ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AAA” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ การประเมินอันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงการที่บริษัทมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวส่วนใหญ่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับอันดับเครดิตระดับ “AAA” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดจำนวนมากที่คาดการณ์ได้ นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและ กฟผ. รวมถึงนโยบายทางการเงินที่มีความระมัดระวัง และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทตลอดช่วงการขยายธุรกิจอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ
บริษัทยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในประเทศไทย โดยบริษัทยังคงเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2562 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้า (กำลังการผลิตตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของในแต่ละโรงไฟฟ้า) ที่ดำเนินงานแล้วทั้งสิ้น 6,938 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,672 เมกะวัตต์ในปี 2564 เมื่อโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเริ่มดำเนินงานทั้งหมด โดยกำลังการผลิตใหม่นี้จะทำให้บริษัทยังคงสถานะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศต่อไป
บริษัทมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีกจำนวนมาก อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
เซเปียน-เซน้ำน้อยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) การขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กนวนครในประเทศไทย โรงไฟฟ้ากังหันลม Collector ในประเทศออสเตรเลีย โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Fangchenggang ในประเทศจีน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau ในประเทศอินโดนีเซีย
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
กระแสเงินสดของบริษัทสามารถคาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. นั้นมีโครงสร้างราคาไฟฟ้าบนพื้นฐานของความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านการตลาด นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวยังมีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงให้แก่ กฟผ. อีกด้วย ดังนั้น กระแสเงินสดของบริษัทจึงมีความแน่นอนตราบเท่าที่บริษัทดำรงความพร้อมของโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามเป้าหมายของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าตามคำสั่งของ กฟผ.
โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทบรรลุเป้าหมายความพร้อมจ่ายทุกปีในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โดยโรงไฟฟ้าหงสาซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของบริษัทก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการดำเนินงานที่ดีขึ้นหลังจากที่มีการแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2562 ประมาณ 82% ของกำลังการผลิตของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ในขณะที่ผู้ซื้อไฟฟ้าที่เหลือประกอบด้วย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ((กฟภ.) ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA” โดยทริสเรทติ้ง) บริษัทสาธารณูปโภคภูมิภาคในประเทศออสเตรเลีย Electricite du Laos ใน สปป. ลาว รวมถึง Perusahaan Listrik Negara (PLN) ในประเทศอินโดนีเซีย และลูกค้าอุตสาหกรรมทั่วไป
มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับ กฟผ.
บริษัทมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับ กฟผ. ทั้งในด้านโครงสร้างการถือหุ้นและการดำเนินงานโรงไฟฟ้า กล่าวคือ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 45% นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งในปี 2543 นอกจากนี้ กฟผ. ยังเป็นผู้ให้บริการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่สำคัญของบริษัทภายใต้สัญญาดำเนินงานและซ่อมบำรุง เช่น โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน กฟผ. ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของโรงไฟฟ้าของบริษัทที่อยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) อีกด้วย ทั้งนี้ สถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ กฟผ. ช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านคู่ค้าให้แก่บริษัทได้เป็นอย่างดี
พัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบให้บริษัทเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ 2 แห่ง ในภาคตะวันตกที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018)
ตามแผน PDP2018 นั้น โรงไฟฟ้าใหม่ 2 แห่งมีกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์จะตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันตกของประเทศ โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกขนาด 700 เมกะวัตต์จะเปิดดำเนินงานในปี 2567 เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ซึ่งจะปลดออกจากระบบในปี 2563 ส่วนโรงไฟฟ้าอีกแห่งนั้นจะเริ่มดำเนินงานในปี 2568
ต้นทุนค่าก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ของบริษัทน่าจะต่ำกว่าของผู้ประกอบการรายอื่นเนื่องจากบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมได้อย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงการ
ขยายการลงทุนไปสู่โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน
บริษัทได้ขยายขอบเขตการลงทุนไปยังโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ โดยในปี 2560 บริษัทได้ร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในประเทศไทยโดยบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในสัดส่วน 10% มูลค่าการลงทุน 2,800 ล้านบาทในโครงการ นอกจากนี้ ในช่วงปี 2561-2562 บริษัทยังได้ลงทุนในโครงการผลิตน้ำประปาใน สปป. ลาว และโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดินในประเทศไทยอีกด้วย การลงทุนในทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 500-550 ล้านบาท
มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถดำรงความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดต่อไปได้ โดยเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนของบริษัท นั้นจะช่วยลดผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงของโรงไฟฟ้าราชบุรี บริษัทมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าหงสา โรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เป็นต้น โดยคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ประมาณปีละ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3 เท่าในช่วงปี 2563-2564 จากระดับ 1.9 เท่า ณ สิ้นปี 2561 โดยอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากแผนการลงทุนของบริษัทในระยะ 3 ปีข้างหน้าเป็นหลัก
มีภาระหนี้ต่ำ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะรักษาความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุนเอาไว้ได้ในช่วงที่มีการลงทุนเพื่อสร้างความเติบโต โดย
ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 17,651 ล้านบาทและมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ระดับ 22.5% เมื่อพิจารณาถึงแผนการลงทุนของบริษัทในระหว่างปี 2562-2564 แล้ว อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 35% ณ สิ้นปี 2563 แต่จะทยอยลดลงหลังจากนั้น
มีสภาพคล่องที่มากเพียงพอ
บริษัทมีสภาพคล่องที่มากพอโดยมีแหล่งที่มาของเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 15,500 ล้านบาทและเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท แหล่งเงินทุนเหล่านี้ถือว่าเพียงพอสำหรับการลงทุนและการใช้จ่ายของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ที่จะต้องชำระคืนจำนวน 4,000 ล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในบริษัทร่วมอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากกรณีเขื่อนทรุดตัว
การเปิดดำเนินงานโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยต้องล่าช้าไปจากแผนเดิมเนื่องจากเกิดเหตุเขื่อนกั้นน้ำทรุดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 โดยบริษัทมีแผนจะเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์โครงการดังกล่าวครั้งใหม่ในเดือนธันวาคม 2562 เลื่อนจากแผนเดิมที่กำหนดไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความล่าช้าดังกล่าวมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อบริษัท ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีการทำประกันความเสียหายสำหรับบุคคลที่สามซึ่งคาดว่าจะสามารถชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนค่าปรับที่จะต้องจ่ายให้แก่ กฟผ. จากการเปิดดำเนินงานล่าช้านั้นคาดว่าจะได้รับการชดใช้จากผู้รับเหมาโครงการด้วยเช่นกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 10,000-11,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2562-2564
• เงินปันผลที่จะได้รับจากการลงทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564
• ค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในบริษัทร่วม รวมถึงโครงการที่มีศักยภาพสูงจะอยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาทในช่วงปี 2562-2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว และทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 35% เมื่อพิจารณาจากแผนการเติบโตและการลงทุนของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับลดลงในกรณีที่บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable