ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น” ที่ “BBB+” หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน ที่ “A-” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน วงเงินไม่เกิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 7, 2019 17:50 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ “A-” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ยืมที่จะครบกำหนดและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่ดีที่มีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมที่ครบวงจรด้วยการมีโครงข่ายที่ครอบคลุมทั้งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) จะยังคงให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีปัจจัยกดดันจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การแข่งขันที่รุนแรงทำให้รายได้ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตช้าลง

การเติบโตในระดับสูงของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทในในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ใช้บริการและการใช้งานด้านข้อมูลที่เติบโตสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งก็คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทจะยังคงเติบโตต่อไปในอนาคตแต่ด้วยอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าช่วงที่ผ่านมาด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ

ประการแรก จำนวนผู้ใช้บริการของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่บริษัทได้ลงทุนไปและเพื่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด อย่างไรก็ดี ผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนั้นเป็นผู้ใช้บริการในกลุ่มเติมเงินซึ่งส่วนมากแล้วจะได้รับการอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ ซึ่งในปี 2562 บริษัทต้องใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS 19) ที่ทำให้บริษัทต้องบันทึกต้นทุนค่าอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์ทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่าย (จากเดิมที่บันทึกเป็นสินทรัพย์และทยอยตัดจ่ายผ่านทางค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร) ทำให้คาดว่าบริษัทจะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการเพิ่มส่วนแบ่งผู้ใช้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเติมเงิน ดังนั้น เพื่อรักษาระดับการเติบโตของรายได้ บริษัทจำเป็นจะต้องรักษาฐานกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่พร้อมทั้งพยายามย้ายกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินไปเป็นลูกค้าระบบรายเดือนที่มีอัตราการยกเลิกการใช้งานต่ำกว่าและสร้างรายได้ในอัตราที่สูงกว่าให้ได้มากที่สุด

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตต่อไปคือความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรมทำให้ความสามารถของผู้ให้บริการในการที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตด้านข้อมูลดังกล่าวเป็นไปอย่างจำกัด การแข่งขันที่รุนแรงทำให้ผู้ให้บริการเสนอบริการการใช้งานข้อมูลแบบไม่จำกัด (Unlimited Data Plans) ส่งผลทำให้รายได้ของผู้ให้บริการเติบโตได้ไม่เต็มที่ โดยในปี 2561 ตลาดรวมของธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งวัดจากรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) เติบโตเพียง 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 2.61 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 5.5% ต่อปีในช่วงปี 2559-2560

ความต้องการใช้งานด้านข้อมูลจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต อย่างไรก็ดี ระดับการแข่งขันก็จะยังคงสูงอยู่ วินัยในการแข่งขันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ให้บริการได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเติบโตของความต้องการด้านข้อมูลและเป็นปัจจัยหลักในการสร้างรายได้เพื่อจากการลงทุนจำนวนมากในด้านคลื่นความถี่และโครงข่าย

สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 5%-9% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดและคุณภาพโครงข่ายของบริษัท สมมติฐานดังกล่าวยังได้รวมถึงการคาดการณ์ว่าการแข่งขันจะมีความสมเหตุสมผลมากขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการต่าง ๆ เริ่มยกเลิกการให้บริการการใช้งานข้อมูลแบบไม่จำกัด

ในปี 2561 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่า IC เติบโตที่ระดับ 7.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ 7.28 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งเล็กน้อยอันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรง

การตกลงระงับข้อพิพาทกับ กสท. ช่วยยุติความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายในหลายกรณี

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 บริษัทได้ทำข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (กสท.) ในหลายกรณี ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานทางการเงินของบริษัทระบุว่าบริษัทได้ตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทหลักให้แก่ กสท. และตกลงจะจ่ายเงินจำนวน 1.57 หมื่นล้านบาทเป็นค่าตอบแทนในการที่บริษัทจะใช้สิทธิ์ในเสาสัญญาณดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าวอีก 1.1 พันล้านบาทด้วย ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับ กสท. ในหลาย ๆ กรณีซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมจำนวน 7.5 หมื่นล้านบาทหมดไป

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย (Access Charge) หรือการประเมินภาษีสรรพสามิต และอื่น ๆ ยังคงดำรงอยู่และจะยังไม่มีผลสิ้นสุดในเร็ววันนี้ โดยที่อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท

คงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ทรูออนไลน์ (TrueOnline) ยังคงความเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 38% ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าการแข่งขันจะมีความรุนแรงขึ้นก็ตาม สถานะในการแข่งขันของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทมีโครงข่ายส่งสัญญาณไฟเบอร์แบบ Fiber to the Home (FTTH) ที่ครอบคลุมกว่า 13 ล้านครัวเรือน (จากทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ) โดยในปี 2561 บริษัทมีลูกค้าที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวมประมาณ 3.48 ล้านรายและมีรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13% โดยอยู่ที่ 2.19 หมื่นล้านบาท

