ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่ระดับ “AA-” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะเครดิตเฉพาะและการยกระดับสถานะเครดิตของ บตท. จากการเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ทั้งนี้ สถานะเครดิตของ บตท. มีข้อจำกัดจากการมีคุณภาพสินทรัพย์และสถานะทางการตลาดที่ถดถอยลงมาตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจาก บตท. ต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ 2 ด้านคือ การเพิ่มผลประกอบการทางการเงินและการรักษาระดับเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตของ บตท. ที่ระดับเดิมจากการคาดการณ์ว่าการสนับสนุนของรัฐบาลที่มีต่อ บตท. จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสถานะเป็นองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล
อันดับเครดิตองค์กรของ บตท. สะท้อนถึงการเป็นองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล (Government-Related Entity – GRE) โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแก่ บตท. ในยามที่จำเป็น
นับตั้งแต่การจัดตั้งองค์กร ธุรกรรมหลักของ บตท. คือการซื้อพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อในตลาดแรกแล้วนำมารวมกันเป็นกองสินเชื่อเพื่อใช้เป็นสินทรัพย์หนุนตราสารทางการเงิน (Mortgage-backed Securities -- MBS) จากนั้นจึงจำหน่ายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน
บตท. มีความเชื่อมโยงที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลเนื่องจากมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้น 100% ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ต่ำมากที่ บตท. จะถูกแปรรูปเป็นหน่วยงานเอกชน ความเชื่อมโยงดังกล่าวยังสะท้อนถึงหนี้สินของ บตท. ซึ่งจัดเป็นหนี้สาธารณะด้วย โดย บตท. ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะก่อนการก่อหนี้เพิ่มเติม แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ให้การรับประกันหนี้ของ บตท. อย่างชัดเจน แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุน บตท. เมื่อมีความจำเป็น
คุณภาพสินทรัพย์คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
บตท. มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 73 ล้านบาทในปี 2559 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก ความสามารถในการทำกำไรของ บตท. ถดถอยลงในปี 2560 เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ยังคงเสื่อมถอยลง อย่างไร
ก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ในปีนี้ปรับตัวดีขึ้นโดย บตท. รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 68 ล้านบาทสำหรับครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งรวมยอดการโอนกลับหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 38 ล้านบาทด้วย
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ณ เดือนมิถุนายน 2561 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 13.7% ในมุมมองของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะต่ำกว่า 15% ในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยคาดหวังว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ บตท. จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากเกณฑ์การซื้อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ความสามารถในการทำกำไรก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นด้วยหาก บตท. ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้
สถานะทางธุรกิจอ่อนแอลง
สินเชื่อที่อยู่อาศัยของ บตท. ลดลง มาอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 18,200 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2561 จาก 24,200 ล้านบาทในปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประกอบกับภาระหนี้ที่สูงของ บตท. ด้วย
ผลประกอบการที่ขาดทุนของ บตท. ในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการจัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ในอดีต อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว บตท. มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่เพื่อลดการพึ่งพิงการซื้อสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ด้วยการหันไปร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการจัดหาเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนให้มากขึ้น ทั้งนี้ บตท. ได้ซื้อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจำนวน 111 ล้านบาทจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2561 ในขณะเดียวกัน การแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อให้ บตท. มีความคล่องตัวในการจัดซื้อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งในรูปแบบเช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งได้ภายใต้แนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
ทริสเรทติ้งคาดว่า บตท. จะดำเนินการจัดซื้อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทถึง 2,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อนำมาใช้ทดแทนสินเชื่อที่จะครบกำหนดชำระและใช้สร้างรายได้ดอกเบี้ยที่เพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายดำเนินงาน
?
ข้อจำกัดด้านเงินกองทุน
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่า บตท. ยังจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเงินกองทุนเพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคตอีกด้วยเช่นกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจกำหนดให้ บตท. รักษาอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไว้ที่ระดับ 8.5% ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติของ Basel II ทั้งนี้ ผลขาดทุนในปี 2559 และความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างน้อยในปี 2560 ส่งผลต่อการลดลงของเงินกองทุนของ บตท. โดย บตท. มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10.1% ในปี 2560 และ 10.9% ณ เดือนมิถุนายน 2561 จากเดิมที่ระดับ 9.2% ในปี 2559 ในกรณีที่ไม่มีการเพิ่มทุน เกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท. จะกลายเป็นข้อจำกัดในการขยายธุรกิจตามแผนของ บตท. ทั้งนี้ กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แต่เพียงรายเดียวของ บตท. จะต้องตัดสินใจว่า บตท. จะต้องเพิ่มทุนหรือไม่และเมื่อไหร่
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าความสัมพันธ์ระหว่าง บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และยังคาดว่าสถานะทางการเงินของ บตท. จะยังมีความมั่นคง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ บตท. สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้หาก บตท. มีผลประกอบการทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีระดับเงินกองทุนที่เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหาก บตท. มีสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมาก โดยที่ทริสเรทติ้งจะพิจารณาปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอีกครั้งหากความสัมพันธ์ที่ บตท. มีกับรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- การจัดอันดับเครดิตบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร, 7 พฤษภาคม 2561
- Rating Methodology for Government-Related Entities, 6 มิถุนายน 2560
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SMCT19OA: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AA-
SMCT20NA: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 AA-
SMCT216A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-
SMCT21OA: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-
SMCT236A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
SMCT238A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
SMCT23OA: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable