหรับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่แทบจะไม่มีการเติบโต ในช่วง 5 ปีหลังนี้” นายศักดิ์ดากล่าว
“การเติบโตอย่างต่อเนื่องดังกล่าวเมื่อบวกกับความสนใจของผู้ออกตราสารรายใหม่แล้วแสดงให้เห็นว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยอาจมีขนาดแซงตลาดสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจกลาง ใหญ่ ในภาคธนาคารพาณิชย์ในที่สุด”
ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดสินเชื่อในภาคธนาคารพาณิชย์ของไทยซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3.5 ล้านล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน (ไม่รวมสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และสินเชื่อรายย่อย)
นายศักดิ์ดายังกล่าวด้วยว่าการซื้อกิจการที่เกิดขึ้นในบางอุตสาหกรรม ถือว่าเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญที่ทำให้มีการออกตราสารหนี้กันมากในหมู่ผู้ประกอบการไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มอนาคตของตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2561 นั้น นายศักดิ์ดากล่าวว่า “ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะโดดเด่นที่สุดในปี 2561 โดยจะเทียบเคียงได้กับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลยทีเดียว นอกจากนี้ ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวนมากในปีนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะผลักดันให้มีการออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อทดแทนตราสารหนี้ที่หมดอายุ”
Ivan Tan นักวิเคราะห์จาก S&P Global Ratings กล่าวถึงรายงานที่เผยแพร่เกี่ยวกับภาคธนาคารพาณิชย์ไทยล่าสุดโดยมีความเห็นว่า “ถึงแม้ว่าการเติบโตของผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีข้อจำกัดจากต้นทุนด้านเครดิตที่สูง แต่คาดว่าธนาคารจะมีผลกำไรดีขึ้นจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ S&P Global Ratings ประเมินว่าน่าจะอยู่ในระดับ 7% ในปี 2561 นี้ ทั้งนี้ พัฒนาการของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยเริ่มเป็นไปในทิศทางด้านบวกและน่าจะเป็นสัญญาณว่าวงจรขาลงจะสิ้นสุดลง โดยปี 2561 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในทางบวกได้หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง”
การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สถาบันจัดอันดับเครดิตทั้ง 2 แห่งร่วมกันเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่ S&P Global Ratings เข้าถือหุ้น 49% ในบริษัททริสเรทติ้ง ซึ่งจะเป็นเวทีให้นักวิเคราะห์และนักวิจัยของสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้ง 2 แห่งได้ถ่ายทอดมุมมองด้านเศรษฐกิจและเครดิต