ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 พร้อมทั้งประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ดังกล่าวของบริษัทเป็นระดับ “BBB” จาก “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงขนาดธุรกิจที่เล็กลงและความหลากหลายของธุรกิจที่น้อยลงภายหลังจากการขายหุ้นใน บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้กับ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นก่อนหักภาษีและเงินปันผลเท่ากับ 7.7 พันล้านบาทไปใช้สำหรับการลงทุนในอนาคตและเป็นเงินทุนหมุนเวียน แม้ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงอย่างมากภายหลังจากการขายบริษัทแผ่นดินทองฯ แต่ก็คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะสูงขึ้นอีกในปีการเงิน 2563 เนื่องจากบริษัทมีแผนเปิดโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นและมีแผนลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ทั้งนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจใหม่อีกด้วย
อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่เป็นที่ยอมรับในตลาดคอนโดมิเนียม ผลการดำเนินงานที่ผันผวนของธุรกิจสังกะสีออกไซด์และธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย ตลอดจนความกังวลในตลาดที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวภายหลังจากการบังคับใช้เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เริ่มบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ขนาดธุรกิจที่เล็กลงและความหลากหลายของธุรกิจที่น้อยลง
ทริสเรทติ้งมองว่าขนาดธุรกิจของบริษัทเล็กลงหลังจากการขายบริษัทแผ่นดินทองฯ ในปีการเงิน 2561 รายได้จากการดำเนินงานรวมและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเท่ากับ 2.1 หมื่นล้านบาท และ 3.6 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยผลการดำเนินงานของบริษัทแผ่นดินทองฯ ในปี 2561 คิดเป็น 75% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัท และคิดเป็น 81% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัท หากไม่รวมผลการดำเนินงานของบริษัทแผ่นดินทองฯ รายได้จากการดำเนินงานรวมและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2561 จะเหลือเพียง 5.2 พันล้านบาท และ 0.7 พันล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ ความหลากหลายในธุรกิจของบริษัทจะน้อยลงเนื่องจากธุรกิจของบริษัทแผ่นดินทองฯครอบคลุมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรร อาคารสำนักงานให้เช่า 3 แห่ง โรงแรม 3 แห่ง และโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานซึ่งเป็นโครงการร่วมทุน หากไม่มีธุรกิจของบริษัทแผ่นดินทองฯ แล้ว รายได้หลักของบริษัทจะมาจากการขายคอนโดมิเนียมและสังกะสีออกไซด์ โดยรายได้จากการขายคอนโดมิเนียมคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-6 พันล้านบาทต่อปีในขณะที่รายได้จากธุรกิจสังกะสีออกไซด์จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาทต่อปี รายได้ที่สม่ำเสมอจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าจะลดลงเหลือเพียง 80 ล้านบาทจาก 1.7 พันล้านบาทในปี 2561 เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าที่เป็นของบริษัทเองจะเหลือเพียงโรงแรม 1 แห่งคือ โมดิน่า บาย เฟรเซอร์ส ที่จังหวัดบุรีรัมย์
บริษัทมีแผนจะเพิ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าให้มากขึ้น โดยจะลงทุนในอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในช่วงปีการเงิน 2563-2565 นอกจากนี้ บริษัทจะก่อสร้างห้องอเนกประสงค์ของโรงแรมโมดิน่า บาย เฟรเซอร์สในช่วงปีการเงิน 2563-2564 ณ ปัจจุบัน รายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าค่อนข้างน้อยมาก
ภาระหนี้ลดลงชั่วคราว
บริษัทจะมีเงินสดมากกว่าภาระหนี้ภายหลังจากการขายหุ้นสัดส่วน 39.28% ของบริษัทแผ่นดินทองฯ ให้กับบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ เงินสดรับจากการขายเท่ากับประมาณ 7.7 พันล้านบาท โดยบริษัทจะบันทึกกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวจำนวน 1.3 พันล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปีการเงิน 2562 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนเปิดโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นและมีแผนลงทุนในอาคารสำนักงานอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นได้อีก
จากสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาทในปีการเงิน 2563 และ 1.0-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2564-2565 และคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ที่ 5-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2563-2564 และ 8-9 พันล้านบาทในปีการเงิน 2565 นอกเหนือจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว บริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.6 พันล้านบาทในช่วงปีการเงิน 2563-2565 เพื่อลงทุนในอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ห้องอเนกประสงค์ของโรงแรมโมดิน่า บาย เฟรเซอร์ส และขยายโรงงานสังกะสีออกไซด์ แม้ว่าบริษัทจะขยายธุรกิจเชิงรุก แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 45% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเกินกว่า 5% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ประเภทของธุรกิจ ขนาดของเงินลงทุน และระยะเวลาการลงทุนยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หากมีการเข้าซื้อกิจการเกิดขึ้น โครงสร้างทางธุรกิจและโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอาจแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะประเมินความเสี่ยงของบริษัทอีกครั้งเมื่อมีการซื้อกิจการ
