ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 พร้อมทั้งประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเป็นระดับ “A-” จาก “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
การเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หลังจากที่บริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ ได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นและถือหุ้นของบริษัทแผ่นดินทองฯ ในสัดส่วน 94.5% ทั้งนี้ ธุรกิจของบริษัทแผ่นดินทองฯ ช่วยเสริมให้บริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ ขยายธุรกิจจนมีสถานะเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรซึ่งครอบคลุมทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยเพื่อขาย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมให้เช่า พร้อมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องประเภทอื่น ๆ อีกด้วย
อันดับเครดิตสะท้อนถึงแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นและการเติบโตของรายได้ในธุรกิจบ้านจัดสรร ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น และรายได้ที่แน่นอนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว รวมถึงความกังวลจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
อันดับเครดิตได้รับแรงหนุนจากการเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ
หลังจากการสิ้นสุดการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2562 บริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ ก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 94.5% เมื่อรวมธุรกิจของบริษัทแผ่นดินทองฯ เข้ามาด้วยแล้ว ธุรกิจของบริษัทเฟรเซอร์ส
พร็อพเพอร์ตี้ฯ ก็มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นโดยประกอบไปด้วยธุรกิจที่บริษัทมีอยู่คืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมประเภทโรงงานให้เช่าและคลังสินค้า และยังรวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยเพื่อขายและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมให้เช่าของบริษัทแผ่นดินทองฯ อีกด้วย
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทแผ่นดินทองฯ เป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯเนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานรวมและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจของบริษัทแผ่นดินทองฯ ในปัจจุบันถือว่าเป็นสัดส่วนหลักของรายได้จากการดำเนินงานรวมและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ ในปีบัญชี 2563 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทแผ่นดินทองฯ คาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 80% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทแผ่นดินทองฯ จะมีสัดส่วนประมาณ 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ
สืบเนื่องจากสถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ จะช่วยสนับสนุนบริษัทแผ่นดินทองฯ ทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจและการจัดหาแหล่งเงินทุน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น แต่คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยังเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการเพิกถอนหลักทรัพย์จากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2563
แบรนด์สินค้าได้รับการยอมรับมากขึ้นพร้อมกับรายได้ในตลาดบ้านจัดสรรที่เติบโตขึ้น
ทริสเรทติ้งมองว่าแบรนด์สินค้าในตลาดบ้านจัดสรรของบริษัทได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็น 1.41 หมื่นล้านบาทในปีบัญชี 2561 จาก 7-9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558 จนถึงปีบัญชี 2560 และ 3 พันล้านบาทในปี 2557 ล่าสุด รายได้จากธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 1.16 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562
โครงการบ้านจัดสรรของบริษัทมีทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ที่ระดับราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อยูนิตจนถึง 40 ล้านบาทต่อยูนิต ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาจำนวน 44 โครงการ ซึ่งประมาณ 95% ของโครงการทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัด โดยมีมูลค่าเหลือขาย (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) 2.16 หมื่นล้านบาทและมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 4.5 พันล้านบาทซึ่งคาดว่าจะส่งมอบยอดขายดังกล่าวให้แก่ลูกค้าได้ในช่วงที่เหลือของปีบัญชี 2562 จนถึงปีบัญชี 2563
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทจะอยู่ที่ 1.4-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2562-2565 และยังคาดว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายจะยังคงเป็นสัดส่วนหลักที่ประมาณ 90% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัท
ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น
ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 19%-20% ในช่วงปีบัญชี 2560 ถึง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2562 จาก 17%-18% ในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 15% อัตราส่วนกำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 12%-13% ในช่วงปีบัญชี 2560 จนถึง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 8%-10% ในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 10%-12%
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตอาจลดทอนลงจากต้นทุนค่าที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดบ้านจัดสรร ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ที่ระดับประมาณ 15% และอัตราส่วนกำไรสุทธิที่ระดับสูงกว่า 10% ในช่วงปีบัญชี 2562-2565 เอาไว้ให้ได้
รายได้ที่แน่นอนจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า
อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าของบริษัทในปัจจุบันประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 3 แห่ง ได้แก่ อาคารสาทร สแควร์ อาคารเอฟ วาย ไอ เซ็นเตอร์ และอาคารโกลเด้น แลนด์ บิลดิ้ง กับโรงแรมอีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงแรมเมย์แฟร์ แมริออท โรงแรมดิ แอสคอท สาทร และโรงแรมโมดิน่า ในปีบัญชี 2561 อาคารสำนักงานและโรงแรมสร้างรายได้ที่จำนวน 1 พันล้านบาทและ 0.5 พันล้านบาทตามลำดับ อาคารสำนักงานของบริษัทมีอัตราการเช่าเฉลี่ย 94% และมีอัตราค่าเช่าเฉลี่ย 714 บาทต่อตารางเมตร
(ตร.ม.) ต่อเดือนในช่วงปีบัญชี 2561 จนถึง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2562 ในขณะที่โรงแรมมีอัตราการเช่าเฉลี่ย 81% และอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย 3,107 บาทต่อห้องต่อคืนในช่วงเดียวกัน
