ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” ที่ “BBB” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 9, 2018 11:30 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้และแข็งแกร่งซึ่งบริษัทได้รับจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานการไฟฟ้าภาครัฐ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้าของบริษัทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของปริมาณและราคาของวัตถุดิบสำหรับป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนความเสี่ยงในการดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และระดับการก่อหนี้ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะเครดิตของ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

อันดับเครดิตถูกกำหนดโดยสถานะของกลุ่ม

บริษัทเป็นบริษัทย่อยของบริษัทไทยโพลีคอนส์ ซึ่งตามเงื่อนไขเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทจะจำกัดอยู่ที่ระดับ “BBB” ซึ่งเป็นอันดับเครดิตองค์กรที่

ทริสเรทติ้งจัดให้แก่บริษัทไทยโพลีคอนส์ โดยบริษัทไทยโพลีคอนส์ถือหุ้นประมาณ 41% ในบริษัทและมีอำนาจควบคุมธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทโดยตรงอีกด้วย สิ่งดังกล่าวสะท้อนความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างบริษัททั้งสอง ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทไทยโพลีคอนส์เนื่องจากผลกำไรส่วนใหญ่ของบริษัทไทยโพลีคอนส์มาจากบริษัท

กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้

อันดับเครดิตสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าของบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการแล้วจำนวน 6 แห่ง โดยจำนวน 5 แห่งนั้นบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วอยู่ที่ 52.8 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทุกแห่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้รับการจัดอันดับที่ระดับ “AAA” จากทริสเรทติ้ง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดังนั้น ความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าจึงอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีการระบุราคาซื้อขายไว้อย่างชัดเจนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) โดยมีส่วนต่างหรือค่าพรีเมียมในช่วง 8 ปีแรกซึ่งช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่โครงการดังกล่าว

ความเสี่ยงจากปริมาณและราคาของวัตถุดิบ

เนื่องจากบริษัทใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า จึงทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนของปริมาณและราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิง บริษัทลดความเสี่ยงดังกล่าวใน 2 แนวทางคือ โรงไฟฟ้าของบริษัทต้องตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบและบริษัทจัดจ้างผู้รับเหมาเพื่อให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัท ซึ่งผู้รับเหมาดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการวัตถุดิบ ดังนั้นผู้รับเหมาจะเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบด้วย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นบริษัทไม่สามารถผลักภาระความเสี่ยงด้านราคาให้แก่ผู้รับเหมาดังกล่าวได้ ที่ผ่านมา บริษัทปรับขึ้นค่าบริหารจัดการให้แก่ผู้รับเหมาเมื่อราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้น

บริษัทวางแผนจะดำเนินงานโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ด้วยตนเองซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านวัตถุดิบเชื้อเพลิง บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบเชื้อเพลิงระยะยาวกับผู้จำหน่ายท้องถิ่นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีเชื้อเพลิงที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญายังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย บริษัทลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาปลูกพืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิงของตนเองอีกด้วย ซึ่งความพยายามดังกล่าวก็ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงด้านวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี

ความเสี่ยงในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าใหม่

บริษัทมีความเสี่ยงจากการดำเนินการเนื่องจากบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าใหม่หลายแห่ง ความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำเลที่ตั้งของโครงการ และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอาจเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงการใหม่ได้

ในปี 2559 บริษัทชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 3 แห่งในจังหวัดยะลาและนราธิวาสโดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 24.7 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 21 เมกะวัตต์ในจังหวัดปัตตานีซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดของบริษัท ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ 8 เมกะวัตต์ด้วย โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในระหว่างปี 2562-2563 ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวสร้างเสร็จทั้งหมด กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 106.5 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ 52.8 เมกะวัตต์

กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจะสร้างความท้าทายใหม่ให้แก่บริษัท เช่น การจัดหาวัตถุดิบเชื้อเพลิงและการจัดหากำลังคน นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ของบริษัทก็อยู่ภายใต้ระบบการประมูลซึ่งมีราคาขายไฟฟ้าต่ำลงมากโดยอยู่ระหว่าง 2.8-3.4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ขณะที่โรงไฟฟ้าในปัจจุบันของบริษัทมีราคาขายไฟฟ้าสูงกว่า 4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ดังนั้น การควบคุมต้นทุนสำหรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่จึงต้องกระทำอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น

