ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารออมสินที่ระดับ “AAA” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของธนาคารในการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งมีภารกิจในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในระดับสูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเมื่อธนาคารมีปัญหาทางการเงิน ทั้งนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 กำหนดไว้ว่าข้อผูกพันต่าง ๆ ของธนาคารออมสินในส่วนของการชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ยเงินฝาก และการจ่ายชำระหนี้อื่น ๆ ทั้งหมดนั้นจะได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาลทั้งสิ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล
อันดับเครดิตองค์กรของธนาคารออมสินสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าในบรรดาสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งหลายนั้น มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างทันท่วงทีแก่ธนาคารออมสินในกรณีเมื่อมีความจำเป็น ซึ่งเป็นไปตามกรอบการสนับสนุนทางกฎหมายและความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน
พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ระบุว่าข้อผูกพันทางการเงินทั้งหลายของธนาคารจะได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาล ทั้งนี้ ข้อผูกพันทางการเงินที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันการชำระคืนดังกล่าวประกอบไปด้วย เงินต้น ดอกเบี้ยเงินฝาก และการจ่ายชำระหนี้อื่น ๆ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็น ธนาคารออมสินสามารถเพิ่มทุนได้โดยได้รับการจัดสรรจากเงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือจากแหล่งอื่นของรัฐ โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
มีบทบาทในการดำเนินตามนโยบายที่รัฐบาลให้การสนับสนุน
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการที่หน่วยงานภาคเอกชนอื่น ๆ จะสามารถดำเนินบทบาทด้านสาธารณะแบบธนาคารออมสินนั้นเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ ธนาคารออมสินทำหน้าที่ทั้งการให้บริการและการดำเนินมาตรการที่เป็นการสนับสนุนเชิงนโยบายในรูปแบบต่าง ๆ ในขณะที่รัฐบาลจะคอยให้การสนับสนุนธนาคารออมสินในการดำเนินภารกิจเหล่านี้ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวให้กำไรต่ำหรือไม่เกิดผลกำไรเลย โดยทั่วไปรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารด้วยการชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือการสูญเสียทางเครดิตในบางกรณี เป็นต้น
ส่วนหนึ่งของภารกิจหลักของธนาคารคือการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่กลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ได้ ธนาคารให้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนภายใต้ธุรกรรมตามนโยบายของรัฐแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารยังมีภารกิจในการส่งเสริมการออมและให้ความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้าของธนาคารอีกด้วย ภารกิจเหล่านี้ยังคงเป็นเป้าประสงค์สำคัญภายใต้แผนวิสาหกิจ 5 ปี สำหรับปี 2563-2567 ของธนาคารออมสิน ส่วนภารกิจสำคัญอื่น ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายยังประกอบไปด้วยการส่งเสริมการออมของเยาวชน การส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงอายุ การพัฒนาอาชีพของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และการส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินในระดับชุมชน
มีจุดแข็งในธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อย
ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่งยังเป็นปัจจัยเกื้อหนุนทางธุรกิจที่สำคัญของธนาคารออมสิน โดยธุรกิจดังกล่าวของธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายซึ่งมีระดับรายได้ที่แตกต่างกัน กลุ่มลูกค้าหลักของธนาคาร ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มลูกค้าธนาคารรายย่อยทั่วไป และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารออมสินยังมีธุรกิจเงินฝากที่แข็งแกร่งจากการเป็นสถาบันส่งเสริมการออมชั้นนำของประเทศอีกด้วย การมีเครือข่ายสาขาและช่องทางให้บริการที่ครอบคลุมในพื้นที่ต่างจังหวัด รวมถึงการให้บริการออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนความแข็งแกร่งของธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยซึ่งเทียบเคียงได้กับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ธนาคารออมสินยังมีเป้าหมายที่จะขยายไปสู่ภารกิจที่ธนาคารยังมีบทบาทค่อนข้างน้อย เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยและกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน เป็นต้น