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเช่าของสินทรัพย์แต่ละแห่งของบริษัทจะอยู่ในระดับเดียวกันกับในปีบัญชี 2561 และช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2562 โดยมีการเติบโตของค่าเช่าที่ระดับ 3% ต่อปีในช่วงปีบัญชี 2562-2565 และยังคาดว่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าจะสร้างรายได้จำนวน 1.2-1.5 พันล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในช่วงปีบัญชี 2562-2563 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะขายอาคารสำนักงานเอฟ วาย ไอ เซ็นเตอร์ให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ในช่วงต้นปีบัญชี 2564 นอกจากนี้ สิทธิการเช่าในอาคารสำนักงานโกลเด้น แลนด์ บิลดิ้งจะหมดอายุในปีบัญชี 2565 อีกด้วย ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าของบริษัทจะลดลงเหลือ 0.7 พันล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 4% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในช่วงปีบัญชี 2564-2565 ทั้งนี้ บริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานซึ่งเป็นโครงการร่วมทุน คือ สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่ปีบัญชี 2565 เป็นต้นไปเมื่ออัตราการเช่าสำนักงานและโรงแรมปรับตัวดีขึ้นและเมื่อมีการส่งมอบคอนโดมิเนียมให้แก่ลูกค้ามากขึ้น
ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวและเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่
แม้ว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมเป็นอย่างมากแต่ก็มีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทั่วประเทศสร้างความกังวลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดสินค้าราคาปานกลางถึงต่ำ นอกจากนี้ การนำเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรการใหม่ของ ธปท. มาบังคับใช้นั้นก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายที่อยู่อาศัยในระยะสั้น ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้ ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 70%-80% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังถัด ๆ ไป ซึ่งลดลงจากเดิมที่สามารถกู้ได้ถึง 90%-100% ของมูลค่าหลักประกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าการนำเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรการใหม่มาบังคับใช้นั้นจะมีผลกระทบต่อตลาดคอนโดมิเนียมมากกว่าตลาดบ้านจัดสรร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ชะลอตัว บริษัทอาจจะต้องยืดการผ่อนเงินดาวน์ให้แก่ผู้ซื้อบ้านบางรายออกไป ทั้งนี้ ความล่าช้าในการส่งมอบก็จะกระทบต่อการรับรู้รายได้ของบริษัทด้วย
ภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเติบโตเป็นอย่างมากถึง 1.58 หมื่นล้านบาทในปีบัญชี 2561 จาก 9.3 พันล้านบาทในปีบัญชี 2560 รายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 1.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2562 การขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 56% ณ เดือนมิถุนายน 2562 จาก 32% ณ เดือนกันยายน 2560 นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินก็ลดลงเป็น 10% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2562 จาก 21% ในปีบัญชี 2560 ด้วย
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็น 1.8-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2563-2565 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มูลค่า 2-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อให้รายได้เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทยังมีแผนจะใช้เงินจำนวน 8-9 พันล้านบาทต่อปีในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในช่วงปีบัญชี 2562-2565 อีกด้วย โดยโครงการที่อยู่อาศัยที่จะเปิดใหม่เกือบทั้งหมดเป็นโครงการบ้านจัดสรร นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาทซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจในช่วงปีบัญชี 2564 และมีแผนจะเปิดโครงการในต่างจังหวัดให้มากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
แม้ว่าจะมีแผนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะมีความต้องการแหล่งเงินทุนในระดับปานกลางเนื่องจากโครงการบ้านจัดสรรมีระยะเวลาในการพัฒนาที่สั้นกว่าโครงการคอนโดมิเนียม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 55% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้สูงกว่า 10% เอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สภาพคล่องทางการเงินคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่
ณ เดือนมิถุนายน 2562 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.1 พันล้านบาท รวมถึงวงเงินกู้โครงการที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 1.2 พันล้านบาท และวงเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 3.1 พันล้านบาท นอกจากนี้
ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 9.7 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นจำนวน 4.6 พันล้านบาท หุ้นกู้จำนวน 4 พันล้านบาท และเงินกู้โครงการจำนวน 1.1 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้วิธีต่ออายุตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นออกไปหรือจ่ายชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่เงินกู้โครงการจะจ่ายชำระคืนด้วยกระแสเงินสดจากการโอนที่อยู่อาศัย หุ้นกู้จำนวน 3 พันล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2562 นั้นบริษัทน่าจะออกหุ้นกู้ใหม่มาทดแทนหุ้นกู้ดังกล่าว สำหรับหุ้นกู้ที่เหลืออาจทดแทนด้วยการออกหุ้นกู้ใหม่หรือเงินที่กู้ยืมจากบริษัทแม่ ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ บริษัทจะต้องดำรงสถานะในการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เอาไว้ ในขณะที่บริษัทมีแผนการเพิกถอนหลักทรัพย์จากการเป็นบริษัทจดทะเบียนจึงทำให้บริษัทต้องได้รับการยินยอมจากผู้ถือหุ้นกู้ มิฉะนั้นบริษัทก็อาจจำเป็นจะต้องซื้อคืนหุ้นกู้ที่เหลือมูลค่า 7 พันล้านบาท ในกรณีที่บริษัทจำเป็นจะต้องซื้อคืนหุ้นกู้ดังกล่าวนั้น ทริสเรทติ้งก็คาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่ม
นอกจากนี้ บริษัทจำเป็นจะต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญของเงินกู้ที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (ไม่รวมรายได้สิทธิการเช่ารอตัดบัญชี) และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่ให้เกินกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนอยู่ที่ระดับ 1.1 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• บริษัทจะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มูลค่า 2-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
• งบประมาณในการซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 8-9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2562-2565
• รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ที่ 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2562-2565 และอัตรากำไรจากการดำเนินงานน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ ต่อไปได้ แม้ว่าการแข่งขันในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัยจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ที่ระดับประมาณ 15% ในช่วงปีบัญชี 2562-2565 เอาไว้ได้ ทั้งนี้ บริษัทควรรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่าระดับ 55%
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทเองและสถานะทางการเงินของกลุ่ม โดยผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของกลุ่มที่แข็งแกร่งขึ้นจะช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัท ในทางตรงกันข้าม ผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของกลุ่มที่อ่อนแอลงจะมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทเช่นกัน
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป,26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html