ผลการดำเนินงานมีความแข็งแกร่ง

โรงไฟฟ้าของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่สูงกว่า 80% ของกำลังการผลิตสูงสุดซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูง ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของโรงไฟฟ้าของบริษัททรงตัวอยู่ที่ระดับสูงประมาณ 50%

โรงไฟฟ้าบางแห่งของบริษัทเป็นการลงทุนในรูปกิจการร่วมค้า ซึ่งบริษัทให้การค้ำประกันหนี้ของกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการร่วมค้านั้น ๆ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท ทริสเรทติ้งจึงรวมเอาสินทรัพย์ หนี้สิน และผลการดำเนินงานของกิจการร่วมค้าเข้ามารวมกับงบการเงินรวมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการร่วมค้าแต่ละแห่งด้วย

เนื่องจากบริษัทมีการขยายธุรกิจ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 3,000 ล้านบาทในปี 2564 จากประมาณ 1,600 ล้านบาทในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยราคาขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่ต่ำจะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ดังกล่าวจะเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทซึ่งจะเร่งให้เกิดการประหยัดจากขนาดและช่วยลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย

ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้ง อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 40%-50% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 จาก 30%-40% ในปี 2556-2558 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรดังกล่าวเกิดจากการเพิ่มกำลังการผลิตของบริษัท ทั้งนี้ ระดับอัตรากำไรจากการดำเนินงานดังกล่าวถือว่าสูงสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเกือบถึงประมาณ 1,300 ล้านบาทในปี 2564 จากประมาณ 800 ล้านบาทในปี 2561

การก่อหนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้น

หนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นตามการขยายธุรกิจ โดยบริษัทวางแผนจะลงทุนประมาณ 5,500 ล้านบาทในโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในช่วงปี 2561 และปี 2562 อย่างไรก็ตาม แม้ระดับการก่อหนี้จะเพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนไม่น่าจะสูงกว่า 60% ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2561 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 40.9% เงินทุนจากผู้ร่วมทุนในแต่ละโครงการจะช่วยลดความจำเป็นในการกู้ยืมลง นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจะช่วยรักษาระดับการก่อหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งได้รวมเอาหนี้ของกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของมาประกอบการพิจารณาประมาณการดังกล่าวด้วย

กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้ของบริษัทจะลดลงในช่วงการขยายธุรกิจ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 17% ในปี 2562 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นประมาณ 22% ในปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในช่วง 20%-30% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลงแต่ยังคงสูงกว่า 4 เท่า กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้ของบริษัทถือว่าค่อนข้างสูงเนื่องจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วมีการเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทก็ไม่ได้มีการขยายธุรกิจมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทมีหนี้ค่อนข้างต่ำและไม่มีการใช้เงินทุนที่ไม่สอดคล้องในด้านระยะเวลาแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ประมาณ 180 ล้านบาทซึ่งทั้งหมดเป็นเงินกู้โครงการระยะยาว ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกันจะอยู่ที่ 400 ล้านบาทซึ่งเพียงพอที่จะรองรับหนี้ที่ครบกำหนดดังกล่าว ณ เดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้และเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันประมาณ 450 ล้านบาทสำหรับเป็นแหล่งเงินสดได้อีกทางหนึ่ง ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 800-1,300 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทจะต้องชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวปีละ 400-500 ล้านบาท

บริษัทไม่มีข้อกำหนดทางการเงินสำหรับวงเงินกู้ที่มีกับธนาคาร แต่บริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.1 เท่าหรือ 1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ไม่เกิน 2.5 เท่า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดดังกล่าว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวตลอดช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้าได้เช่นกัน

?

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและสร้างกระแสเงินสดได้ตามที่คาดไว้ โดยที่โครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่จะสร้างแล้วเสร็จตามแผนและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ และบริษัทน่าจะยังมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทไทยโพลีคอนส์ต่อไป ซึ่งภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทย่อยนั้น การเปลี่ยนแปลงใดใดต่ออันดับเครดิตองค์กรของบริษัทไทยโพลีคอนส์ก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตองค์กรของบริษัทด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและโครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแรงกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและบริษัทสามารถบริหารจัดการระดับการก่อหนี้ได้เป็นอย่างดี ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการเป็นอย่างมากหรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทด้อยลงจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก

บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (TPCH)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