Rating Methodology "อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 5, 2018 10:30 —ทริส เรตติ้ง

บทความนี้ระบุอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและนิยามของคำศัพท์ทางการเงินที่สำคัญที่ทริสเรทติ้งใช้อ้างอิงในการวิเคราะห์อันดับเครดิตของบริษัทต่าง ๆ นอกจากนี้ บทความนี้ยังอธิบายถึงเกณฑ์ในการปรับปรุงตัวเลขทางบัญชีที่แสดงในงบการเงินของบริษัทเหล่านี้เอาไว้ด้วย

การปรับปรุงตัวเลขดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการประเมินบริษัทโดยทั่วไปมีความสอดคล้องกันและสามารถเปรียบเทียบกันได้ ทั้งนี้ การปรับปรุงจะครอบคลุมรายการหลัก ๆ ที่มีผลกระทบต่อการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและสะท้อนถึงสถานภาพทางการเงินที่แท้จริงของบริษัทนั้น ๆ ได้ดีขึ้นด้วย

อัตราส่วนทางการเงินและวิธีการปรับปรุงตัวเลขทางบัญชีนี้ใช้สำหรับลูกค้าที่เป็นบริษัททั่วไป (อาจมีข้อยกเว้นสำหรับบางอุตสาหกรรมหรือบางบริษัท) แต่ไม่รวมถึงสถาบันการเงิน บริษัทที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่มิใช่ธนาคาร บริษัทโครงการ (Project Finance Companies) หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle – SPV)

I. อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ

อัตราส่วนทางการเงินสำคัญ ๆ ที่ทริสเรทติ้งใช้ในกระบวนการจัดอันดับเครดิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักคือ อัตราส่วนที่แสดงความสามารถในการทำกำไร (Profitability) อัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage) และอัตราส่วนที่แสดงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Efficiency)

1. อัตราส่วนที่แสดงความสามารถในการทำกำไร (Profitability Ratio) ประกอบด้วยอัตราส่วนหลักได้แก่ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อรายได้ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวร นอกจากนี้ ส่วนอัตราส่วนเสริมยังประกอบด้วย อัตรากำไรเบื้องต้นต่อรายได้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนทุน

2. อัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage Ratio) ประกอบด้วยอัตราส่วนหลักได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อแหล่งเงินทุน อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย รวมถึงอัตราส่วนที่แสดงถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ย เช่น อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่าย ตลอดจนอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย ในขณะที่อัตราส่วนเสริมได้แก่ อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุนต่อหนี้สินทางการเงิน อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุน และหลังจากจ่ายเงินปันผลต่อหนี้สินทางการเงิน

3. อัตราส่วนที่แสดงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Efficiency Ratio) มีอัตราส่วนที่สำคัญได้แก่ ระยะเวลาเก็บหนี้ ระยะเวลาถือสินค้าคงคลัง ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า และวงจรเงินสด ในขณะที่อัตราส่วนเสริมได้แก่ อัตราส่วนหมุนเวียน อัตราส่วนหมุนเวียนเร็ว อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม และอัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร

รายละเอียดเกี่ยวกับสูตรการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญแสดงอยู่ในภาคผนวก

II. คำจำกัดความของตัวเลขทางการเงิน

ทริสเรทติ้งมีการกำหนดคำจำกัดความของตัวเลขทางการเงินที่ใช้ในอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญบ่อย ๆ ซึ่งคำจำกัดความดังกล่าวอาจแตกต่างจากคำจำกัดความที่ใช้โดยทั่วไป ตัวเลขทางการเงินดังกล่าวส่วนใหญ่จะได้มาจากการคำนวณตัวเลขของรายการทางบัญชีในงบดุล งบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสด

งบดุล (Balance Sheet):

หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว (Adjusted Debt) ทริสเรทติ้งใช้ตัวเลขหนี้สินทางการเงินที่รายงานในงบดุลของบริษัทนั้น ๆ รวมถึงภาระผูกพันที่มีลักษณะคล้ายหนี้สินทางการเงินที่อาจจะแสดงหรือไม่แสดงในงบดุลของบริษัท เพื่อแสดงถึงภาระหนี้สินทางการเงินโดยรวมของบริษัท หลังจากนั้น ภาระหนี้สินทางการเงินโดยรวมดังกล่าวจะหักด้วยงินสดส่วนเกินแล้วจึงออกมาเป็นตัวเลขหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วที่ทริสเรทติ้งใช้ในการคำนวณอัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้

ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรับปรุงแล้ว (Adjusted Equity) ทริสเรทติ้งมีการปรับปรุงส่วนของทุนที่รายงานในงบดุลด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สะท้อนส่วนของทุนในตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หุ้นบุริมสิทธิ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ

เงินทุน (Capitalization) ทริสเรทติ้งกำหนดนิยามของเงินทุนให้เทียบเท่ากับผลรวมของหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วและส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรับปรุงแล้ว

เงินสดส่วนเกิน (Excess Cash) เงินสดส่วนเกินหมายถึง เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมถึงเงินลงทุนชั่วคราว อย่างไรก็ดี ในส่วนของเงินลงทุนชั่วคราวนั้น ทริสเรทติ้งมีการคิดลดมูลค่าลงอย่างน้อย 25% ก่อนจะหักมูลค่าของเงินลงทุนชั่วคราวออกจากหนี้สินทางการเงินรวม โดยมูลค่าเงินลงทุนชั่วคราวที่ลดลงสะท้อนถึงระยะวลาที่ต้องใช้ในการขายเงินลงทุนนั้น รวมถึงโอกาสที่บริษัทจะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวนจากการขายเงินลงทุนในเวลาที่ต้องการ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังหักเงินลงทุนชั่วคราวในตราสารทุนทั้งหมดออกจากการคำนวณเงินสดส่วนเกินด้วย

เงินทุนถาวร (Permanent Capital) ทริสเรทติ้งกำหนดนิยามของเงินทุนถาวรให้เทียบเท่ากับผลรวมของส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรับปรุงแล้วและหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วก่อนหักด้วยเงินสดส่วนเกิน

งบกำไรขาดทุน (Income Statement):

กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) กำไรจากการดำเนินงาน เท่ากับรายได้จากการดำเนินงานรวมหักออกด้วยต้นทุนดำเนินงานรวม และหักออกด้วยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Operating Income) กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หมายถึง กำไรจากการดำเนินงานบวกกลับด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย

กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (Earnings before Interest and Taxes) กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี หมายถึง กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งรวมรายได้และหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นประจำและรายการปรับปรุงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างของรายได้และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นประจำ ได้แก่ ดอกเบี้ยรับ เงินปันผลรับ ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย หรือกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ฯลฯ

กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Earnings before Interest, Taxes, Depreciation, and Amortization) กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย เทียบเท่ากับ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีบวกกลับด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หักส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย และบวกด้วยเงินปันผลรับจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย และปรับปรุงด้วยรายการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

ดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับปรุงแล้ว (Adjusted Interest Expense) ทริสเรทติ้งรวมค่าใช้จ่ายหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับภาระหนี้สินทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฎในงบดุลให้เป็นดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการออกหุ้นกู้ ดอกเบี้ยที่บันทึกเป็นต้นทุนสินทรัพย์ ส่วนของดอกเบี้ยในค่าเช่าตามสัญญาเช่าดำเนินงาน ส่วนของดอกเบี้ยในตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หุ้นกู้แปลงสภาพ และหุ้นบุริมสิทธิ รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดจากประมาณการหนี้สินค่ารื้อถอนสินทรัพย์ และดอกเบี้ยที่เกิดจากประมาณการหนี้สินผลประโยชน์พนักงานภายหลังการเลิกจ้าง

งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement):

เงินทุนจากการดำเนินงาน (Funds from Operations -- FFO) ก่อนหน้านี้ ทริสเรทติ้งกำหนดให้เงินทุนจากการดำเนินงานมาจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน อย่างไรก็ดี เนื่องจากวิธีรายงานตัวเลขกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานในงบกระแสเงินสดยังคงมีความแตกต่างกัน จึงทำให้การวัดค่าตามคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้นไม่สอดคล้องกันในแต่ละบริษัท ดังนั้น ในบทความนี้ ทริสเรทติ้งจึงกำหนดให้เงินทุนจากการดำเนินงานเทียบเท่ากับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หักดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับปรุงแล้ว และหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ในงบกำไรขาดทุน โดยคำนิยามใหม่นี้จะมีการปรับปรุงตัวเลขตามวิธีที่ใช้ในการคำนวณกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หักดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งจะรวมรายการปรับปรุงทั้งที่เป็นเงินสด และไม่ใช่เงินสด

เงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operations) หมายถึง กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานซึ่งปรับปรุงด้วยเงินปันผลรับและเงินสดรับ (จ่าย) ดอกเบี้ย ไม่ว่าบริษัทจะมีการรายงานรายการดังกล่าวว่าเป็นกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน หรือกระแสเงินสดจากกิจกรรมหาเงินก็ตาม

เงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุน (Free Operating Cash Flow) หมายถึง เงินสดจากการดำเนินงานที่หักด้วยเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

เงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุน และหลังจากจ่ายเงินปันผล (Discretionary Cash Flow) หมายถึง เงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุนที่หักด้วยเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน

III. การปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน

โดยทั่วไป ทริสเรทติ้งจะมีการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับทุกบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ดี ในบางกรณี ข้อจำกัดทางด้านข้อมูลอาจทำให้การปรับปรุงตัวเลขดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน ได้แก่

• สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Leases) โดยทั่วไปสัญญาเช่าดำเนินงานจะมีการรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีในงบกำไรขาดทุน อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมองว่าสัญญาเช่าดำเนินงานถือเป็นภาระผูกพันทางการเงิน ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงรวมสัญญาเช่าดำเนินงานให้เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินทางการเงิน

ในการปรับปรุงตัวเลขดังกล่าว ทริสเรทติ้งจะรวมมูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันขั้นต่ำตามสัญญาเช่าดำเนินงานเข้ากับหนี้สินรวม โดยในการหามูลค่าปัจจุบันสุทธิจะใช้อัตราคิดลดที่ 7% (จากเดิมที่ 10%) โดยทั่วไปในหมายเหตุประกอบงบการเงินจะเปิดเผยภาระผูกพันในการจ่ายค่าเช่าประจำปีภายใน ปีแรก ค่าเช่ารวมในปีที่ 2 จนถึงปีที่ 5 และค่าเช่ารวมที่เหลือหลังจากปีที่ 5 ในกรณีที่ไม่มีรายละเอียดการจ่ายค่าเช่ารายปี

ทริสเรทติ้งจะกำหนดให้ค่าเช่าปีที่ 2-5 เป็นจำนวนคงที่เท่า ๆ กัน ส่วนในปีที่ 6 เป็นต้นไปจะให้จ่ายชำระเท่ากับปีที่ 5

นอกจากนี้ ค่าเช่าที่จ่ายรายปีภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงานจะแบ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา โดยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะคำนวณได้จากการใช้อัตราคิดลด 7% คูณด้วยค่าเฉลี่ยของมูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันตามสัญญาเช่าดำเนินงานในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้า และค่าเสื่อมราคาจะเท่ากับค่าเช่าส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ดังนั้น ในการคำนวณกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี

ทริสเรทติ้งจะบวกกลับด้วยส่วนของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่อยู่ในค่าเช่าจ่ายรายปีภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน ในส่วนของเงินทุนจากการดำเนินงานก็จะบวกกลับด้วยส่วนของค่าเสื่อมราคาที่อยู่ในค่าเช่าจ่ายรายปีภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน และในการคำนวณกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายก็จะบวกกลับด้วยค่าเช่าจ่ายรายปีภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน

• การค้ำประกัน (Guarantees) ในกรณีที่บริษัททำการค้ำประกันหนี้ทางการเงินให้แก่บริษัทอื่น ทริสเรทติ้งอาจจะรวมหนี้ที่เกิดจากการ

ค้ำประกันนั้นในหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัท หากหนี้สินดังกล่าวไม่ได้รวมอยู่ในงบการเงินรวมของบริษัท อย่างไรก็ดี เราไม่ถือว่าดอกเบี้ยจ่ายของหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของบริษัท

• หนี้สินของบริษัทร่วม/กิจการร่วมค้าที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย (Non-recourse Debt of Affiliates/Joint Ventures) โดยทั่วไป ในกรณีที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย บริษัทไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องชดใช้หนี้สินแทนบริษัทร่วมหรือกิจการร่วมค้าที่มีปัญหาทางการเงิน ในทางบัญชีหนี้ของบริษัทร่วม/กิจการร่วมค้าก็มักจะไม่ปรากฏในงบการเงินรวมของบริษัท อย่างไรก็ดี หากเราเชื่อว่าบริษัทมีโอกาสที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กิจการดังกล่าวในกรณีที่ประสบปัญหาทางการเงินเพื่อรักษาชื่อเสียงของบริษัท เราจะรวมหนี้ทางการเงินของกิจการดังกล่าวเป็นหนี้ของบริษัท โดยการนับรวมหนี้ดังกล่าวจะคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในกิจการดังกล่าว แต่ในกรณีที่เราคาดว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นในบริษัทร่วม/กิจการร่วมค้าอาจจะไม่มีความสามารถในการช่วยชำระหนี้ตามสัดส่วนได้ เราอาจรวมหนี้สินดังกล่าวทั้งจำนวนเข้ามาเป็นหนี้ของบริษัท

• ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities) ตามมาตรฐานทางบัญชีจะมีการบันทึกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนให้เป็นส่วนของทุน แต่ในมุมมองของ

ทริสเรทติ้งตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนจะมีคุณสมบัติทั้งเป็นส่วนของหนี้และเป็นส่วนของทุน ดังนั้น ในการนับว่าตราสารดังกล่าวเป็นหนี้หรือทุนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนทุนที่ทริสเรทติ้งกำหนดให้แก่ตราสารดังกล่าว โดยภายใต้เกณฑ์ของทริสเรทติ้ง สัดส่วนของทุนที่กำหนดให้จะมี 3 ระดับ คือ “สูง” “ปานกลาง” และ “น้อย”

ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีระดับความเป็นทุน “สูง” (นับเป็นทุน 100%) จะนับให้เป็นส่วนทุนทั้งหมด และผลตอบแทนที่จ่ายจะนับเป็นเสมือนเงินปันผล ส่วนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีระดับความเป็นทุน “ปานกลาง” (นับเป็นทุน 50%) จะนับให้เป็นส่วนทุนเพียง 50% ของมูลค่าตราสารที่ออก และส่วนที่เหลืออีก 50% จะนับเป็นหนี้ โดยผลตอบแทนที่จ่ายครึ่งหนึ่งจะนับเป็นเงินปันผลจ่าย อีกครึ่งหนึ่งจะถือเป็นดอกเบี้ยจ่าย สำหรับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีระดับความเป็นทุน “น้อย” (นับเป็นทุน 0%) จะถือเป็นหนี้ทั้งจำนวน และผลตอบแทนที่จ่ายจะนับเป็นดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งกำหนดให้สามารถนับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็นส่วนของทุนได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของส่วนทุนของบริษัท (ที่ไม่นับรวมส่วนทุนของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน)

• ดอกเบี้ยค้างจ่าย และเงินปันผลของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนค้างจ่าย (Accrued Interest on Debt and Accrued Dividends on Hybrid Securities) ดอกเบี้ยค้างจ่าย และเงินปันผลของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนค้างจ่ายจะนับรวมเป็นหนี้

• หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Shares) หุ้นบุริมสิทธิจะถือเป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนประเภทหนึ่ง และจะนับให้เป็นหนี้หรือเป็นตามสัดส่วนของทุนที่ทริสเรทติ้งกำหนดให้

• ประมาณการหนี้สินค่ารื้อถอนสุทธิ (Net Asset Retirement Obligations) สำหรับบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ และอุตสาหกรรมไฟฟ้า บริษัทที่ทำธุรกิจดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้าย รื้อถอนอุปกรณ์ หรือปรับปรุงสภาพพื้นที่ภายหลังจากหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถูกบันทึกเป็นประมาณการหนี้สิน (ก่อนหักค่าใช้จ่ายทางภาษี) ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซ หรือกระแสเงินสดที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดังกล่าว ทริสเรทติ้งจะนับให้ภาระหนี้สินค่ารื้อถอน (หลังหักผลประโยขน์ทางภาษีและสินทรัพย์ที่มีการตั้งสำรองไว้เผื่อค่าใช้จ่ายดังกล่าว) ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินทางการเงินของบริษัท โดยภาระดังกล่าวจะเพิ่มตามเวลาที่เพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนถึงมูลค่าของเงินที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