สินทรัพย์รวมของธนาคารออมสินมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจและใกล้เคียงกับขนาดสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ 5 อันดับแรกแต่ละรายซึ่งอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Domestic Systematically Important Banks -- D-SIBs) ด้วย โดยธนาคารออมสินมีขนาดสินทรัพย์รวมมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2562 ในช่วงเวลาดังกล่าว ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วน 11% และของเงินฝากคิดเป็นสัดส่วน 12% ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของไทย ธนาคารออมสินยังเป็นธนาคารที่ให้สินเชื่อบ้านที่สำคัญอีกรายหนึ่งด้วยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในสัดส่วน 9% ในปี 2561 โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 สินเชื่อรวมของธนาคารออมสินประกอบไปด้วยสินเชื่อรายย่อย (57%) สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (5%) สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐ (38%) อีกทั้งยังให้บริการผ่านสาขาที่มีอยู่จำนวน 1,063 แห่งทั่วประเทศซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นสาขาที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวน 900 แห่ง
ธุรกิจสินเชื่อเป็นปัจจัยขับเคลื่อนผลประกอบการ
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของธนาคารออมสินจะยังคงมาจากธุรกิจสินเชื่อเป็นหลักในระยะอีก 3 ปีข้างหน้าในช่วงที่ธนาคารค่อย ๆ เพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มาของรายได้คือการเพิ่มผลิตภัณฑ์การบริหารความมั่งคั่งที่ครบวงจรมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน รายได้จากค่าธรรมเนียมที่สำคัญของธนาคารประกอบไปด้วยค่าธรรมเนียมจากการให้บริการธุรกรรมทางการเงิน ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและตู้เอทีเอ็ม ค่านายหน้าจากการขายประกัน รวมถึงค่าธรรมเนียมการบริหารเงินกองทุน โดยธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิในสัดส่วนประมาณ 7% ของรายได้รวมในช่วงปี 2561 จนถึงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับประมาณ 20%
ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้น่าจะลดแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์
ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าการปล่อยกู้ที่ระมัดระวังมากขึ้นและเครื่องมือที่ใช้ลดความเสี่ยงทางเครดิตที่มีอยู่น่าจะช่วยควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตในอนาคตของธนาคารออมสินได้ ธนาคารได้มุ่งความความสำคัญมาที่การปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมที่มุ่งเน้นหลักประกันมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันธนาคารยังคงปล่อยกู้ให้แก่องค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐที่มีคุณภาพเครดิตอยู่ในเกณฑ์ดีต่อไป ส่วนเครื่องมือที่ใช้ลดความเสี่ยงทางเครดิตอันประกอบไปด้วยการชดเชยจากรัฐบาลและการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นั้นก็ช่วยลดความสูญเสียทางเครดิตจากการปล่อยกู้ภายใต้ธุรกรรมตามนโยบายของรัฐและการปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมบางรายการได้ตามลำดับ
แม้กระนั้น ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารออมสินน่าจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางและหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าธนาคารออมสินจะให้ความสำคัญกับมูลค่าของหลักประกันในการให้สินเชื่อ แต่ธนาคารก็ยังคงมีความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มผู้กู้ซึ่งมีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการจัดชั้นภายในซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยและหนี้ครูนั้นก็เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเปราะบางดังกล่าวในความเห็นของทริสเรทติ้ง การจัดชั้นเพียงครั้งเดียวในครั้งนี้ซึ่งเกิดขึ้น ณ สิ้นปี 2561 นั้นมีผลต่อหนี้บางรายการซึ่งอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รายงานเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จึงส่งผลทำให้สัดส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 2.69% ณ ครึ่งแรกของปี 2562 จากระดับ 2.05% ณ ครึ่งแรกของปี 2561 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 3.11% ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และค่าเฉลี่ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ระดับ 4.53% ตามข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกัน หลักประกันต่อสินเชื่อรวมของธนาคารออมสินที่ระดับ 56% ณ ครึ่งแรกของปี 2562 ก็อยู่ในระดับสูงกว่าตัวเลขของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่หลายธนาคารอีกด้วย
ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าธนาคารออมสินจะยังคงเพิ่มอัตราส่วนการตั้งสำรองซึ่งอยู่ในระดับปานกลางต่อไปจากการเตรียมการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 และจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 113% ณ ครึ่งแรกของปี 2562 ลดลงจากระดับ 130% ณ ครึ่งแรกของปี 2561 เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งจึงประมาณการต้นทุนทางเครดิตของธนาคารออมสินในระดับสูงขึ้นที่ 70 จุดถึง 80 จุด (Basis Points – bps) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 85 จุดในปี 2561 จากระดับ 23 จุดในปี 2560 ซึ่งสูงกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 35 จุดถึง 45 จุดด้วยเช่นกัน แม้กระนั้น ต้นทุนทางเครดิตของธนาคารก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนทางเครดิตล่าสุดของธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่
เงินกองทุนเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของธนาคารออมสิน
ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1) ตามหลัก Basel-II ของธนาคารออมสินว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 14% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากสมมติฐานของทริสเรทติ้งในกรณีที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารอยู่ที่ระดับ 5%-7% และนโยบายการจ่ายเงินปันผลคงอยู่ที่ระดับ 55% การปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่มีน้ำหนักความเสี่ยงต่ำกว่าและมีความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางน่าจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนเงินกองทุนที่เหมาะสมของธนาคารออมสินตามความเห็นของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ระดับ 1.15% ในปี 2561 และธนาคารออมสินไม่ต้องชำระภาษีเงินได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหลายประการที่น่าจะส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งประกอบไปด้วย อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลงอันเกิดจากความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ที่ลดลงและเงินกู้ยืมช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลตอบแทนต่ำ รวมถึงต้นทุนทางเครดิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งประมาณการว่าธนาคารออมสินจะมีอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากปรับต้นทุนทางเครดิตที่ระดับ 1.8%-1.9% ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวลดลงสู่ระดับ 1.7% ในปี 2561 จากระดับ 2.0% ในปี 2560 เนื่องจากต้นทุนทางเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น
ฐานเงินทุนจากลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารออมสินจะยังคงฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากที่มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ ยังเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงการเป็นสถาบันส่งเสริมการออมชั้นนำของธนาคารออมสิน โดยเงินฝากของธนาคารประกอบไปด้วยฐานเงินฝากลูกค้ารายย่อยที่กว้างขวางรวมถึงฐานเงินฝากจากองค์กรภาครัฐที่ถือเป็นส่วนสำคัญรองลงมาอีกส่วนหนึ่ง สลากออมสินพิเศษของธนาคารซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบประจำและให้อัตราดอกเบี้ยในระดับที่น่าดึงดูดใจรวมถึงบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์นั้นถือว่าเป็นเงินฝากประเภทหลักของธนาคาร
โดย ณ ครึ่งแรกของปี 2562 เงินฝากของธนาคารออมสินมีสัดส่วนต่อฐานเงินทุนอยู่ในระดับที่สูงถึง 95% โดยมีเงินกู้ยืมอยู่ในสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ธนาคารยังสามารถคงอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินรับฝากให้อยู่ในเกณฑ์อนุรักษ์นิยมที่ระดับ 85%-97% ได้โดยอัตราส่วนดังกล่าว ณ ครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ระดับ 95%
สภาพคล่องแข็งแกร่ง
ธนาคารออมสินยังคงสถานภาพการเป็นผู้ให้กู้ยืมสุทธิในตลาดระหว่างธนาคารอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกัน ธนาคารยังเป็นผู้จัดหาสภาพคล่องให้แก่องค์กรของภาครัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ อีกด้วย ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ที่ระดับ 40.8% ของหนี้สินระยะสั้นและมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องที่ระดับ 24.5% ของเงินฝาก ณ ครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ต่อไปนี้คือสมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ในระหว่างปี 2562-2564
• อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5%-7%
• ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 70-80 จุด
• อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.9%-3%
• อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของจะอยู่ที่ระดับประมาณ 14%
• อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8%-1.9%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารออมสินจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่องจากรัฐบาลต่อไปจากสถานะในการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีพันธกิจสำคัญ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจจะปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารออมสินในทิศทางที่ลดลงหากสถานะของธนาคารภายใต้ พ.ร.บ. จัดตั้งและการค้ำประกันหนี้สินทั้งหมดโดยรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป และ/หรือระดับความสำคัญในเชิงนโยบายของธนาคารซึ่งเกี่ยวข้องกับทิศทางของนโยบายของรัฐบาลลดน้อยถอยลงไปจากเดิม
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Rating Methodology for Government-Related Entities, 6 มิถุนายน 2560
- วิธีการในการจัดอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์, 30 มีนาคม 2560
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html