ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” พร้อมทั้งลดแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งแนวโน้มอันดับเครดิตที่ลดลงสะท้อนประเด็นกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางการเงินของบริษัทที่ถดถอยลงซึ่งส่งผลให้มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่อ่อนแอลง
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงประวัติผลงานที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง รวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอลง และการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีผลงานที่ยาวนานด้วยสินค้าที่หลากหลาย
บริษัทถิรไทยเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีผลงานยาวนานเพียงไม่กี่รายในประเทศไทยที่สามารถผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายด้วยกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย โดยบริษัทดำเนินกิจการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ามานานถึง 31 ปี
หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่บริษัทผลิตมีกำลังไฟฟ้าสูงสุดจนถึง 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ (MVA) ด้วยแรงดันไฟฟ้าสูงสุดจนถึง 500 กิโลโวลต์ (kV) ในขณะที่หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายมีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) ไปจนถึง 10 MVA ด้วยแรงดันไฟฟ้าสูงสุดจนถึง 36 kV ทั้งนี้ ในปี 2560 บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 MVA จาก 5,000 MVA
บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้อยรายที่สามารถจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า อีกทั้งยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG (Siemens) ซึ่งเป็นเจ้าของตราสินค้าที่มีชื่อเสียงจากประเทศออสเตรียอีกด้วย การมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวช่วยรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ
ความได้เปรียบในการแข่งขันลดลง
แม้บริษัทจะมีความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า แต่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทโดยเฉพาะในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังนั้นได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากผู้ผลิตในประเทศจีนที่มีลิขสิทธิ์จากบริษัทที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ เช่น ABB และ Siemens นอกจากนี้ การที่ผู้ผลิตจากประเทศจีนได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดภาษีสินค้านำเข้าที่รัฐบาลไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกันกับรัฐบาลจีนและการที่รัฐบาลจีนออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตของตนก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้การแข่งขันในธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 20%-23% ในช่วงปี 2555-2557 นั้นหดตัวลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 18% ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาและอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 15% ในปี 2560 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานะความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเริ่มลดลง
เพื่อลดผลกระทบจากยอดจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าที่ตกต่ำลง บริษัทจึงได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจประกอบรถยกไฮดรอลิก ธุรกิจเหล็กแปรรูป และธุรกิจรับจ้างดำเนินงานและซ่อมบำรุง (O&M) โดยผ่านการดำเนินงานของบริษัทย่อยด้วย
ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าผลการดำเนินงานจากการที่บริษัทขยายไปสู่ธุรกิจด้านอื่นนอกเหนือจากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักนั้นยังไม่เพียงพอเนื่องจากผลกำไรที่ได้จากธุรกิจเหล่านี้ยังไม่สามารถชดเชยผลกำไรที่หายไปจากธุรกิจหลักของบริษัทได้
ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งได้ปรับลดมุมมองที่มีต่อตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศลงแม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ายังคงเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม อุปสงค์ของหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศที่ชะลอตัวมีสาเหตุหลักมาจากการเลื่อนงานประมูลและการทำสัญญาของรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าที่ล่าช้า ในขณะเดียวกัน โครงการลงทุนภาคเอกชนก็ยังถดถอยลงอีกด้วย
นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงทั้งในงานภาครัฐและเอกชนก็ยิ่งทำให้การแข่งขันเพื่อประมูลงานมีความกดดันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การทำกำไรของผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าลดต่ำลงอย่างมากเนื่องจากผู้ผลิตจำเป็นต้องลดราคาสินค้าเพื่อให้ได้คำสั่งซื้อจากลูกค้า ทั้งนี้ ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีอยู่เพียงไม่กี่รายในตลาด ในขณะที่ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าจำหน่ายมีการแข่งขันที่สูงกว่าและการเข้าสู่ตลาดทำได้ง่ายกว่า
แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงอ่อนตัว
บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนเป็นอย่างมากในปี 2560 และยังไม่สามารถฟื้นฟูผลกำไรให้เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้ได้โดยยอดขายและอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงอ่อนแอเนื่องจากธุรกิจน่าจะยังคงซบเซาต่อไปโดยบริษัทจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากคู่แข่งจากประเทศจีน
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าหากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าสามารถเปิดประมูลได้ตามปกติและการลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัว รายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับประมาณ 2,700-3,100 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2561-2564 โดยบริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวน 2,048 ล้านบาทของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2561 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งปรับลดประมาณการอัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมของบริษัทลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 22% จากอัตรากำไรขั้นต้นที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 25%-26% นอกจากนี้ บริษัทยังคงมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารอยู่ในระดับสูงทำให้บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับประมาณ 6%-7%
การก่อหนี้อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงต่อการผิดข้อกำหนดทางการเงิน
การก่อหนี้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่เพิ่มความกังวลต่อความสามารถของบริษัทในการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดซึ่งเป็นเงื่อนไขเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ กล่าวคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ในช่วง 50%-60% มาตั้งแต่ปี 2558 จะเห็นได้ว่าบริษัทมีการก่อหนี้อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนของบริษัทในช่วงปี 2561-2564 จะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 60%
บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.4 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2561 เทียบกับข้อกำหนดที่ระบุให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.5 เท่า ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้มีบริษัทมีความเสี่ยงที่จะผิดข้อกำหนดของหุ้นกู้ นอกจากนี้ สถานะทางการเงินที่อ่อนแอของบริษัทยังส่งผลทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการจ่ายชำระคืนหุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดชำระในปี 2562 เพิ่มสูงขึ้นด้วย
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้มีแนวโน้มลดลง
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทที่ยังคงอ่อนแอส่งผลลบต่ออันดับเครดิตในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ในปี 2560 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับเฉลี่ยในช่วงปี 2557-2559 ถึงแม้อัตราส่วนข้างต้นจะดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 120 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2561-2564 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 200 ล้านบาทต่อปีในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 8%-10% จากเดิมที่ทริสเรทติ้งเคยคาดไว้ที่ 10%-15% ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอาจจะลดลงต่ำกว่า 3 เท่า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงสถานะธุรกิจของบริษัทที่อ่อนแอลงโดยพิจารณาจากการมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ลดลงและสภาวะการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลให้การฟื้นตัวของบริษัททำได้ยากขึ้น ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าผลประกอบการของบริษัทน่าจะยังคงอ่อนแอต่อไป ในขณะเดียวกันการก่อหนี้ก็จะยังคงอยู่ในระดับสูงจนทำให้ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทลดลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดในกรณีที่บริษัทไม่สามารถฟื้นฟูตำแหน่งทางการตลาดได้และบริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอ นอกจากนี้ ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตยังมาจากการก่อหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง สภาพคล่องที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุในเงื่อนไขหุ้นกู้ได้
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html