แม้การแข่งขันในเมืองใหญ่จะทวีความรุนแรงโดยเฉพาะการแข่งขันจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทจะยังคงเติบโตจากการมีข้อได้เปรียบจากโครงข่าย FTTH ที่บริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้าคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอาจอยู่ในระดับที่ช้าลงอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้บริษัทไม่สามารถเพิ่มค่าบริการต่อผู้ใช้งาน (Average Revenue Per User -- ARPU) ให้สูงขึ้น หรืออาจจะต้องลด ARPU ลงในหลายพื้นที่เพื่อรักษาลูกค้า นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการรายใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ไม่สูงนักซึ่งทำให้บริษัทไม่สามารถตั้ง ARPU ให้สูงขึ้นได้

สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของทรูออนไลน์จะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 5%-9% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โดยมาจากการเติบโตของธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นหลัก

ในปี 2561 ทรูออนไลน์มีรายได้ที่ไม่รวมการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (Digital Telecommunications Infrastructure Fund -- DIF) จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยรายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงเติบโตได้ดี แต่บริษัทไม่มีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานหลังสิ้นสุดสัมปทานในเดือนตุลาคม 2560

สภาวะที่ท้าทายในการดำเนินธุรกิจทรูวิชั่นส์

ทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) จะยังคงเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล การรับชมรายการผ่านสื่อออนไลน์ที่อาศัยการส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งในรูปแบบ Over-the-Top (OTT) และแบบ Direct-to-Consumer (DTC) เช่น Netflix ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีความยืดหยุ่นในการชมสื่อบันเทิงเพิ่มขึ้นมากซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับชมรายการต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้บริโภคนิยมการรับชมรายการผ่านช่องทาง OTT และ DTC มากขึ้นเมื่อเทียบกับการรับชมผ่านการออกอากาศทางโทรทัศน์แบบเดิม การแข่งขันจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นทั้งในรูปแบบของการจัดหารายการ (Content) และการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ทั้งจากค่าสมาชิกและจากค่าโฆษณาในทุก ๆ ช่องทาง แม้ว่าบริษัทจะพยายามรับมือกับความเปลี่ยนแปลงโดยการพัฒนาช่องทาง OTT ของตนเองคือ TrueID แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการสร้างรายได้จากช่องทางดังกล่าว

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของทรูวิชั่นส์จะคงตัวในระหว่างปี 2562-2564 โดยอยู่ที่ระดับ 9-10 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง

มองว่าบทบาทของทรูวิชั่นส์จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมกลยุทธ์ Convergence ของกลุ่มในระยะสั้นถึงระยะกลาง หลังจากนั้นบริษัทจะต้องพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ เนื่องจากธุรกิจโทรทัศน์ระบบสมาชิก และโทรทัศน์แบบเดิมอาจไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป

คาดหวังให้ผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นเพื่อเสริมสถานะทางการเงิน

ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทมีการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการประหยัดจากขนาดจากการให้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงความพยายามในการจัดการต้นทุนเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานซึ่งจะช่วยสนับสนุนสถานะทางการเงินโดยรวมในขณะที่ภาระหนี้ของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงปี 2562-2564 สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ 1.38-1.50 แสนล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตรากำไรของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันโดยเฉพาะในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะดีขึ้นได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมต้นทุนดำเนินงาน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 30%-34% และเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 3.0-3.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564

ในปี 2561 หากไม่รวมรายได้จากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลและรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้ว บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 1.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า โดยมีอัตราส่วนกำไรอยู่ที่ระดับ 29.5% และมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่จำนวน 2.48 หมื่นล้านบาท

การยืดอายุการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ลดความกดดันเรื่องกระแสเงินสด

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องเข้าร่วมการจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรับเงื่อนไขการขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์และรับการจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์

ตารางการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์เดิมกำหนดให้บริษัทชำระเงินจำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2562 และ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 แต่ตารางการชำระค่าใบอนุญาตใหม่กำหนดให้บริษัทชำระ 4 พันล้านบาทในปี 2562 และ 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และปีละ 7.6 พันล้านบาทในระหว่างปี 2564-2568 ซึ่งการขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตดังกล่าวจะช่วยลดความกดดันด้านกระแสเงินสดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563

