ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ระดับ “AAA” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจัดหาไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นเจ้าของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงทั่วทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว ในการประเมินอันดับเครดิตดังกล่าวยังได้พิจารณาถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ กฟผ. และการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศ
สถานะทางธุรกิจของ กฟผ. สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย โดย กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่สำคัญในการผลิตและจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยมีโครงสร้างที่เป็นแบบผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Enhanced Single Buyer Model) ดังนั้น กฟผ. จึงเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดย กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าแบบขายส่งให้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้า
นครหลวง (กฟน.) ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 กฟผ. เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้า 45 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 14,533 เมกะวัตต์ คิดเป็น 34.2% ของกำลังการผลิตที่พึ่งพิงได้ในประเทศไทย โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือนั้นเป็นการรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในประเทศไทย 56.6% และนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และประเทศมาเลเซีย (9.1%)
เนื่องจาก กฟผ. เป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย กฟผ. จึงเป็นผู้บริหารศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center) เพื่อควบคุมกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับความต้องการไฟฟ้าของทั้งประเทศอีกด้วย โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ตลอดจนโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนและโรงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยล้วนอยู่ภายใต้การบริหารของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติดังกล่าว
ประวัติการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในไทยเป็นที่ยอมรับ
กฟผ. มีประวัติผลงานที่ได้รับการยอมรับโดยมีประสบการณ์ในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภทมาเกือบ 50 ปี ทั้งนี้
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 กฟผ. เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 7,358 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3,647 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3,488 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าน้ำมันดีเซล 40 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีความเชี่ยวชาญในระดับสูงและมีผลงานที่ได้รับการยอมรับในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย
รายได้ที่แน่นอนจากลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือ
ไฟฟ้าที่ กฟผ. ผลิตและจัดหามาเกือบทั้งหมดจะจำหน่ายต่อให้แก่ กฟภ. (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA” โดย
ทริสเรทติ้ง) (70.4%) และ กฟน. (28.4%) ทั้ง กฟภ. และ กฟน. ต่างก็เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทย โดย กฟภ. รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตต่างจังหวัด ในขณะที่ กฟน. รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนครหลวง (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี)
ค่าไฟฟ้าได้รับการชดเชยเงินลงทุน
ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และออกแบบให้ กฟผ. ได้รับการชดเชยเงินลงทุนจากค่าไฟฟ้า โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันได้กำหนดบนพื้นฐานของอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Return on Invested Capital -- ROIC) ที่ระดับ 5.69% สำหรับ กฟผ. ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนการลงทุนนี้มีเป้าหมายที่จะให้ กฟผ. มีกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับการลงทุนทั้งในส่วนของการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงใดใดที่เกี่ยวกับราคาเชื้อเพลิงหรือราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ก็จะมีการนำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อกำหนดค่าปรับปรุงเชื้อเพลิง หรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) ก่อนที่จะกำหนดเป็นค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป โดย กกพ. จะคำนวณและประกาศการเปลี่ยนแปลงค่า Ft ในทุก 4 เดือน ดังนั้น กฟผ. มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงที่จำกัด
นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง
กฟผ. มีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง โดย กฟผ. มีการดำรงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีนโยบายสำหรับการรักษาอัตราส่วนทางการเงินเพื่อรักษาวินัยทางการเงินให้มั่นคงอีกด้วย ซึ่งประกอบด้วย การรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน (Debt to Equity Ratio) ที่ไม่เกิน 1.5 เท่า อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financial Ratio) ที่ไม่ต่ำกว่า 25.0% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ที่ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า เป็นต้น
?
ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
กฟผ. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2561 กฟผ. มีหนี้สินทางการเงินปรับปรุงแล้วรวม 313,311 ล้านบาทซึ่งรวมภาระผูกพันในการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตอื่น (หนี้สินตามสัญญาเช่าทางการเงิน-โรงไฟฟ้า) จำนวน 265,841 ล้านบาทด้วย กฟผ. มีโครงสร้างเงินทุนที่เข้มแข็งโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ 40.9% ณ สิ้นปี 2561
กฟผ. มีสภาพคล่องที่แข็งแรง โดยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 93,539 ล้านบาท รวมทั้งวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 10,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 85,000 ล้านบาท ในขณะที่ กฟผ. มีภาระที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวและพันธบัตรรวมจำนวนประมาณ 9,500 ล้านบาท
ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่
กฟผ. ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ระบุว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ กฟผ. ในกรณีที่รายได้ของ กฟผ. ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายซึ่งรวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยและการชำระคืนหนี้สิน
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตหสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทย
ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) นั้น โครงสร้างการจัดหาไฟฟ้าของประเทศไทยจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ (Centralized Generation) เป็น การผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Distributed Generation) การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ พัฒนาการของดิจิตอลเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และเชื่อมต่อเข้าหากันผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ได้
ทริสเรทติ้งเห็นว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อความต้องการไฟฟ้าจาก กฟผ. ในระยะยาว ไฟฟ้าที่ผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้เองและ/หรือขายตรง (Independent Power Supply) จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 13% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2561 เป็นประมาณ 17% ในปี 2580 ในขณะที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะมีกำลังการผลิตลดลงจาก 34% ของกำลังการผลิตในประเทศไทยเหลือ 24% ในปี 2580 แม้ว่าบทบาทของ กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะลดลงในอนาคต แต่ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่า กฟผ. จะยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดหาและดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศต่อไปในระยะยาว
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• ประมาณการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ 3.7%-3.9% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564
• กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ของ กฟผ. คาดว่าจะอยู่ที่ 120,000-125,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564
• ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนของ กฟผ. คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 163,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2562-2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟผ. จะยังคงดำรงบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไปเช่นเดิม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐจนส่งผลให้สถานะในการเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟผ. เปลี่ยนแปลงไป หรือบทบาทของ กฟผ. ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยลดความสำคัญลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Rating Methodology for Government-Related Entities, 6 มิถุนายน 2560
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable