ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” พร้อมคงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทที่ “Negative” หรือ “ลบ” ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2,350 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB-” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้คืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
อันดับเครดิต “BBB-” สะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งของขีดความสามารถในการแข่งขันและตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ “ดั๊บเบิ้ล เอ” อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่ผันผวนของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อุปสงค์ของกระดาษในระดับโลกที่ชะลอตัวจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปนิยมใช้สื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น รวมถึงธุรกรรมบางรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การดำเนินงานแบบครบวงจรช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งและสถานะการเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทยเอาไว้ได้ โดยการดำเนินงานของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและโรงงานผลิตกระดาษแบบครบวงจรทำให้เกิดการผสานพลัง (Synergy) และช่วยควบคุมต้นทุน ทั้งนี้ เยื่อกระดาษเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระดาษ (50%) จากความที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้ราคาเยื่อกระดาษมีความผันผวนสูง ดังนั้น ผู้ผลิตกระดาษที่มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษของตนเองจะได้เปรียบในด้านต้นทุน บริษัทมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษของตนเองผสานเข้ากับโรงงานผลิตกระดาษ โดยบริษัทใช้เยื่อกระดาษเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษของตนเอง
ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
บริษัทยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากประมาณ 70% ของยอดขายมาจากตลาดต่างประเทศ โดยในการส่งออกบริษัทขายผลิตภัณฑ์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสกุลเงินท้องถิ่น ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของต้นทุนเป็นเงินบาท การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วจึงอาจทำให้กำไรของบริษัทอ่อนแอลงได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเอาไว้ด้วย แต่กระนั้นบริษัทก็ยังอาจเผชิญกับกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ทั้งนี้ บริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 403 ล้านบาทในปี 2559 ขณะที่มีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนประมาณ 400 ล้านบาทในปี 2560 และ 85 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561
การปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท
ทริสเรทติ้งมองการขายโรงงานผลิตกระดาษอะลิเซ่ (อะลิเซ่) เป็นการจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัท โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 บริษัทได้ขายอะลิเซ่ให้แก่ Double A Holding Limited (DAH) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม DA โดยทั้ง DA และ DAH มีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน คือ คุณโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์และบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2556 บริษัทใช้เงินประมาณ 35 ล้านเหรียญยูโรหรือเทียบเท่า 1,400 ล้านบาทเพื่อซื้อและทำให้โรงงานผลิตกระดาษอะลิเซ่ในฝรั่งเศสกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง ซึ่งโรงงานผลิตกระดาษดังกล่าวหยุดดำเนินงานไปในปี 2553 ทั้งนี้ อะลิเซ่ประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มกลับมาดำเนินงาน โดยมีผลขาดทุนรวมประมาณ 3,000 ล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 อะลิเซ่ทำตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาเหนือ แต่ตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ “ดั๊บเบิ้ล เอ” ในตลาดดังกล่าวไม่ได้แข็งแรงเหมือนเช่นในตลาดเอเชีย นอกจากนั้น ความต้องการกระดาษในประเทศพัฒนาแล้วยังลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปนิยมใช้สื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ทางการตลาดที่ไม่เป็นใจบีบบังคับให้อะลิเซ่ต้องผลิตและขายสินค้าที่มีกำไรต่ำ ขณะเดียวกัน อะลิเซ่ก็มีต้นทุนการผลิตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับโรงงานผลิตกระดาษอื่น ๆ ของบริษัทเนื่องจากไม่ได้มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะขาดทุนต่อเนื่อง แต่ผลการดำเนินงานของอะลิเซ่ก็ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากแผนปรับปรุงการดำเนินงานของบริษัท
แม้อะลิเซ่จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแล้วจากการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท แต่อะลิเซ่และบริษัทยังคงอยู่ภายใต้ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันซึ่งทำให้เกิดความกังวลต่อธุรกรรมบางรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องในอนาคต ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างบริษัทซึ่งเป็นผู้ขายและ DAH ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ระบุไว้ว่าบริษัทจะไม่เข้าไปให้การช่วยเหลือ และ/หรือ ดำเนินการใด ๆ ที่อาจเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อะลิเซ่
?
การขายอะลิเซ่ทำให้บริษัทมีต้นทุนสุทธิ 339 ล้านบาท โดยบริษัทรับเงินจากการขาย 2,687 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทจ่ายเงินปันผล 3,026 ล้านบาทให้แก่ DAH เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับซื้ออะลิเซ่ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัททำให้สินทรัพย์และส่วนทุนของบริษัทลดต่ำลง
ความสามารถในการทำกำไรจะยังคงปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าการปรับตัวของกำไรที่ดีขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไปจากแผนปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัท โดยในปี 2559 บริษัทได้เริ่มนำแผนปรับปรุงการดำเนินงานมาใช้ ซึ่งแผนดังกล่าวประกอบไปด้วยการปรับเปลี่ยนส่วนผสมผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ซึ่งแผนดังกล่าวทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 9.7% ในปี 2560 จากระดับต่ำสุดที่ 3.4% ในปี 2558
ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้ง อัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 13% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่า 10% ในช่วงปี 2557-2560 เงินทุนจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี จาก 700-2,200 ล้านบาทในช่วงปี 2557-2560
ทั้งนี้ การขายโรงงานผลิตกระดาษอะลิเซ่ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 17.2% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 โดยผู้สอบบัญชีได้ย้ายผลการดำเนินงานของอะลิเซ่มาไว้ในส่วนของการดำเนินงานที่ยกเลิก อย่างไรก็ตาม แม้รวมอะลิเซ่กลับไปด้วย อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก็ยังคงปรับตัวดีขึ้นโดยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 จากระดับต่ำกว่า 10% ในช่วงปี 2557-2560
โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงหลังการขายอะลิเซ่
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอ่อนแอลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการปรับโครงสร้างกลุ่มของบริษัททำให้ส่วนทุนของบริษัทลดต่ำลง เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้น บริษัทจึงอาจมีการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงปี 2561-2563 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะเพิ่มขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่า 65% ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 59.8% ณ เดือนมีนาคม 2561
ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้ง กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ระหว่าง 12%-15% เพิ่มขึ้นจาก 3%-11% ในช่วงปี 2557-2560 ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีล่าสุด
สภาพคล่องน่าจะควบคุมได้
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 9 เดือนสุดท้ายของปี 2561 ประมาณ 2,700 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 2,200 ล้านบาทเป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นทุนหมุนเวียน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้มูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาท อีกทั้งยังมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอีกประมาณ 800 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทจะมีแหล่งเงินสดรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับหนี้ที่จะครบกำหนดดังกล่าวได้ทั้งจำนวน ลูกหนี้การค้ามูลค่าเกือบ 4,300 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 ก็อาจใช้เป็นแหล่งเงินสดได้อีกทางหนึ่ง บริษัทไม่มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้แล้วแต่ในปี 2562 บริษัทวางแผนที่จะใช้คืนหุ้นกู้จำนวน 2,350 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ด้วยหุ้นกู้ชุดใหม่ ทั้งนี้ เงินทุนจากดำเนินงานตามประมาณการจะอยู่ที่ปีละประมาณ 2,500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าว และบริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงปี 2561-2563
หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินในส่วนของอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าว ณ เดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ 1.4 เท่า จึงถือว่าบริษัทปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดดังกล่าวตลอดช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าได้
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ความเป็นไปได้ในการช่วยเหลืออะลิเซ่ในอนาคตยังคงเป็นปัจจัยกังวล
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html