ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้ของธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดผลกระทบจากความเป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจก่อสร้างลงได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากความผันผวนของปริมาณและราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวล ตลอดจนความเสี่ยงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และระดับการก่อหนี้ที่จะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจก่อสร้างด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
การกำหนดอันดับเครดิตของบริษัทขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของกำไรในอนาคตของบริษัท
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าบริหารงานโดย บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัท ปัจจุบันบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินงานแล้วจำนวน 6 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่ที่ 52.8 เมกะวัตต์ และปัจจุบันกำลังเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มขนาดธุรกิจผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในสัดส่วนมากกว่า 90% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัท
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในสัญญาแต่ละฉบับมีการระบุราคาซื้อขายไว้อย่างชัดเจน
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าทุกแห่งรวมกันอยู่ที่ประมาณ 50%
ทริสเรทติ้งเห็นว่ากระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าช่วยลดทอนความผันผวนของธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีธรรมชาติเป็นวงจรขึ้นลงได้เป็นอย่างมาก โดยทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไปอีกในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ปริมาณและราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิงมีความผันผวน
แม้จะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แต่โรงไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณและราคาวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการตั้งโรงไฟฟ้าให้อยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบและจ้างผู้รับเหมาบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาวัตถุดิบชีวมวลเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าควบคู่ไปกับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการปฏิบัติแล้ว บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ไม่สามารถผลักภาระความเสี่ยงด้านราคาไปให้ผู้รับเหมาดังกล่าวได้ทั้งหมด
บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง วางแผนจะจ้างผู้รับเหมาบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาเป็นผู้รับผิดชอบในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทั้งหมดแต่จะจัดหาวัตถุดิบชีวมวลด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในด้านการจัดหาวัตถุดิบ บริษัท
ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ได้ทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบระยะยาวกับผู้จำหน่ายท้องถิ่นเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเชื้อเพลิงใช้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญายังคงเป็นสิ่งท้าทาย บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง พยายามลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการของบริษัท อีกทั้งยังได้พัฒนาปลูกพืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิงของตนเองอีกด้วย ซึ่งความพยายามดังกล่าวก็ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง น่าจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงด้านวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี
ความเสี่ยงในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
บริษัทมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานอันเนื่องมาจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ปัจจุบันบริษัท
ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวนทั้งสิ้น 5 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมกันที่ 53.7 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (45.7 เมกะวัตต์) และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ (8 เมกะวัตต์) ซึ่งเมื่อโครงการเหล่านี้เปิดดำเนินงานในช่วงปี 2563-2564 กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 106.5 เมกะวัตต์ จาก 52.8 เมกะวัตต์
ความเสี่ยงจากการดำเนินงานเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเลือกทำเลที่ตั้งของโครงการ ความล่าช้าในการก่อสร้าง ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการต่อต้านจากชุมชน รวมไปถึงการจัดหาวัตถุดิบ โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่เพิ่มความเสี่ยงจากการดำเนินงานให้แก่บริษัทเนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ยืดเยื้อส่งผลทำให้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่เหล่านี้ประสบความล่าช้าจากการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม งบลงทุนของโครงการยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม
โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ยังสร้างความท้าทายเนื่องจากอยู่ภายใต้ระบบการประมูลซึ่งมีราคาขายไฟฟ้าที่ต่ำลงโดยอยู่ระหว่าง 2.8-3.4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในขณะที่โรงไฟฟ้าในปัจจุบันของบริษัทมีราคาขายไฟฟ้าสูงกว่า 4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นจะต้องเพิ่มความรัดกุมในการควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
ธุรกิจก่อสร้างมีความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก
ในการพิจารณาอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทในธุรกิจก่อสร้างด้วย ธุรกิจดังกล่าวมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากธุรกิจก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งเห็นว่ามีความเป็นไปได้ไม่มากนักที่บริษัทจะรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ด้วยตนเองในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าสัญญาก่อสร้างของบริษัทอยู่ในระดับไม่เกิน 1 พันล้านบาทต่อสัญญา
บริษัทมีขอบเขตงานก่อสร้างที่จำกัดโดยเน้นเฉพาะงานก่อสร้างอาคาร เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงแรม และศูนย์การค้า ในขณะที่ผลงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีอยู่ไม่มากนัก บริษัทมีเป้าหมายจะรับงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีผลงานในด้านงานก่อสร้างประเภทนี้และยังต้องแข่งขันกับผู้รับเหมาขนาดใหญ่อีกเป็นจำนวนมากด้วย ทริสเรทติ้งจึงคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรับงานก่อสร้างในภาคเอกชนเป็นหลักในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ธุรกิจผลิตไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 6.2 พันล้านบาทในปี 2565 จาก 3.8 พันล้านบาทในปี 2562 โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 3.9 พันล้านบาทในปี 2565 จาก 1.8 พันล้านบาทในปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจก่อสร้างของบริษัทจะอยู่ในระดับ 2.0-3.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ 1.9 พันล้านบาทต่อปี ความแข็งแกร่งของธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีส่วนช่วยลดแรงกดดันในการประมูลงานก่อสร้างของบริษัท โดยบริษัทน่าจะได้รับงานก่อสร้างปีละประมาณ 2.0 พันล้านบาทตามประมาณการของทริสเรทติ้ง บริษัทมีงานที่รอรับรู้รายได้มูลค่าประมาณ 2.5 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งจะช่วยประกันรายได้ในช่วงปี 2562-2564 ได้ส่วนหนึ่ง
ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ด้วยว่ารายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทมีจำนวนสินค้าที่อยู่อาศัยเหลือขายไม่ถึง 100 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2562 ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็ไม่คิดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากการชะลอตัวของภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน
ผลการดำเนินงานมีความแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่จะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยสมมติฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทจะทรงตัวเหนือระดับ 20% ในช่วงปี 2562-2565
สัดส่วนกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจำนวนมากช่วยชดเชยความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำของธุรกิจก่อสร้างของบริษัท การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างและการเพิ่มจำนวนแรงงานของบริษัทเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ทำให้กำไรของธุรกิจก่อสร้างลดต่ำลง โดยอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจดังกล่าวลดลงเหลือ 6.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จาก 9.6% ในปี 2561 ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรจากธุรกิจก่อสร้างของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป
การก่อหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น
บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ให้การค้ำประกันหนี้ของกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการร่วมค้านั้น ๆ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทไทยโพลีคอนส์ ทริสเรทติ้งจึงได้รวมเอาสินทรัพย์ หนี้สิน และผลการดำเนินงานของกิจการร่วมค้าเข้ามารวมกับงบการเงินรวมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัททีพีซี เพาเวอร์
โฮลดิ้ง ในกิจการร่วมค้าแต่ละแห่งด้วย
หนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้งบลงทุนที่ 1.6-1.8 พันล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับ 39.4% ณ เดือนมิถุนายน 2562
กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้ของบริษัทจะอ่อนตัวลงจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 17% ในปี 2563 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 22% ในปี 2565 อัตราส่วนดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30.7% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 เท่าในปี 2563 ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงในปีถัด ๆ ไป
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทมีภาระหนี้ค่อนข้างต่ำและไม่มีการใช้เงินทุนที่ไม่สอดคล้องในด้านระยะเวลาแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 200 ล้านบาทเป็นเงินกู้ระยะสั้นที่บริษัทใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้โครงการระยะยาวที่บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า
ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้และเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันมีมูลค่าเกือบ 700 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรองรับภาระหนี้ทั้งหมดที่จะครบกำหนด ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วง 800 ล้านบาทถึง 1.3 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่บริษัทมีภาระที่จะต้องชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 500-800 ล้านบาทต่อปี
บริษัทไม่มีข้อกำหนดทางการเงินใดใดสำหรับเงินกู้จากธนาคาร แต่บริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าของบริษัททีพีซี เพาเวอร์
โฮลดิ้ง จะต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เอาไว้ไม่น้อยกว่า 1.1 เท่าหรือ 1.2 เท่า และจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 2.5 เท่า ที่ผ่านมาบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนด ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวตลอดช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าได้ด้วยเช่นกัน
สมมติฐานพื้นฐาน
• กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จะเพิ่มขึ้นเป็น 146.5
เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันที่ 52.8 เมกะวัตต์
• มูลค่าสัญญางานก่อสร้างใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 2.0 พันล้านบาทต่อปี
• อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 7.5%
• อัตรากำไรจากการดำเนินงานจะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 20%
• เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 1.6-1.8 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรและกระแสเงินสดจำนวนมากได้ตามที่บริษัทวางแผนไว้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่าโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ จะสร้างผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ ธุรกิจก่อสร้างจะยังคงสร้างผลกำไรในขณะที่บริษัทจะสามารถบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและโครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแรงกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น หากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและบริษัทสามารถบริหารจัดการระดับการก่อหนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างและ/หรือธุรกิจผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการเป็นอย่างมาก หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทด้อยลงจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html