• ค่าใช้จ่ายในการออกหุ้นกู้ (ที่ปรากฏในงบดุล) (Debt Issuance Costs (on Balance Sheet)) ค่าใช้จ่ายในการออกหุ้นกู้ หากบันทึกเป็นส่วนที่หักออกจากหนี้สินในงบดุลแทนที่จะบันทึกเป็นส่วนของสินทรัพย์ ทริสเรทติ้งจะนำไปบวกกลับในส่วนของหนี้

• หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debentures) โดยปกติทริสเรทติ้งจะนับหุ้นกู้แปลงสภาพเป็นส่วนของหนี้ เว้นแต่หุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวจะมีข้อกำหนดบังคับให้ต้องแปลงเป็นหุ้นทุน ทริสเรทติ้งจึงจะนับให้เป็นส่วนของทุนและหักออกจากส่วนของหนี้สินรวม อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่จ่ายจะนับเป็นดอกเบี้ยจ่ายทั้งจำนวน

• ผลประโยชน์พนักงานหลังเลิกจ้าง (Post-retirement Employee Benefits) ทริสเรทติ้งกำหนดให้ผลประโยชน์ที่ต้องจ่ายให้แก่พนักงานหลังเลิกจ้างเป็นหนี้สินทางการเงินที่ต้องจ่ายตามเวลา ดังนั้น ในการคำนวณอัตราส่วนที่เกี่ยวกับหนี้สิน ทริสเรทติ้งจะนับรวมภาระดังกล่าว (หลังหักสำรอง) ให้เป็นส่วนหนึ่งของหนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานที่รับรู้ในงบกำไรชาดทุนนั้น ส่วนของต้นทุนบริการในปัจจุบันจะนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยจะนับเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย

• ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์หมุนเวียน (Impairment Costs on the Diminution in Value of Current Assets ทริสเรทติ้งจะถือว่าผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์หมุนเวียน รวมถึงผลขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือที่ล้าสมัย และสำรองหนี้/ลูกหนี้การค้าสูญ เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ในทางตรงกันข้าม หากมีการกลับรายการดังกล่าวก็จะนำไปหักออกจากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน

• ดอกเบี้ยที่บันทึกเป็นต้นทุนสินทรัพย์ (Capitalized Interest) บริษัทอาจมีการบันทึกค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยบางส่วนเป็นต้นทุนของสินทรัพยในงบดุล แทนที่จะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยทั้งจำนวนในงบกำไรขาดทุน ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในงวดนั้นน้อยกว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ในการคำนวณค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ปรับปรุงแล้ว ทริสเรทติ้งจะรวมทั้งค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในงบกำไรขาดทุนและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยส่วนที่บันทึกเป็นต้นทุนของสินทรัพย์ด้วย ในบางอุตสาหกรรมเช่นอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เราใช้ดอกเบี้ยจ่ายในงบกระแสเงินสดเป็นตัวแทนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงในงวดนั้น

• กำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Currency Exchange Gains (Losses)) ก่อนหน้านี้ทริสเรทติ้งจัดให้กำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นรายการพิเศษและไม่นำรายการดังกล่าวมารวมในการประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น ๆ อย่างไรก็ดี จากการที่มีบริษัทไทยขยายธุรกิจไปในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้กำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจมากกว่าจะเป็นรายการพิเศษ ดังนั้น ในมุมมองของทริสเรทติ้งจึงเห็นว่ากำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจน่าจะนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี รวมถึงกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และเงินทุนจากการดำเนินงาน ในทางตรงกันข้าม กำไร (ขาดทุน) จากค่าเงินที่เกิดจากการกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ จะไม่นำมารวมในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดำเนินงานปกติ อย่างไรก็ดี บริษัทอาจจะไม่สามารถแยกได้ว่ากำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการดำเนินงานหรือไม่ ดังนั้น ทริสเรทติ้งอาจจะไม่ทำการปรับปรุงรายการดังกล่าวหากไม่มีข้อมูลเพียงพอหรือตัวเลขดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญ

• รายการพิเศษ รายการที่ไม่ปกติและไม่เกิดขึ้นบ่อยจะจัดอยู่ในกลุ่มรายการพิเศษและจะไม่นำมารวมในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการประเมินสถานภาพทางการเงินของบริษัทนั้น ๆ ตัวอย่างของรายการดังกล่าวได้แก่

o กำไร (ขาดทุน) จากการจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร สินทรัพย์ไม่มีตัวตน และสินทรัพย์อื่น โดยทั่วไปกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร จะเป็นรายการที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยและจะถือเป็นรายการพิเศษ แต่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์นั้น กำไร (ขาดทุน) สุทธิจากการจำหน่ายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะนับเป็นรายได้อื่นและรวมอยู่ในการคำนวณกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี ตลอดจนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และเงินทุนจากการดำเนินงาน

o กำไร (ขาดทุน) จากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน

o กำไร (ขาดทุน) จากการปรับโครงสร้างธุรกิจ

o การกลับรายการด้อยค่า (ขาดทุนจากการด้อยค่า) ของสินทรัพย์ถาวร สินทรัพย์ไม่มีตัวตน และค่าความนิยม

o ส่วนของธุรกิจที่หยุดดำเนินงาน

IV. การปรับปรุงตัวเลขทางการเงินเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม/การปรับปรุงตัวเลขทางการเงินที่ต่างจากเกณฑ์มาตรฐาน

ในบางกรณีทริสเรทติ้งอาจมีการปรับปรุงตัวเลขในงบการเงินโดยใช้เกณฑ์ที่ต่างไปจากเกณฑ์มาตรฐานสำหรับบางอุตสาหกรรมและ/หรือบางบริษัท ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์คุณภาพเครดิตมีความแม่นยำมากขึ้น ตัวอย่างการปรับปรุงตัวเลขในงบการเงินสำหรับบางอุตสาหกรรม ได้แก่

• ดอกเบี้ยที่บันทึกรวมอยู่ในต้นทุนขายสินค้า (Capitalized Interest Charged to Cost of Goods Sold) ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้น จะมีการบันทึกดอกเบี้ยจ่ายส่วนหนึ่งให้เป็นต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ซึ่งต้นทุนดอกเบี้ยดังกล่าวจะถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนขายอสังหาริมทรัพย์ในรอบบัญชีถัด ๆ ไปที่มีการรับรู้รายได้ เนื่องจากต้นทุนดอกเบี้ยที่บันทึกรวมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนขายนั้นได้มีการนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับปรุงแล้วในงวดที่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ในการคำนวณ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี รวมทั้งกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และเงินทุนจากการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งจะบวกกลับด้วยดอกเบี้ยจ่ายที่บันทึกอยู่ในต้นทุนขายสินค้า

• หนี้สินของบริษัทร่วมหรือกิจการร่วมค้า (Debt of Affiliates or Joint Ventures) ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มักมีการตั้งกิจการร่วมค้าเพื่อพัฒนาโครงการ ซึ่งในทางบัญชีจะมีการรับรู้งบการเงินของกิจการร่วมค้าตามวิธีส่วนได้เสียหากสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในกิจการร่วมค้าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50% ซึ่งจะทำให้หนี้ของกิจการร่วมค้าไม่ปรากฏในงบการเงินรวมของบริษันั้น ๆ อย่างไรก็ดี หาก

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการรวมหนี้ของกิจการร่วมค้าเข้ามาจะสะท้อนสถานภาพของบริษัทได้ดีกว่า ทริสเรทติ้งจะรวมหนี้ของกิจการร่วมค้าเข้ามาเป็นหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทนั้น ๆ โดยทั่วไป หนี้ของกิจการร่วมค้าที่รวมเข้ามาจะคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในกิจการร่วมค้า และอาจมีการรวมผลกำไรและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเข้ามาตามสัดส่วนด้วย อย่างไรก็ดี หากบริษัทมีการลงทุนในกิจการร่วมค้าหลายแห่ง ทริสเรทติ้งจะใช้ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าเป็นตัวแทนของกำไรที่หักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ ทริสเรทติ้งจะคำนวณกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย โดยการรวมส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้านั้นแทนการรวมเงินปันผลรับจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้า ในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงิน

