ทริสเรทติ้งประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ “A+” โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ING Groep N.V. (ING) และ The Bank of Nova Scotia (BNS) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อดำเนินการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต
ทริสเรทติ้งยังคงเห็นความไม่แน่นอนของธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ เนื่องจากการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) ของทั้ง 2 ธนาคารจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน และยังต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องซึ่งประกอบไปด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งหากธุรกรรมดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ กระบวนการรวมกิจการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2562 นี้
อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากการประกาศเครดิตพินิจในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม โดยวิธีการจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้ง จึงได้ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ต่ออันดับเครดิตของบริษัท โดยอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงจากในระดับปัจจุบัน เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับธนาคารธนชาต ซึ่งปัจจุบันเป็นธนาคารแม่ที่ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทเมื่อมีการรวมธนาคารธนชาตและธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารใหม่ และ/หรือ บริษัทกลายเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัท ทุนธนชาต ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการทางการเงินและสถานะของบริษัทเอง และ/หรือ ความสัมพันธ์กับบริษัททุนธนชาต
ทริสเรทติ้งคาดว่าจะสามารถทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทได้หากธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นหรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะทำการวิเคราะห์ในเชิงลึกและสามารถให้ข้อสรุปต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้
รายละเอียดธุรกรรม
จากแผนของธุรกรรมที่ประกาศสู่สาธารณชน การรวมกิจการจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารธนชาตเท่านั้น โดยธนาคารธนชาตจะต้องขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยส่วนใหญ่และเงินลงทุนอื่นๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารในปัจจุบันตามสัดส่วนการถือหุ้น (บริษัททุนธนชาต 51% และ BNS 49%) การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบริษัทหลักทรัพย์ธนชาตซึ่งปัจจุบันมีธนาคารธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% โดยจะต้องมีการขายเงินลงทุนของบริษัทไปพร้อมกับบริษัทย่อยอื่น ๆ ของธนาคารธนชาตด้วย ได้แก่ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (65%) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) (100%) และ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด (100%) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคาดว่าบริษัททุนธนชาตจะกลายมาเป็นบริษัทแม่ของบริษัทแทนหากธุรกรรมดังกล่าวสำเร็จตามแผน
ในการนี้ ธนาคารทหารไทยคาดว่าการรวมกิจการจะต้องใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาทโดยจะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 70% และจากการกู้ยืมอีก 30% (ส่วนหนึ่งอาจมาจากสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารทหารไทย) ในส่วนของการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้นจะประกอบไปด้วย 1) การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารทหารไทย (ประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาท) และ 2) การออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บริษัททุนธนชาตและ BNS โดยคิดมูลค่าหุ้นเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีล่าสุดของธนาคารทหารไทย (ประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาท)
หากการรวมกิจการสำเร็จก็คาดว่า ING และบริษัททุนธนชาตจะถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 20% ในธนาคารใหม่ที่จะเกิดจากการรวมกิจการ ในขณะที่กระทรวงการคลังน่าจะถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่า 20% ส่วน BNS นั้นก็คาดว่าจะถือหุ้นในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในธนาคารใหม่ และบริษัทหลักทรัพย์ธนชาตก็จะกลายมาเป็นบริษัทย่อยของบริษัททุนธนชาต
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- การจัดอันดับเครดิตบริษัทหลักทรัพย์, 21 ธันวาคม 2560
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
?
บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (TNS)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
แนวโน้มเครดิตพินิจ: Negative