ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงขนาดทางธุรกิจที่เล็กแม้ว่ารายได้และกำไรของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเติบโตเพียงเล็กน้อยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังคำนึงถึงสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนในระดับปานกลาง และความกังวลในภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นธุรกิจขนาดเล็ก
ในมุมมองของทริสเรทติ้งบริษัทมีขนาดทางธุรกิจที่เล็กแม้ว่าจะมีการขยายไปยังหลากหลายธุรกิจก็ตาม โดยรายได้ของบริษัทเติบโตเพียงเล็กน้อยในแต่ละปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2,783 ล้านบาทในปี 2561 จาก 2,337 ล้านบาทในปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2561 จากประมาณ 450 ล้านบาทในปี 2557
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ประมาณ 60% ของบริษัทมาจากธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า รายได้ 20% มาจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และ 15% มาจากธุรกิจโรงแรม ในขณะที่รายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าและรายได้ค่าบริการมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย
ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเติบโตเล็กน้อยในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลง
เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ มูลค่าสินเชื่อคงค้างของบริษัทจึงเติบโตค่อนข้างช้า โดยเพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนเป็น 4,054 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2561 และลดลงเล็กน้อยเป็น 4,002 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 อัตราผลตอบแทนจากธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อค่อนข้างคงที่โดยอยู่ที่ 28%-29% ในช่วงปี 2558 ถึง 3 เดือนแรกของปี 2562 รายได้ดอกผลเช่าซื้อจากการให้สินเชื่อแก่ผู้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2561 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ดอกผลเช่าซื้อจากธุรกิจให้บริการสินเชื่อดังกล่าวจะอยู่ที่ 1,000-1,200 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โดยบริษัทจะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 28%
คุณภาพของสินเชื่อคงค้างของบริษัทอ่อนแอลงเนื่องจากสถานะทางเครดิตของกลุ่มลูกค้าที่แย่ลงจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วันต่อสินเชื่อรวม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.7% ณ เดือนมีนาคม 2562 จาก 4.5% ณ เดือนธันวาคม 2560 และ 4.2% ณ เดือนธันวาคม 2559 ความเพียงพอในการตั้งสำรองของบริษัทค่อนข้างน้อยกว่าคู่แข่งโดยอยู่ที่ 85% ณ สิ้นปี 2561 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสำรองดังกล่าวยังเพียงพอเนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ คาดว่าการตั้งสำรองจะเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS 9 ในปี 2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ต่ำกว่า 6.0% เอาไว้ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากการที่บริษัทจะปรับปรุงกระบวนการเก็บเงินและกระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่รัดกุมมากขึ้น
ธุรกิจโรงแรมยังมีขนาดเล็กแต่มีแนวโน้มเติบโต
ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจโรงแรมของบริษัทยังคงมีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการโรงแรมรายอื่น ๆ ณ ปัจจุบัน บริษัทมีโรงแรมที่อยู่ในการดำเนินงาน 7 แห่งในกรุงเทพฯ หัวหิน กาญจนบุรี นครปฐม และระยอง โดยมีจำนวนห้องพักทั้งหมด 942 ห้อง รายได้จากธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2561 และ 126 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2562 สัดส่วนของรายได้จากโรงแรมในต่างจังหวัดคิดเป็นประมาณ 70% ของรายได้โรงแรมทั้งหมดในช่วงปี 2560 ถึงไตรมาสแรกของปี 2562 ที่เหลือมาจากโรงแรมในกรุงเทพฯ
ผลการดำเนินงานของโรงแรมในต่างจังหวัดต่ำกว่าโรงแรมในกรุงเทพฯ อย่างมาก โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมในกรุงเทพฯเกินกว่า 70% ในช่วงปี 2559 ถึง 3 เดือนแรกของปี 2562 ในขณะที่อัตราการเข้าพักของโรงแรมในต่างจังหวัดค่อนข้างต่ำที่ประมาณ 40%-50% อัตราค่าเช่าเฉลี่ยของโรงแรมในกรุงเทพฯอยู่ที่ 900-1,000 บาทต่อห้องต่อคืน ในขณะที่อัตราค่าเช่าเฉลี่ยของโรงแรมในต่างจังหวัดอยู่ที่ 1,000-3,000 บาทต่อห้องต่อคืน ทำให้รายได้ค่าห้องพักเฉลี่ยต่อจำนวนห้องทั้งหมดของทุกโรงแรมอยู่ที่ 600-800 บาทต่อห้องต่อคืนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าอัตราการเข้าพักโดยรวมของโรงแรมจะอยู่ที่ประมาณ 60% และอัตราค่าเช่าเฉลี่ยของโรงแรมแต่ละแห่งจะเติบโตอย่างน้อย 3% ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
?
ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีขนาดค่อนข้างเล็ก
ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทมีขนาดค่อนข้างเล็ก แม้ว่าบริษัทจะมีประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจนี้แต่รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่แค่ 500-600 ล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ โครงการของบริษัทส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แต่ในจังหวัดนครปฐมด้วย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 โครงการระหว่างการพัฒนาของบริษัทประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรร 11 โครงการ โครงการคอนโดมิเนียมตึกเตี้ย 2 โครงการและโครงการคอนโดมิเนียมตึกสูง 1 โครงการ มูลค่าเหลือขายทั้งหมดจำนวน 5,508 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงมูลค่าเหลือขายจำนวน 1,630 ล้านบาทของโครงการ The Panora Pattaya ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมตึกสูงโครงการแรกของบริษัทด้วย ทั้งนี้ โครงการระหว่างการพัฒนาทั้งหมดดังกล่าวมียอดขายแล้ว 31% และยอดโอนส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้ว 26% ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้เพียง 367 ล้านบาท โดยยอดขายมูลค่า 254 ล้านบาทจะส่งมอบให้กับลูกค้าในช่วงที่เหลือของปี 2562 และยอดขายส่วนที่เหลือจะส่งมอบให้กับลูกค้าในปี 2564
ในสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะอยู่ที่ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านบาทในปี 2564 ภายใต้การคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถส่งมอบโครงการ The Panora Pattaya ได้ตามเป้าหมาย อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะอยู่ที่ 29%-31% ในระยะเวลาที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับการซื้อที่ดินและการก่อสร้างจำนวน 500-600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 อีกด้วย
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนในระดับปานกลาง
ในประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปี 2562-2564 จากการขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในขณะที่บริษัทยังไม่มีแผนในการพัฒนาโรงแรมแห่งใหม่ในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้เนื่องจากบริษัทใช้เงินลงทุนในการพัฒนาโรงแรมไปแล้วค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุนให้ต่ำกว่า 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้ต่ำกว่า 1 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินควรอยู่ที่ประมาณ 5% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายควรอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 เท่า
บริษัทจำเป็นต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (ตามงบการเงินรวม) ให้ต่ำกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2562 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1 เท่า ดังนั้น จึงถือว่าบริษัทยังคงรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินอยู่ ในการนี้ ทริสเรทติ้งหวังว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
สภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัวแต่สามารถจัดการได้
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 2,859 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ 2,066 ล้านบาท เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน 782 ล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อ 11 ล้านบาท ทั้งนี้ สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือ 180 บาท เงินต้นจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งจะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี 1,685 ล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานตามประมาณการในช่วง 12 เดือนข้างหน้า 250 บาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้โครงการจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 899 ล้านบาทซึ่งจะเบิกใช้ได้ตามความคืบหน้าในการก่อสร้างของแต่ละโครงการ และยังมีสินทรัพย์ถาวรที่ปลอดภาระค้ำประกันมูลค่า 1,456 ล้านบาทซึ่งสามารถใช้เป็นหลักประกันสำหรับขอวงเงินกู้ใหม่ได้หากบริษัทมีความจำเป็น
ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนนั้นจะถูกทดแทนด้วยหุ้นกู้ที่ออกใหม่ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ตลาดตราสารหนี้อ่อนแอ บริษัทอาจต้องเผชิญความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ทดแทนหรือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นหากต้องการออกหุ้นกู้ใหม่ ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 5.2%-5.3% ในช่วงปี 2561 ถึงไตรมาสแรกของปี 2562 จาก 4.8% ในปี 2560 ในขณะที่เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจะชำระคืนด้วยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานส่วนหนึ่งและที่เหลือจะถูกทดแทนด้วยเงินกู้ใหม่
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งมีดังนี้
• มูลค่าสินเชื่อคงค้างคาดว่าจะอยู่ที่ 4,000-4,200 ล้านบาท ณ สิ้นปีของปี 2562-2564
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ควรอยู่ในระดับต่ำกว่า 6%
• ต้นทุนทางการเงินควรอยู่ระหว่าง 5.2%-5.5% ในขณะที่ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 28%
• อัตราการเข้าพักโดยรวมของโรงแรมจะอยู่ที่ประมาณ 60% โดยอัตราค่าเช่าเฉลี่ยของโรงแรมแต่ละแห่งจะเติบโตอย่างน้อย 3%
• เงินลงทุนสำหรับการซื้อที่ดินและการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยเท่ากับ 500-600 ล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานเอาไว้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ประมาณ 5% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับต่ำกว่า 10 เท่า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจากที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงโดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในขณะที่บริษัทยังมีข้อจำกัดในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเนื่องจากขนาดของธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กและสถานะทางการตลาดที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีกำไรและกระแสเงินสดมากขึ้นในขณะที่สถานะทางการเงินของบริษัทไม่ได้อ่อนแอลงจากระดับปัจจุบัน
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- การจัดอันดับเครดิตบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร, 7 พฤษภาคม 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html