ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.20 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ยืม
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ตลอดจนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจหลักของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางประการจากภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทและจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลักของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่ลดลงช้ากว่าที่คาดไว้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ภาระหนี้สินลดช้ากว่าคาด
ระดับภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการซื้อกิจการของ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (บิ๊กซี) ในปี 2559 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.10 แสนล้านบาท โดยบริษัทใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนบางส่วน ต่อมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 บริษัทยังได้ซื้อกิจการของ บริษัท ไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 3.00 พันล้านบาท ส่งผลให้หนี้สินทางการเงินสุทธิของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 1.54 แสนล้านบาทตลอดช่วงสิ้นปี 2561 จนถึงเดือนมีนาคม 2562 จากระดับประมาณ 1.53 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2560
แผนการลดภาระหนี้สินของบริษัทมีอุปสรรคจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอและจากการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้การเติบโตของกำไรและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่ำกว่าเป้าหมาย อีกทั้งยังส่งผลให้แผนการลดภาระหนี้สินของบริษัทเป็นไปได้ช้ากว่าประมาณการครั้งก่อน โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 7 เท่าในระหว่างปี 2560 และปี 2561 และอยู่ที่ 7.3 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2562 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับภาระหนี้สินและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7.2 เท่า ณ สิ้นปี 2562 และประมาณ 6 เท่า ณ สิ้นปี 2563
เปลี่ยนมาเน้นการขยายร้านค้าปลีกขนาดเล็ก
บิ๊กซีเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) โดยมีจำนวนสาขามากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2562 บิ๊กซีบริหารไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 147 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดในประเทศไทย นอกจากนี้ บิ๊กซียังบริหารห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) อีกจำนวน 61 แห่งและร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ภายใต้ชื่อมินิบิ๊กซีอีกจำนวน 793 แห่งด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ชั้นนำในประเทศไทยต่อไปได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบิ๊กซีจะยังคงขยายสาขาร้านค้าปลีกอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศต่อไป โดยในปี 2562 บริษัทวางแผนจะขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 4 แห่งและซูเปอร์มาร์เก็ต 1 แห่งในประเทศไทย บิ๊กซีเพิ่มจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตในอัตราที่ลดลงกว่าปีก่อนเนื่องจากปัจจุบันบิ๊กซีเปลี่ยนมาเน้นการขยายร้านค้าปลีกขนาดเล็กเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันของผู้บริโภคและเพื่อเข้าถึงชุมชนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกขนาดเล็กยังใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าด้วย โดย
บิ๊กซีมีแผนจะขยายสาขาร้านค้าสะดวกซื้อจำนวน 300-350 สาขาต่อปี
นอกจากนี้ บิ๊กซียังกำลังสร้างโอกาสการเติบโตในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยจะขยายสาขาในประเทศกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ทั้งนี้ บิ๊กซีกำหนดจะเปิดให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขาที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 อีกทั้งยังได้ให้แฟรนไชส์มินิบิ๊กซีแก่ร้านสะดวกซื้อ M-Point Mart ใน สปป. ลาว ด้วย
มีสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์และสินค้าอุปโภคบริโภค
สถานะทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของสายธุรกิจหลักของบริษัท โดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายชั้นนำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียม รวมถึงธุรกิจกระดาษทิชชูและขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย
บริษัทเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายกระป๋องอะลูมิเนียมสำหรับเครื่องดื่ม โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 42% ของปริมาณจำหน่ายรวมในปี 2561 และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับที่ 2 ในธุรกิจขวดแก้วในสัดส่วน 37.7% ของปริมาณจำหน่ายรวมในตลาด ซึ่งใกล้เคียงกับผู้นำตลาด ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตขวดแก้วรวมมากกว่า 1.15 ล้านตันต่อปี ในขณะที่บริษัทสามารถผลิตกระป๋องอลูมิเนียมได้มากถึง 3,400 ล้านกระป๋องต่อปี โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานอยู่ในระดับสูงที่มากกว่า 80% ของกำลังการผลิตรวม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการมีฐานการผลิตและฐานลูกค้าขนาดใหญ่จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทกระดาษทิชชูและขนมขบเคี้ยวที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยมีตราสินค้าชั้นนำ เช่น “เซลล็อกซ์” “ซิลค์” “เทสโต” “โดโซะ” และ “ปาร์ตี้” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดีในประเทศไทย ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสร้างความแข็งแกร่งในตราสินค้าเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง
มีบริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นลูกค้าหลักในธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์
บริษัทได้รับคำสั่งซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์ในปริมาณมากจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องดื่มรายสำคัญของ บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทในเครือ (กลุ่มบริษัททีซีซี) โดยยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ให้แก่บริษัทไทยเบฟเวอเรจคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายขวดแก้วรวมที่บริษัทจัดจำหน่ายและคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของยอดขายกระป๋องอลูมิเนียม นอกจากจะจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มบริษัททีซีซีแล้ว บริษัทยังจัดจำหน่ายสินค้าบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอื่น ๆ นอกกลุ่มอีกด้วยเพื่อช่วยรักษาอัตราการใช้กำลังการผลิตให้อยู่ในระดับสูงสุด อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ลูกค้าสำคัญรายหนึ่งได้เปิดโรงงานผลิตกระป๋องอลูมิเนียมของตนเองและลดการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทลง ส่งผลให้ยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์โดยรวมของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2562 ลดลง 8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไร
ก็ตาม บริษัทคาดว่ารายได้จากสินค้าบรรจุภัณฑ์จะกลับมาเติบโตอีกภายในปี 2562 เพื่อชดเชยกับรายได้ที่ลดลงจากการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญนี้ไป
การทำกำไรเติบโตช้าลง
รายได้ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การที่บริษัทมีธุรกิจหลากหลายประเภทช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ในปี 2561 บริษัทมียอดขาย 1.56 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโต 5% จากปี 2560 และยอดขายเติบโตอีก 4% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตในระดับปานกลางในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากการเพิ่มจำนวนสาขาร้านค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงจากการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (Same-store Sales) และการเติบโตของรายได้ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนกลุ่มสินค้าทางเทคนิค และยังคาดว่ายอดขายในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์จะกลับมาเติบโตภายในปี 2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของสาขาเดิมในกลุ่มร้านค้าปลีกสมัยใหม่ของบิ๊กซีจะเติบโตเล็กน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า
บริษัททำกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 2.12 หมื่นล้านบาทในปี 2561 และอีกประมาณ 5.00 พันล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งลดลง 4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าประมาณการของทริสเรทติ้งในครั้งก่อนอันเป็นผลจากยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง และการมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ในระดับประมาณ 13.0% ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงความริเริ่มในการควบคุมต้นทุน การออกสินค้าใหม่ และการผสานพลังทางธุรกิจในด้านการกระจายสินค้าของกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเพื่อใช้สนับสนุนการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดและโฆษณา อีกทั้งใช้สำหรับการขยายสาขาร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั่วประเทศด้วย
ต้องใช้เงินกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้เดิม
บริษัทมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 24 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดจำนวน 6.36 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 และจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกจำนวน 1.60-1.90 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนโดยรวมประมาณ 2.65 หมื่นล้านบาทสำหรับช่วงปี 2562-2564 อีกทั้งเงินกู้ระยะยาวที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 3.00 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และอีกประมาณ 3.60 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนดังกล่าว
ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนอยู่ที่ 1.3 เท่า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะเติบโตในระดับปานกลางในช่วง 3 ปีข้างหน้า
• กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในระดับประมาณ 13.0% ในช่วงปี 2562-2564
• บริษัทจะใช้เงินลงทุนโดยรวมประมาณ 2.65 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่รวมเงินลงทุนเพื่อซื้อกิจการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงภาระหนี้สินที่ลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ โดยบริษัทยังคงภาระหนี้สินทางการเงินไว้ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานตั้งแต่การซื้อกิจการของบิ๊กซีในปี 2559
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่บริษัทไม่สามารถลดภาระหนี้สินลงได้และทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5 เท่าภายในปี 2563 นอกจากนี้ สถานะทางการตลาดในสายธุรกิจหลักของบริษัทที่อ่อนแอลง ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของยอดขายและอัตรากำไรที่ลดลงนั้นจะมีผลต่อการลดอันดับเครดิตด้วย นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการเปลี่ยนมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากบริษัทสามารถลดภาระหนี้สินลงและทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ต่ำกว่า 5 เท่าได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html