ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วย ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนเงินกู้โครงการเดิมของบริษัททั้งหมด
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็น “A” จากเดิมที่ระดับ “A-” การปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็นผลจากการชำระคืนเงินกู้โครงการที่เหลืออยู่ทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การปลดหลักประกันทั้งหมดจากเจ้าหนี้เงินกู้เดิมรวมถึงการจดจำนองลำดับที่ 1 ของสินทรัพย์โครงการ ซึ่งเป็นการลดความเสียเปรียบของเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน
อันดับเครดิตดังกล่าวข้างต้นสะท้อนถึงโครงสร้างสัญญาที่รัดกุมของบริษัทไฟฟ้าน้ำงึม 2 ตลอดจนกระแสเงินสดรับที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ได้รับอันดับเครดิต “AAA” จากทริสเรทติ้ง) คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในการบริหารงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และเทคโนโลยีซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำในแม่น้ำงึมและความเสี่ยงประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) (ได้รับอันดับเครดิต “BBB+/Negative” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งบริษัทดำเนินโครงการอยู่ในประเทศดังกล่าว
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
โครงสร้างสัญญาบรรเทาความเสี่ยงได้เป็นส่วนใหญ่
โครงสร้างสัญญาในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 ช่วยบรรเทาความเสี่ยงส่วนใหญ่ของโครงการ ในขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ที่มีกับ กฟผ. ช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านตลาด ซึ่งสัญญา PPA นั้นอยู่ในลักษณะของการจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมดซึ่งสามารถเรียกรับไฟฟ้าส่วนที่ขาดให้ครบได้ในภายหลัง (Take-or-Pay) ซึ่ง กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 2,310 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (ล้านหน่วย) ต่อปี (ปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปี หรือ Annual Supply Target) ซึ่งแบ่งเป็นปริมาณไฟฟ้าหลัก (Primary Energy -- PE) จำนวน 2,218 ล้านหน่วยและปริมาณไฟฟ้ารอง (Secondary Energy -- SE) จำนวน 92 ล้านหน่วย
สัญญาสัมปทาน (Concession Agreement) ที่บริษัทมีกับรัฐบาล สปป. ลาว ช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการโอนเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยสัญญาสัมปทานให้สิทธิ์บริษัทไฟฟ้าน้ำงึม 2 ในการรับรายได้และพักเงินในบัญชีเงินฝากที่อยู่นอก สปป. ลาว ได้ ดังนั้น รายได้จากการขายไฟฟ้าที่ได้รับจาก กฟผ. จึงใช้วิธีจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทในประเทศไทย
คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว
ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัทลดน้อยลงเนื่องจาก กฟผ. เป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าให้แก่บริษัท โดยบริษัทได้ทำสัญญาเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance Agreement -- OMA) กับ กฟผ. ซึ่งครอบคลุมตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า อนึ่ง กฟผ. มีความชำนาญและมีประสบการณ์ที่ยาวนานในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำสัญญาซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Maintenance Agreement -- MMA) กับ กฟผ. ด้วย นับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานในเดือนมีนาคม 2554 ถึงปี 2560 โรงไฟฟ้าของบริษัทมีค่าความพร้อมอยู่ในระดับที่สูงกว่า 96% ส่วนในปี 2561 ความพร้อมโรงไฟฟ้าของบริษัทอยู่ที่ 92% เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงตามวาระ
เทคโนโลยีที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วซึ่งช่วยเสริมความมั่นคงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าของบริษัทติดตั้งกังหันน้ำชนิด Francis ซึ่งผลิตโดย “โตชิบา” กังหันน้ำแต่ละชุดทำงานร่วมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิด Synchronous ขนาด 205 เมกะวัตต์โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 615 เมกะวัตต์
ความเสี่ยงจากปริมาณน้ำยังคงดำรงอยู่ แต่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าทำให้สามารถบริหารจัดการได้
ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทอาจแตกต่างกันไปในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีกลไกที่จะช่วยให้กระแสเงินสดของโครงการมีเสถียรภาพ กลไกดังกล่าวเอื้อให้บริษัทสามารถขายไฟฟ้าได้มากเกินกว่าปริมาณเป้าหมายในปีที่มีน้ำมาก ในขณะที่ปีที่มีน้ำน้อยบริษัทจะได้รับเงินสดจากการนำไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าเป้าหมายดังกล่าวมาใช้ และในกรณีที่บริษัทขายไฟฟ้าได้ต่ำกว่าปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปี ปริมาณไฟฟ้าในส่วนที่ขาดนี้ก็สามารถนำไปทบกับปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายของปีถัด ๆ ไปได้
?
ปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปีนั้นมาจากอัตราการไหลของน้ำที่ระดับ 6,270 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อปี โดยคำนวณจากข้อมูลในอดีตในระหว่างปี 2492-2546
ในปี 2561 ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนน้ำงึม 2 นั้นมีปริมาณทั้งสิ้น 10,535 ล้าน ลบ.ม. สูงสุดในรอบ 70 ปี บริษัทจึงประกาศขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 2,454 ล้านหน่วย ประกอบด้วย PE จำนวน 1,980 ล้านหน่วย SE จำนวน 130 ล้านหน่วย และ ปริมาณไฟฟ้าส่วนเกิน (Excess Energy -- EE) จำนวน 344 ล้านหน่วย อย่างไรก็ตาม บริษัทมีปริมาณไฟฟ้าสะสมที่สามารถนำไปทบกับเป้าหมายรายปีในปีถัด ๆ ไปได้จำนวนทั้งสิ้น 879 ล้านหน่วยสำหรับ PE และ 178 ล้านหน่วยสำหรับ SE เป็นผลจากการที่บริษัทไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายในช่วงปี 2558-2560
EBITDA เพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำสูงขึ้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 25.2% เป็น 2,456 ล้านบาทเนื่องจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ทริสเรทติ้งประมาณการ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 3,000-3,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โดยใช้อัตราคิดลดประมาณ 10% ของปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยต่อปีในอดีต ซึ่งจำนวน EBITDA นี้เพียงพอที่จะใช้ชำระหนี้ของบริษัทที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ บริษัทจะชำระคืนหนี้จำนวน 600 ล้านบาทในปี 2562 จำนวน 2,100 ล้านในปี 2563 และจำนวน 1,000 ล้านบาทในปี 2564 โดยบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหุ้นกู้เดิมจำนวน 1,000 ล้านบาทในปี 2563
โครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะค่อย ๆ ดีขึ้นโดยอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ในปี 2564 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนทุนและการลงทุนขนาดใหญ่นอกจากการซ่อมบำรุงในช่วงประมาณการ โดยการลงทุนครั้งล่าสุดคือการขยายสถานีไฟฟ้าย่อยนาบงซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561 ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,120 ล้านบาท โดย ณ เดือนกันยายน 2561 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ 57.2%
สภาพคล่องแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทสามารถรักษาสภาพคล่องที่แข็งแกร่งได้ตลอดช่วงประมาณการ โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถดำเนินงานได้เป็นปกติและสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอได้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานสูงกว่า 2,500 ล้านบาทในปี 2562 นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสดในมือประมาณ 2,059 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2561 เงินสดในมือรวมกับประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานนั้นเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2562 ได้
บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้โครงการที่เหลืออยู่ทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การปลดหลักประกันทั้งหมดจากเจ้าหนี้เงินกู้เดิม ซึ่งรวมถึงการปลดการจดจำนองลำดับที่ 1 ของสินทรัพย์โครงการ ซึ่งเป็นการลดภาระผูกพันที่มีอยู่บนสินทรัพย์ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สถานะของเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกันดีขึ้น
หลังจากชำระคืนเงินกู้โครงการทั้งหมดด้วยหุ้นกู้ บริษัทยังคงมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังในการสำรองเงินสดอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท สำหรับการชำระคืนเงินกู้ในงวดถัดไป โดยเงินสำรองนี้ช่วยบรรเทาความเสี่ยงให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ บริษัทยังมีนโยบายการคงเงินสดไว้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายดำเนินงานประมาณ 12 เดือน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• ทริสเรทติ้งประมาณการส่วนลด 10% สำหรับปริมาณน้ำเฉลี่ยในอดีตที่ 6,270 ล้าน ลบ.ม.
• อัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) อยู่ในช่วง 36%-40% ในช่วงปี 2562-2564
• คาดว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีความพร้อมมากกว่า 96% ตลอดช่วงประมาณการ
• อัตราค่าไฟฟ้าเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
• ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานและซ่อมบำรุงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าและปริมาณน้ำให้มีเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายตลอดอายุสัญญา PPA
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่ถดถอยลง หรือมีการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งทำให้สถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html