ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย ที่ระดับ “AA” และคงอันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นของธนาคารที่ระดับ “T1+” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะเครดิตของ RHB Bank Berhad, Malaysia (RHB Bank Berhad) ซึ่งเป็นธนาคารสำนักงานใหญ่ อีกทั้งยังสะท้อนสถานะสภาพคล่องของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ด้วย ทั้งนี้ ด้วยสถานะทางกฎหมายที่เป็นธนาคารสาขา ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับ RHB Bank Berhad ในประเทศมาเลเซีย
อันดับเครดิตองค์กรของธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย อยู่บนพื้นฐานการประเมินผลการดำเนินงานของ RHB Bank Berhad โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงจากการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย การมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ดี และเงินสำรองค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพที่แข็งแกร่งขึ้นของ RHB Bank Berhad ด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากความสามารถในการทำกำไรของ RHB Bank Berhad ที่อยู่ในระดับปานกลาง รวมถึงการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมในระดับค่อนข้างสูงเนื่องจากฐานเงินฝากของธนาคารอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
การที่ RHB Bank Berhad ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศมาเลเซีย การพิจารณาอันดับเครดิตจึงประเมินรวมไปถึงความแข็งแกร่งและสถานะความเสี่ยงของเศรษฐกิจและระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมของประเทศมาเลเซียด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางของประเทศมาเลเซียด้วยแหล่งรายได้ที่หลากหลาย
RHB Bank Berhad เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศมาเลเซียจากจำนวนธนาคารพาณิชย์ในประเทศทั้งสิ้น 8 แห่ง นอกจากกิจการธนาคารแล้ว RHB Bank Berhad ยังประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริการจัดการสินทรัพย์โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อยต่าง ๆ ด้วย อาทิ RHB Investment Bank Berhad ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์ RHB Insurance Berhad ในส่วนของธุรกิจประกันภัย และ RHB Asset Management Sdn Bhd ในส่วนของธุรกิจบริการจัดการสินทรัพย์
RHB Bank Berhad มีสถานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงเมื่อพิจารณาจากสถานะทางการตลาดและแหล่งรายได้ โดยธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของสินเชื่อภายในประเทศและเงินฝากรายย่อย ณ เดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 9% ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิคิดเป็น 73% ของรายได้รวม และมีรายได้จากค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นคิดเป็น 14% ของรายได้รวมในปี 2561 รายได้จากกลุ่มลูกค้ารายย่อย (รวมธุรกิจประกันภัย) กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ และกลุ่มลูกค้าธุรกิจมีสัดส่วน 36% 22% และ 15% ในปี 2561 ตามลำดับ
RHB Bank Berhad มีกิจการอยู่ในเกือบทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจในต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ ในปี 2561 ธุรกิจในต่างประเทศสร้างรายได้ให้แก่ธนาคารคิดเป็น 7% ของรายได้รวม ในขณะที่สินเชื่อจากธุรกิจในต่างประเทศคิดเป็น 9% ของสินเชื่อรวม โดยฐานธุรกิจระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของธนาคารอยู่ในประเทศสิงคโปร์
กลยุทธ์เน้นขยายฐานธุรกิจภายในประเทศและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ลูกค้ารายย่อยเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดของของ RHB Bank Berhad จากสัดส่วนของการส่งรายได้ เมื่อพิจารณาจากการปล่อยสินเชื่อแล้ว สินเชื่อรายย่อยส่วนบุคคลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 50% และ 32% ของสินเชื่อรวมของธนาคารตามลำดับ ส่วนสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ภายในประเทศนั้นคิดเป็น 26% และ 14% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2561
ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ธนาคารได้ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ 5 ปี หรือ “FIT22” โดยให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจในประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความมั่งคั่งและกลุ่มลูกค้า SME และการแสวงหาโอกาสเฉพาะรายในธุรกิจในต่างประเทศ กลยุทธ์ดังกล่าวขับเคลื่อนโดยการปรับกระบวนการทำงานภายใต้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation Programme) และวิธีการทำงานซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิผล เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ และยกระดับคุณภาพในการให้บริการ (วิธีการทำงานแบบ AGILE)
สถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
RHB Bank Berhad มีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ BASEL-III อยู่ที่ระดับ 15.5% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 83% ของเงินกองทุนรวม ทริสเรทติ้งมองว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับการเติบโตของธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าได้ ในขณะที่แหล่งรายได้ที่หลากหลายยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งของธนาคารอีกด้วย
ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะอยู่ภายใต้แรงกดดันในระยะปานกลางแม้ว่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2560 และปี 2561 ก็ตาม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.97% ในปี 2561 จากระดับ 0.84% ในปี 2560 อันเนื่องมาจากอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้นและต้นทุนทางเครดิตที่ปรับลดลง ส่งผลทำให้อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 2.11% ในปี 2561 จากระดับ 1.80% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางของมาเลเซียคือ Bank Negara Malaysia (BNM) ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายข้ามคืน (Overnight Policy Rate -- OPR) ขึ้นอีก 25 จุด (Basis Points – bps) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งถือเป็นเงินกู้หลักประเภทหนึ่งของธนาคารนั้นอาจเป็นปัจจัยกดดันต่ออัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าได้ และเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร RHB Bank Berhad จึงเน้นยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจสู่กลุ่มลูกค้า SME ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง ตลอดจนการขยายฐานเงินฝากต้นทุนต่ำ และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยธนาคารยังคาดหวังว่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมไว้ที่ระดับ 49% ในปี 2562 ในขณะที่มีแผนการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
คุณภาพสินทรัพย์และเงินสำรองปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งคาดว่า RHB Bank Berhad จะสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมให้อยู่ในระดับที่ดีได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในอนาคต คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2561 ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดชั้นจากสินเชื่อด้อยคุณภาพมาเป็นสินเชื่อปกติของสินเชื่อรายใหญ่ อัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพสุทธิต่อเงินให้สินเชื่อรวมลดลงสู่ระดับ 2.06% ณ สิ้นปี 2561 จากระดับ 2.23% ในปีก่อนหน้า ในขณะที่มูลค่ารวมของสินเชื่อดังกล่าวลดลง 2.4% ต้นทุนทางเครดิตก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 19 จุดในปี 2561 จาก 26 จุดในปี 2560 ซึ่งธนาคารคาดว่าต้นทุนทางเครดิตในปี 2562 นั้นจะอยู่ในระดับคงเดิม อัตราส่วนการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพหลังการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (MFRS9) ซึ่งไม่รวมการสำรองตามเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93% ณ สิ้นปี 2561 เทียบเคียงได้กับธนาคารพาณิชย์รายอื่นในประเทศมาเลเซีย โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 51% ณ สิ้นปี 2560
สถานะเงินทุนอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง
สถานะเงินทุนของ RHB Bank Berhad อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศมาเลเซีย ธนาคารพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าบางรายเนื่องจากฐานเงินฝากในกลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคารยังมีขนาดปานกลางอยู่ โดยมีสัดส่วนของเงินกู้ยืมต่อแหล่งเงินทุนอยู่ที่ระดับ 14% ณ สิ้นปี 2561 กลุ่มลูกค้าธุรกิจยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าเงินฝากกลุ่มหลักโดยมีสัดส่วนประมาณ 59% ณ สิ้นปี 2561 สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ต่อเงินรับฝากที่ระดับ 26% ณ สิ้นปี 2561 ยังอยู่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์มาเลเซียที่มีขนาดใหญ่กว่าบางราย สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ 94.4% ณ สิ้นปี 2561 นั้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
สภาพคล่องมีเพียงพอ
สภาพคล่องของ RHB Bank Berhad อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากทั้งหมดรวมตั๋วแลกเงินและการรับรองตั๋วแลกเงินอยู่ที่ระดับ 32.4% ณ สิ้นปี 2561 การลงทุนในสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีสภาพคล่อง รวมถึงตราสารในตลาดเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน นอกจากนื้ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นที่ระดับ “T1+” สะท้อนถึงสถานะเครดิตระยะยาวและฐานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศในประเทศไทย ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ยังอยู่ภายใต้เกณฑ์การดำรงสภาพคล่องที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธนาคารจะต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ ทั้งนี้ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสำนักงานใหญ่ รวมถึงตลาดเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร และวงเงินสำรองจาก ธปท. ก็ถือเป็นเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมของธนาคารด้วย นอกจากนื้ LCR ของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า RHB Bank Berhad จะสามารถดำรงสถานะทางการตลาด รวมถึงดำรงสถานะทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพ และสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ต่อไปโดยที่ไม่มีการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์ หรือความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสถานะสภาพคล่องอย่างรุนแรงแต่อย่างใด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของ RHB Bank Berhad อาจได้รับผลกระทบในทางลบหากมีการเสื่อมถอยอย่างรุนแรงของสถานะเงินทุน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสภาพคล่อง ส่วนผลกระทบในทางบวกนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารในการปรับปรุงสถานะทางการตลาด รวมถึงความสามารถในการหาแหล่งเงินทุน และความสามารถในการทำกำไรให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการในการจัดอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์, 30 มีนาคม 2560
- วิธีการจัดอันดับเครดิตหนี้ระยะสั้น, 31 ตุลาคม 2550
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html