ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “ธ. กรุงศรีอยุธยา” ที่ “AAA” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 29, 2019 17:30 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AAA” โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของธนาคารในการเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (กลุ่ม MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนทางธุรกิจและเงินทุนที่กลุ่ม MUFG มีให้แก่ธนาคารมาโดยตลอด รวมถึงความช่วยเหลือที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มธนาคารแม่ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารย่อยของ MUFG Bank Ltd. (MUFG Bank) ซึ่ง MUFG Bank ถือหุ้นทั้งหมดโดยกลุ่ม MUFG (ได้รับการจัดอันดับ “A/Positive” จาก S&P Global Ratings) และยังเป็นสมาชิกหลักของ กลุ่ม MUFG อีกด้วย

สถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารกรุงศรีอยุธยาสะท้อนถึงธุรกิจและกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายเป็นอย่างดี รวมไปถึงความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อยและตลาดลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนและสถานะเงินทุนของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลางและการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างสูงก็เป็นปัจจัยลดทอนอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม MUFG

ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม MUFG ในกรณีที่ธนาคารมีปัญหาทางการเงินและยังเชื่อว่าธนาคารจะยังได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและเงินทุนจากกลุ่มถึงแม้ว่าธนาคารจะสร้างสัดส่วนของรายได้และกำไรให้แก่กลุ่มเพียงเล็กน้อยก็ตาม

ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากลุ่ม MUFG นั้นมีพันธสัญญาที่เหนียวแน่นในระยะยาวที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจากผลของการมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ระดับ 76.88% ในธนาคาร นอกจากนี้ยังเชื่อว่าชื่อเสียงของธนาคารและชื่อเสียงของกลุ่มนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่ม MUFG เพื่อสนับสนุนลูกค้าของกลุ่มและของธนาคาร ทั้งนี้ ความร่วมมือในด้านที่สำคัญประกอบด้วย การสนับสนุนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ การอ้างอิงลูกค้า การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มสายการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติ รวมถึงธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง นอกจากนี้

ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของกลุ่ม MUFG ในระดับคณะกรรมการและผู้บริหารของธนาคารอีกด้วยเช่นกัน

ธุรกิจที่แข็งแกร่งและขยายตัว

ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต โดยธนาคารได้รับการจัดให้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญในเชิงระบบ (Domestic Systematically Important Banks -- D-SIB) ของประเทศไทยในปี 2560 ตั้งแต่นั้นมา ธนาคารก็ยังคงขยายส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อรวมที่ระดับ 14.5% ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 11 แห่ง ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ความสามารถของธนาคารในการคงอัตราการเติบโตของสินเชื่อทุกประเภทในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อแบบปีต่อปีที่ระดับ 7.8% ในปี 2561 โดยมีสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสินเชื่อรายย่อยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 ธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อแบบปีต่อปีที่ระดับ 6.4% โดยมีสินเชื่อในทุกประเภทหลักเป็นปัจจัยขับเคลื่อน

ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยขับเคลื่อนผลประกอบการ

ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจสินเชื่อรายย่อยจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนผลประกอบการของธนาคารในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งรายได้สุทธิจากธุรกิจสินเชื่รายย่อยนั้นมีสัดส่วนประมาณ 70% ของรายได้สุทธิรวมของธนาคารในปี 2561 ธนาคารยังเป็นผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่ซึ่งในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งระบุว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 20% ณ สิ้นปี 2561 จากจำนวนผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมดในประเทศไทย นอกจากนี้ ธนาคารยังเป็นผู้ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สำคัญอีกรายหนึ่งด้วย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 11% ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงเวลาเดียวกัน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยอีกรายหนึ่งที่มีการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลและด้วยประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวน่าจะช่วยรักษาฐานลูกค้าสินเชื่อรายย่อยจำนวนมากและคงความสามารถในการแข่งขันของธนาคารเอาไว้ได้ อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดผลกระทบจากการเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology Disruption) ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้

มีการกระจายแหล่งที่มาของรายได้

โครงสร้างรายได้ของธนาคารค่อนข้างกระจายตัวดี โดยรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิมีสัดส่วนประมาณ 19% ของรายได้รวมในช่วงปี 2561 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 (ปรับรายการพิเศษจากการขายหุ้นใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด) ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย ค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่กว่า 80% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมดของธนาคารมาจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคและอุปโภค ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิต การขายประกัน การโอนเงิน และการให้เงินกู้ สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรายการหลักนั้นประกอบไปด้วยกำไรจากปริวรรตเงินตราต่างประเทศและหนี้สูญรับคืน

ความร่วมมือที่มีกับกลุ่ม MUFG น่าจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของผลกำไรให้แก่ธนาคารมากยิ่งขึ้นโดยผ่านการเสริมสร้างความสามารถให้แก่ธนาคารในการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศทั้งในส่วนของธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment Banking) การให้บริการดูแลเงินเข้าออกบัญชีธนาคาร (Transaction Banking) และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ในทำนองเดียวกัน การขยายกิจการในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ระดับภูมิภาคของกลุ่ม MUFG นั้นก็น่าจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของผลกำไรให้แก่ธนาคารได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปได้อีกทางหนึ่งด้วย

มีการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี

ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารน่าจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และรักษาระดับสำรองหนี้สูญให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้ สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอยังคงส่งผลกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างต่อเนื่องจากการมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 3.17% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ดีเอาไว้ได้โดยมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 1.95% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ทั้งนี้ อัตราการก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งนับรวมการตัดหนี้สูญแบบปรับเป็นตัวเลขเต็มปีนั้นค่อนข้างคงที่อยู่ที่ระดับ 1.2% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าเป็นผลมาจากการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็งของธนาคาร ในส่วนที่นอกเหนือจากการปล่อยกู้ที่มีความระมัดระวังแล้ว ธนาคารยังเฝ้าระวังคุณภาพหนี้ของผู้กู้ตามภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์ด้วย โดยอุตสาหกรรมที่ธนาคารให้ความสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ การตัดหนี้สูญอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อที่เสื่อมคุณภาพยังช่วยให้ธนาคารสามารถคงอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำได้

สำหรับระดับการสำรองหนี้สูญนั้น ธนาคารก็มีนโยบายการตั้งสำรองที่ค่อนข้างระมัดระวังโดยเพิ่มระดับสำรองอย่างต่อเนื่องซึ่งเห็นได้จากต้นทุนทางเครดิตที่อยู่ในระดับ 1.5%-1.6% ในระหว่างปี 2561 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 162% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่เล็กน้อย

ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลาง

ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของธนาคารจะคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งผลตอบแทนหลังหักค่าความเสี่ยงในระดับที่ดีและต้นทุนการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูงน่าจะยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางของธนาคาร ถึงแม้ว่าความแข็งแกร่งของธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อยและการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่มีการบริหารจัดการที่ดีน่าจะยังช่วยคงผลกำไรจากการปล่อยกู้หลังหักค่าความเสี่ยงได้ แต่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่สูงของธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อยและเงินลงทุนที่ต่อเนื่องในเทคโนโลยีสารสนเทศก็อาจเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตของธนาคารจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.3%-2.4% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงปี 2561 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 และสูงกว่าระดับของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่หลายแห่ง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของธนาคารว่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูงใกล้เคียง 50% ในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย

มีเงินทุนเพียงพอต่อการเติบโต

ในฐานะเป็นธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงระบบ ธนาคารจำเป็นต้องดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET-1) เพิ่มขึ้นอีก 1% จากเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8% ภายในปี 2563 ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วน CET-1 ของธนาคารน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับปัจจุบันที่ 12%-13% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยใช้สมมติฐานอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ระดับ 7% ต่อปีและอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 25% ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ อัตราส่วน CET-1 ของธนาคารนั้นถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับของธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 15.9% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562

มีเงินทุนในระดับปานกลาง

ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเงินทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและหลากหลายสำหรับการเป็นธนาคารพาณิชย์ไทย โดยธนาคารมีธุรกิจเงินฝากที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 12.2% ในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทย ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ธนาคารมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่และเงินฝากประจำต้นทุนสูงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ โดย ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เงินฝากของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ 79% ของแหล่งเงินทุนรวม ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 87% บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ 42% ของเงินฝากรวม ณ

ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับประมาณ 60% ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินแบบปรับเป็นตัวเลขเต็มปีของธนาคารอยู่ที่ระดับ 1.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งสูงกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่รายอื่น ๆ

ทริสเรทติ้งไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่แต่อย่างใด ทั้งนี้ เนื่องจากการพึ่งพาดังกล่าวมีความเหมาะสมกับลักษณะสินทรัพย์ของธนาคารอันประกอบไปด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ดอกเบี้ยคงที่ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 23% ของสินเชื่อรวม ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 นอกจากนี้ แหล่งเงินทุนจากบริษัทแม่ก็ช่วยเสริมธุรกิจเงินฝากของธนาคารได้อีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าเงินกู้ยืมจากกลุ่ม MUFG นั้นถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ

ธนาคารยังคงขยายธุรกิจเงินฝากอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ เงินฝากรวมของธนาคารขยายตัวที่ระดับ 4.8% มาตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 จากการเติบโตของเงินฝากประจำเป็นหลัก ในอนาคตธนาคารมีความคาดหวังว่าการมีฐานลูกค้าที่กว้างขวางขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นจะส่งผลให้ธนาคารสามารถขยายฐานเงินฝาก CASA ได้มากขึ้น

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยามีสภาพคล่องเฉพาะในส่วนของธนาคารเองอยู่ในระดับที่เพียงพอและใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางรายอื่น ๆ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ระดับ 136% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ระดับ 90% แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 180% ในขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากของธนาคาร ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 อยู่ที่ระดับ 28% ซึ่งถือว่าน่าพอใจ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าแหล่งเงินกู้และความช่วยเหลือที่ธนาคารได้รับจากกลุ่ม MUFG ถือเป็นปัจจัยเสริมด้านสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ต่อไปนี้คือสมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยาในระหว่างปี 2562-2564

• อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7%

• ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.4%-1.5%

• อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.0%

• อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของจะอยู่ที่ระดับ 12%-13%

• อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.3%-2.4%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงสถานภาพในการเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม MUFG และจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากธนาคารแม่ต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่สถานะด้านเครดิตของกลุ่ม MUFG มีการเปลี่ยนแปลง หรือในกรณีที่ทริสเรทติ้งพิจารณาเห็นว่าระดับความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่มีต่อกลุ่มเปลี่ยนไป

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการในการจัดอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์, 30 มีนาคม 2560

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