• ค่าใช้จ่ายในการผลิตและการซื้อรายการ (Program development and acquisition costs) สำหรับบริษัทในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาและบันเทิงนั้น ทริสเรทติ้งจัดให้เงินสดจ่ายในการพัฒนาหรือซื้อรายการเป็นกระแสเงินสดที่ใช้ในกิจกรรมดำเนินงาน ในขณะที่ทางบัญชีจะจัดให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นกระแสเงินสดที่ใช้ในกิจกรรมลงทุนตามที่ปรากฏในงบกระแสเงินสดของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ และ

ทริสเรทติ้งจะถือว่าค่าตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและจะไม่นำไปบวกกลับเวลาคำนวณกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และเงินทุนจากการดำเนินงาน

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งอาจทำการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินที่ต่างจากเกณฑ์มาตรฐานสำหรับบางบริษัทด้วย ซึ่งการปรับปรุงตัวเลขดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทส่วนใหญ่ โดยการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินที่ต่างจากเกณฑ์มาตรฐานนั้นจะขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการจัดอันดับเครดิต

ภาคผนวก – อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ

อัตราส่วนที่แสดงความสามารถในการทำกำไร สูตรการคำนวณ
อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อรายได้ (%) (กำไรจากการดำเนินงาน + รายได้ (ค่าใช้จ่าย) อื่น/รายได้จากการดำเนินงานรวม
อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (%) (กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย – ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย + เงินปันผลรับจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย)/รายได้จากการดำเนินงานรวม
อัตรากำไรเบื้องต้นต่อรายได้ (%) กำไรเบื้องต้น/รายได้จากการดำเนินงานรวม
อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้ (%) กำไรสุทธิ/รายได้จากการดำเนินงานรวม
อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ (%) กำไรจากการดำเนินงาน/รายได้จากการดำเนินงานรวม
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (%) (กำไรจากการดำเนินงาน + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย)/รายได้จากการดำเนินงานรวม
อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวร (%) กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี/ค่าเฉลี่ยของเงินทุนถาวร
อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (%) กำไรสุทธิ/ค่าเฉลี่ยของสินทรัพย์
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนทุน (%) กำไรสุทธิ/ค่าเฉลี่ยของส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรับปรุงแล้ว
?
อัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ สูตรการคำนวณ
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุน (%) หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว/เงินทุน
อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่าย (เท่า) กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี/ดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับปรุงแล้ว
อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (เท่า) กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย/ดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับปรุงแล้ว
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (เท่า) หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว/กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน (%) เงินทุนจากการดำเนินงาน/หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว
อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน (%) กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน/หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว
อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุนต่อหนี้สินทางการเงิน (%) (กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน – เงินลงทุน)/หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว
อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุน และหลังจากจ่ายเงินปันผลต่อหนี้สินทางการเงิน (%) (กระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุน – เงินปันผลจ่ายแก่หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ)/หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว
อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพการดำเนินงาน สูตรการคำนวณ
ระยะเวลาเก็บหนี้ (วัน) ลูกหนี้การค้า X 365/รายได้จากการดำเนินงานรวม
ระยะเวลาถือสินค้าคงคลัง (วัน) สินค้าคงเหลือ X 365/ต้นทุนขายสินค้า
ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า (วัน) เจ้าหนี้การค้า X 365/ต้นทุนขายสินค้า
วงจรเงินสด (วัน) ระยะเวลาเก็บหนี้ + ระยะเวลาถือสินค้าคงคลัง – ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า
อัตราส่วนหมุนเวียน (เท่า) สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนหมุนเวียนเร็ว (เท่า) (เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด + เงินลงทุนชั่วคราว + ลูกหนี้การค้า)/หนี้สินหมุนเวียน
อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (เท่า) รายได้จากการดำเนินงานรวม/ค่าเฉลี่ยของสินทรัพย์ถาวร
อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (เท่า) รายได้จากการดำเนินงานรวม/ค่าเฉลี่ยของสินทรัพย์รวม
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด
โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500, www.trisrating.com
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