ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” โดยการปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า ตลอดจนแนวโน้มที่น่ากังวลของตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่อยู่ในระดับปานกลางของบริษัท โอกาสของการเติบโตในตลาดส่งออก และกระแสเงินสดรับที่ค่อนข้างแน่นอนจากกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานธุรกิจพลังงานแห่งใหม่ที่บริษัทมีแผนจะดำเนินการ และความไม่แน่นอนของกลยุทธ์ของบริษัทจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าอ่อนแอลง
การปรับลดอันดับเครดิตองค์กรสะท้อนมาจากการดำเนินงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความพยายามที่จะฟื้นตัวของบริษัทยังไม่ประสบผลสำเร็จ ถึงแม้ว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย จะเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 54 ล้านบาทใน 9 เดือนแรกของปี 2561 แต่ผลการดำเนินงานยังคงต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ การฟื้นตัวของธุรกิจของบริษัทมีแนวโน้มต้องยืดออกไป
ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทได้รับผลกระทบจากการอ่อนตัวของอุตสาหกรรมโดยรวมและการแข่งขันที่รุนแรงเช่นเดียวกับผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศรายอื่น ๆ ทั้งนี้ ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าตกลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2559 โดยเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ ยอดขายตกลงอย่างต่อเนื่องและการตัดราคาของกลุ่มผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
ตลาดที่หดตัวลงส่งผลให้ยอดการผลิตของบริษัทลดลงเช่นกัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าลดลง 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลกำไรของบริษัทยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรขั้นต้นของหม้อแปลงไฟฟ้าลดต่ำลงกว่าครึ่งมาอยู่ที่ระดับ 7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ซึ่งลดลงจากระดับ 13% ในปี 2560 ส่วนยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศที่คิดเป็นสัดส่วน 70% ของยอดขายทั้งหมด ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ -2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ซึ่งลดลงเมื่อเปรียบเที่ยบกับอัตรากำไรขั้นต้นของปี 2560 ที่ระดับ 6% โดยกำไรขั้นต้นในกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจยังคงอ่อนแอ
ทริสเรทติ้งมองแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศลดลงแม้ความต้องการไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศเผชิญกับความล่าช้าของการประมูลงานกับทางรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่ความต้องการจากทางบริษัทเอกชนก็อ่อนตัวลงเช่นกัน
โอกาสใหม่ ๆ ในตลาดต่างประเทศ
ในขณะที่รายได้ในประเทศอ่อนตัวลง รายได้จากตลาดต่างประเทศกลับดีขึ้น โดยยอดขายส่งออกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 243 ล้านบาทในปี 2560 ธุรกิจในต่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดขายสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยลูกค้าหลักมาจากประเทศออสเตรเลียและญี่ปุ่น อัตรากำไรขั้นต้นจากการส่งออกอยู่ระหว่าง 20%-30% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งมองว่าผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นได้จากการขยายตัวของยอดขายในตลาดต่างประเทศ
เนื่องจากยอดขายของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการขายในประเทศ ทริสเรทติ้งจึงไม่ได้คาดหวังการฟึ้นตัวอย่างรวดเร็วในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัท แนวโน้มตลาดที่ยังหดตัว ทำให้ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ายอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าจะอยู่ในช่วง 800-950 ล้านบาทต่อปี ระหว่างปี 2561-2564 ภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงยังคงส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัท อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าจะทยอยดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 12%-16% ซึ่งยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับ 23%-27% ในช่วงปี 2555-2558
กิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้
เพื่อลดทอนผลกระทบจากการหดตัวของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า บริษัทได้ซื้อ บริษัท คิว โซลาร์ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยกิจการพลังงานแสงอาทิตย์จะก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ภายใต้ราคารับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดและความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อไฟก็อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากผู้ซื้อเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำด้วย บริษัทเริ่มรวมงบการเงินของบริษัทคิว โซลาร์ 1 เข้ามาอยู่ในงบการเงินของบริษัทเมื่อปลายเดือนกันยายน 2560
ทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะก่อให้เกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 120 ล้านบาทต่อปี โดยทริสเรทติ้งยังมองว่าผลการดำเนินงานจากยอดขายไฟฟ้าของโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์จะไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะลดลงอย่างมากหลังจากที่ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หมดอายุในเดือนธันวาคม 2564 นอกจากนี้ การซื้อกิจการในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงในบริษัทคิว โซลาร์ 1 ทำให้บริษัทต้องมีการตั้งสำรองการด้อยค่าจำนวน 193 ล้านบาทซึ่งส่งผลให้บริษัทขาดทุนอย่างมากในปี 2560