อย่างไรก็ดี การที่บริษัทต้องรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์เพื่อแลกกับการขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์จะเพิ่มภาระหนี้สินทางการเงินให้แก่บริษัทและจะทำให้โครงสร้างหนี้ของบริษัทอ่อนแอลง ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานว่าใบอนุญาตใช้คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์จะมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท การชำระค่าคลื่นความถี่จะแบ่งออกเป็น 10 งวดและจะเริ่มชำระงวดแรกในช่วงปลายปี 2563 เนื่องจากทริสเรทติ้งถือว่าค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์เป็นหนี้สินทางการเงิน ดังนั้น บริษัทจะมีภาระหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นอีก 2.5 หมื่นล้านบาทเมื่อบริษัทได้รับการจัดสรรใบอนุญาตซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2562

ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงอันเป็นผลมาจากภาระหนี้ที่เกิดจากต้นทุนใบอนุญาตคลื่นความถี่และการลงทุนขยายโครงข่ายในระยะเวลาที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานะทางการเงินของบริษัทจะยิ่งอ่อนแอลงจากภาระหนี้ที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจากการมีภาระจ่ายชำระค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนมาก ตลอดจนค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ และภาระผูกพันจากการเช่าดำเนินงาน และมีหนี้เพิ่มเติมจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนขยายโครงข่าย FTTH และโครงข่าย 4G (Fourth Generation) จำนวนมาก โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นการชำระค่าลงทุนจากคู่ค้าเป็นเวลา 2 ปีและจะแบ่งชำระเป็นงวดในระยะ 5 ปีโดยจะเริ่มในปี 2561 ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทยังคงสูงอยู่ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีภาระด้านค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวม 4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563 และประมาณ 3.6-3.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 มูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันจากการเช่าดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 6.5-7.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564

ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เกินกว่า 7 เท่าในปี 2562 และจะอยู่ที่ 6-7 เท่าในช่วงปี 2563-2564 เทียบกับ 6.8 เท่าในปี 2561 EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงได้หากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อ EBITDA สูงเกินกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ว่าการลงทุนในเทคโนโลยี 5G (Fifth Generation) จะยังไม่สูงมากนักในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากยังเป็นระยะเริ่มแรกของการพัฒนา อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีถ้าเกิดขึ้นเร็วกว่าคาดก็จะเป็นความเสี่ยงต่อบริษัทเนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนใหญ่อีกครั้ง

โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลง

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนตัวลงในปี 2561 โดยมีสาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวซึ่งเกิดจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานรวม 1.31 หมื่นล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการระงับข้อพิพาทที่มีกับ กสท. จำนวน 1.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 69% ในปี 2561 โดยอ่อนตัวลงจากระดับ 65% ในปี 2560

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอ่อนตัวลงอีกในปี 2562 จากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS 15) ที่ทำให้บริษัทต้องตัดจ่ายต้นทุนการได้มาของผู้ใช้บริการประมาณ 1 หมื่นล้านบาทออกจากกำไรสะสม ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 74%-76% ในระหว่างปี 2562-2564

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า บริษัทจะมีสภาพคล่องที่ตึงตัวแต่ก็คาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการได้ แหล่งสภาพคล่องหลักของกลุ่มบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2561 อีกประมาณ 2.07 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ค่าใบอนุญาตที่ต้องชำระตามกำหนด 4 พันล้านบาท เงินปันผลจ่าย 3 พันล้านบาท และหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระรวม 8.73 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระยะสั้นที่จะต้องออกหุ้นกู้ใหม่ทดแทน หุ้นกู้มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาทที่บริษัทจะออกในครั้งนี้ส่วนหนึ่งจะใช้เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยบริษัทยังมีความยืดหยุ่นจากการที่บริษัทสามารถขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทในกรณีที่จำเป็น

?

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 5%-9% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564

• อัตราส่วนกำไรจะอยู่ที่ระดับประมาณ 30%-34%

• ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563 และประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564

• บริษัทจะรับเงื่อนไขการขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์และรับการจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 2.5 หมื่นล้านบาท

• บริษัทจะต้องชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่รวมจำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2562 จำนวน 2.45 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และจำนวน 1 หมื่นล้านบาทในปี 2564

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้และจะมีผลการดำเนินงานที่ดีในกลุ่มธุรกิจหลักซึ่งได้แก่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักของบริษัททั้ง 2 รายคือเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile อย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพเครดิตของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาถึงฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลทำให้กระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอันจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาระหนี้สินทางการเงินที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อ EBITDA สูงเกินกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย หรือการประเมินภาษีสรรพสามิตยังคงดำรงอยู่และใช้เวลาในการพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TRUE205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,121.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TRUE212A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,337.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,246 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE221B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน 8,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 6 ปี BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