ผลงานที่เป็นที่ยอมรับในตลาดคอนโดมิเนียม
ทริสเรทติ้งมองว่าผลงานของบริษัทในตลาดคอนโดมิเนียมเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ยอดขายคอนโดมิเนียมค่อนข้างต่ำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทเร่งระบายสินค้าสร้างเสร็จในหลายโครงการและมีการปรับเปลี่ยนแบรนด์สินค้า บริษัทเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ 2 โครงการมูลค่า 3.5 พันล้านบาทในช่วงปี 2558 ถึงปีการเงิน 2560 รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมเท่ากับ 2.8-3.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2560-2561 เนื่องจากบริษัทเริ่มเปิดโครงการภายใต้แบรนด์ใหม่ในปีการเงิน 2561 ยอดขายคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 พันล้านบาทในปีการเงิน 2561 จาก 1.9 พันล้านบาทในปีการเงิน 2560 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยในตลาดคอนโดมิเนียมลดลง ทำให้ยอดขายลดลงเป็น 3.4 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2562
ก่อนหน้านี้ บริษัทเน้นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับราคาปานกลางโดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000-150,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) หรือราคาขายต่อยูนิตที่ 2-4 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทกำลังขยายไปตลาดระดับราคาต่ำซึ่งมีราคาขาย 80,000-100,000 บาทต่อ ตร.ม. และตลาดระดับราคาสูงซึ่งมีราคาขายเกินกว่า 200,000 บาทต่อ ตร.ม. ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมระหว่างการพัฒนาจำนวน 12 โครงการซึ่งมีมูลค่าเหลือขาย (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและยังไม่ได้ก่อสร้าง) เท่ากับ 8.2 พันล้านบาท และมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 4.6 พันล้านบาท โดยบริษัทจะส่งมอบยอดขายที่รอการรับรู้รายได้มูลค่า 2.5 พันล้านบาทในช่วงที่เหลือของปีการเงิน 2562 มูลค่า 1 พันล้านบาทในปีการเงิน 2563 และมูลค่า 1.1 พันล้านบาทในปีการเงิน 2565 ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการขายที่อยู่อาศัยจะเท่ากับ 3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2563-2564 และ 6 พันล้านบาทในปีการเงิน 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการขายที่อยู่อาศัยจะยังคงเป็นสัดส่วนหลักที่ 65%-75% ของรายได้จากการดำเนินงานรวม
ผลการดำเนินงานที่ผันแปรของธุรกิจสังกะสีออกไซด์และความผันผวนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
หลังจากการขายหุ้นในบริษัทแผ่นดินทองฯ รายได้จากธุรกิจสังกะสีออกไซด์จะเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการขายสังกะสีออกไซด์จะเท่ากับ 1.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2562-2565 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20%-30% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในช่วงปีการเงิน 2563-2565 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธุรกิจสังกะสีออกไซด์ค่อนข้างผันผวนขึ้นกับความต้องการและอุปทานในอุตสาหกรรมและราคาขาย ปริมาณขายสังกะสีออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 19,428 ตันในปีการเงิน 2561 จาก 18,103 ตันในปีการเงิน 2559 รายได้จาการขายสังกะสีออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านบาทในปีการเงิน 2561 จาก 1.1-1.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2557-2560 อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดของการค้าโลกทำให้ปริมาณขายลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 12,071 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2562 และรายได้จากการขายสังกะสีออกไซด์ก็ลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 1.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้นยังผันผวนในช่วง 3% ถึง 14%
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานรวมได้รับแรงหนุนจากรายได้ที่เติบโตและอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่สูงถึง 17%-20% ของบริษัทแผ่นดินทองฯ อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเท่ากับ 16%-18% ในปี 2558 ถึง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2562 ซึ่งยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 15% ทั้งนี้ คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตจะต่ำลงจากในอดีตที่ผ่านมาหลายปีเนื่องจากอัตรากำไรที่ต่ำกว่าจากทั้งธุรกิจคอนโดมิเนียมและธุรกิจสังกะสีออกไซด์ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับแรงกดดันจากต้นทุนค่าที่ดินที่แพงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดคอนโดมิเนียม รวมถึงราคาที่ผันผวนของสังกะสีออกไซด์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า 8% และอัตรากำไรสุทธิที่สูงกว่า 5% เอาไว้ได้ในช่วงปี 2563-2565
ความกังวลจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่
แม้ว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมเป็นอย่างมากแต่ก็มีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทั่วประเทศสร้างความกังวลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดสินค้าราคาปานกลางถึงต่ำ นอกจากนี้ การนำเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรการใหม่ของ ธปท. มาบังคับใช้นั้นก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายที่อยู่อาศัยในระยะสั้น ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้ ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 70%-80% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังถัด ๆ ไป ซึ่งลดลงจากเดิมที่สามารถกู้ได้ถึง 90%-100% ของมูลค่าหลักประกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าการนำเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรการใหม่มาบังคับใช้นั้นจะมีผลกระทบต่อตลาดคอนโดมิเนียมมากกว่าตลาดบ้านจัดสรร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ชะลอตัว บริษัทอาจจะต้องยืดการผ่อนเงินดาวน์ให้แก่ผู้ซื้อบ้านบางรายออกไป ทั้งนี้ ความล่าช้าในการส่งมอบก็จะกระทบต่อการรับรู้รายได้ของบริษัทด้วย
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ณ เดือนมิถุนายน 2562 แหล่งเงินทุนของบริษัท (ไม่รวมของบริษัทแผ่นดินทองฯ) ประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 0.2 พันล้านบาท วงเงินกู้โครงการที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 1.3 พันล้านบาท และวงเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 4.1 พันล้านบาท รวมถึงเงินสดรับจากการขายบริษัทแผ่นดินทองฯ เท่ากับ 7.7 พันล้านบาทซึ่งจะรับรู้ในไตรมาสสุดท้ายของปีการเงิน 2562 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 0.3 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 4.1 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 2 พันล้านบาท เงินกู้โครงการจำนวน 1.1 พันล้านบาท และตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นจำนวน 1 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ บริษัทจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ถือหุ้นกู้ในการขายบริษัทย่อยหลัก โดยในต้นเดือนสิงหาคม 2562 ผู้ถือหุ้นกู้ให้การยินยอมในกรณีดังกล่าวแก่บริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระได้ เงินกู้โครงการจะจ่ายชำระคืนด้วยกระแสเงินสดจากการโอนคอนโดมิเนียม และคาดว่าบริษัทจะใช้วิธีต่ออายุตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นออกไปหรือจ่ายชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้า
บริษัทจำเป็นจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (ไม่รวมรายได้สิทธิการเช่ารอตัดบัญชี) ไม่ให้เกินกว่า 2 เท่าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญของเงินกู้ที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (ไม่รวมรายได้สิทธิการเช่ารอตัดบัญชี) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.5 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• บริษัทจะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาทในปีการเงิน 2563 และมูลค่า 1.0-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2564-2565
• งบประมาณในการซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 2.0-3.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2563-2565
• เงินลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าและธุรกิจสังกะสีออกไซด์คาดว่าจะเท่ากับประมาณ 1.6 พันล้านบาทในช่วงปีการเงิน 2563-2565
• รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ที่ 5-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีการเงิน 2563-2564 และ 8-9 พันล้านบาทในปีการเงิน 2565 และอัตรากำไรจากการดำเนินงานน่าจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 8%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายส่วนในช่วงที่มีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วและความต้องการในตลาดคอนโดมิเนียมชะลอตัวนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับเกินกว่า 8% เอาไว้ได้ในช่วงปีการเงิน 2563-2565 ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 45% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในทางลบได้หากการขยายธุรกิจเชิงรุกของบริษัททำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่เกินกว่า 55%ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตในอนาคตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากขนาดธุรกิจของบริษัทใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่ภาระหนี้ของบริษัทไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากระดับที่คาดการณ์ไว้
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป,26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html