ความเสี่ยงจากการลงทุนใหม่ในธุรกิจไฟฟ้า
บริษัทพยายามขยายไปสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อลดความผันผวนของรายได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลงานในการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่จำกัดมาก และแม้ว่าการเพิ่มทางเลือกในการทำธุรกิจใหม่ ๆ สามารถช่วยให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่บริษัทจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้สำหรับธุรกิจใหม่ได้ การที่บริษัทมีแนวโน้มที่จะไปลงทุนในต่างประเทศยิ่งทำให้มีโอกาสในการต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ดังตัวอย่างล่าสุด ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 บริษัทได้ยกเลิกการลงทุนในโครงการมินบู ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศพม่าด้วยขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ เนื่องจากการพัฒนาโครงการที่ล่าช้าส่งผลให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่บริษัทคาด บริษัทเสียเงินจาการยกเลิกการลงทุนในครั้งนี้เป็นจำนวน 20 ล้านบาท
บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ตลอดจนตรวจสอบและประเมินทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลายแห่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ทริสเรทติ้งมองว่าความเป็นไปได้ที่โครงการจะเริ่มดำเนินการมีน้อยมากในระยะเวลาอันใกล้นี้
การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นหลักทำให้เกิดความไม่แน่นอนในแนวทางธุรกิจ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความกังวลต่อความต่อเนื่องและความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทในขณะที่ธุรกิจใหม่ก็มีความเสี่ยงในระดับสูงจากการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามแผน
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากที่บริษัทได้ทำการเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ในระหว่างปี 2559-2560 อีกทั้งบริษัทได้ออกหุ้นสามัญใหม่ให้กับ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด สำหรับการซื้อบริษัทคิว โซลาร์ 1 โดย ณ เดือนธันวาคม 2561 กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ของบริษัท (ซึ่งประกอบด้วยนักลงทุนรายย่อย 7 ราย) ถือหุ้นในสัดส่วนรวมกันที่ระดับ 57% ในขณะที่บริษัทล็อกซเล่ย์และบริษัทลีโอนิคส์ถือหุ้นในสัดส่วนรวมกันประมาณ 6% และสัดส่วนการถือหุ้นของนายพูลพิพัฒน์ ตันธนสินและครอบครัวก็ลดลงเป็น 7% จาก 62% ณ เดือนพฤษภาคม 2559 จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ดังกล่าวคาดว่าคณะผู้บริหารและกลยุทธ์ของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ภาระหนี้และสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับดี
ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีการเพิ่มทุน ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2561 เงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 309 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับต่ำที่ 15% บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นมีจำนวน 520 ล้านบาท บริษัทมีเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 460 ล้านบาทซึ่งเป็นยอดคงเหลือจากการเพิ่มทุนที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินดังกล่าวไปในการลงทุนในโรงงานไฟฟ้ามูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านบาท รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านบาทในปี 2561 ไปจนถึง 1.3 พันล้านบาทภายในปี 2564 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะทยอยเพิ่มขึ้นจากระดับ 8% ในปี 2561 เป็นระหว่าง 16%-18% จนถึงปี 2564 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มจาก 80 ล้านบาท ไปเป็น 220 ล้านบาทในช่วงปีประมาณการ การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่จะส่งผลต่อสถานะทางการเงินให้แย่ลงในระยะสั้น แต่สามารถก่อให้เกิดรายได้ประจำที่แน่นอนเพื่อชดเชยกำไรที่ลดลงจากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะไม่ลงทุนสูงเกินไปเพื่อรักษาระดับภาระหนี้และสภาพคล่องให้อยู่ในระดับดี และประมาณการว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะสูงถึง 40% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าระหว่างช่วงพัฒนาโครงการ โดยทั้ง 2 อัตราส่วนจะค่อย ๆ ลดลงหลังจากที่โครงการเริ่มก่อให้เกิดรายได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าจะอยู่ที่ 16% อัตรากำไรขั้นต้นทั้งหมดจะอยู่ในช่วง 20%-23% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ระหว่าง 16%-18%
• ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินที่มีส่วนหนึ่งในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งการลงทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562-2563
• รายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 3%-15% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าต่อไปได้ ตลอดจนได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดฟื้นตัว ในขณะที่บริษัทจะประเมินผลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับธุรกิจโครงการใหม่ได้อย่างระมัดระวังจนทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนอย่างน่าพอใจตามที่คาดการณ์
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นถ้าผลประกอบการของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลงหากบริษัทมีการลงทุนในระดับที่สูงมากจนทำให้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งผลการดำเนินงานของบริษัทแย่ลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html