ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ “ลบ” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ยืม ใช้เป็นเงินลงทุน และ/หรือใช้ตามวัตถุประสงค์ทั่วไปของบริษัท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท ตลอดจนธุรกิจและแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลาย และการมีตลาดที่ครอบคลุมกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางส่วนจากภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทและจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก
ผลการดำเนินงานของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน (ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากการขายและรายได้ค่าเช่า) ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรายได้จากการขาย 1.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเป็นรายได้ค่าเช่าและบริการและรายได้อื่นประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีการเติบโตจากธุรกิจการสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเวชภัณฑ์และสินค้าทางเทคนิค และจากการขยายสาขาในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ยังได้รับแรงกดดันจากการลดลงของยอดขายกระป๋องอะลูมิเนียมสำหรับเครื่องดื่มชูกำลัง
บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (บิ๊กซี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) รายใหญ่อันดับสองของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 40% ของจำนวนสาขาทั้งหมดในประเทศไทย บิ๊กซียังคงขยายสาขาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อคงความสามารถทางการแข่งขันไว้ โดยในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2562 บิ๊กซีได้ขยายสาขาร้านค้าปลีกทั่วประเทศ โดยเปิดสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา และร้านสะดวกซื้ออีก 151 สาขา การขยายสาขาเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ของบิ๊กซีในปี 2562 เนื่องจากยอดขายสาขาเดิม (Same-Store-Sales) ได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว โดยยอดขายสาขาเดิมในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2562 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.3% และ 4.9% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับฐานการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมที่สูงในปี 2561 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันฟุตบอลโลก (FIFA World Cup 2018) อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของบิ๊กซีปรับดีขึ้นในระหว่างปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการระมัดระวังในการใช้จ่ายสำหรับการส่งเสริมการขายและมีค่าขนส่งที่ลดลง
นอกจากนี้ การที่ประเทศจีนจำกัดการเดินทางของประชาชนจีน ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19 (COVID-19) เมื่อไม่นานนี้ อาจส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจค้าปลีกของไทยชะงักลงได้ ยอดขายของบิ๊กซีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาในพื้นที่ท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง
โดยรวม บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีและมีกำไร ในขณะที่ สถานะทางการเงินและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่พอรับได้ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1.54 หมื่นล้านบาท และมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ 1.18 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง โดยมีหนี้สินสุทธิอยู่ที่ 1.54 แสนล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 7.2 เท่า และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 9.7% ณ เดือนกันยายน 2562
ตามที่เทสโก้ได้ประกาศขายกิจการในทวีปเอเชีย หากบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์เข้าประมูลซื้อกิจการครั้งนี้ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ในการเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงกลยุทธ์ในการผสานพลังทางธุรกิจระหว่างเทสโก้กับบิ๊กซี การประหยัดต้นทุน และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน เมื่อพิจารณาถึงการลงทุนที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ หากบริษัทชนะการประมูล อาจทำให้ต้องจัดหาเงินกู้ใหม่จำนวนมากเพื่อใช้ในการซื้อกิจการ ดังนั้น การซื้อกิจการโดยเลือกที่จะใช้เงินกู้ยืมจำนวนมากมาเป็นเงินทุนนั้น จะส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญและมีผลต่ออันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงภาระหนี้สินที่ลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ โดยบริษัทยังคงภาระหนี้สินทางการเงินไว้ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานตั้งแต่การซื้อกิจการของบิ๊กซีในปี 2559
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่บริษัทไม่สามารถลดภาระหนี้สินลงได้และทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5 เท่าภายในปี 2563 นอกจากนี้ สถานะทางการตลาดในสายธุรกิจหลักของบริษัทที่อ่อนแอลง ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของยอดขายและอัตรากำไรที่ลดลงนั้นมีผลต่อการลดอันดับเครดิตด้วย อีกทั้ง การลงทุนหรือการซื้อกิจการที่ใช้เงินกู้ยืมจำนวนมากเป็นเงินลงทุนจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อคุณภาพเครดิตของบริษัทได้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการเปลี่ยนมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากบริษัทสามารถลดภาระหนี้สินลงและทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ต่ำกว่า 5 เท่าได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BJC203A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
BJC206A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 17,920 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
BJC213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
BJC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
BJC21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
BJC223A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
BJC223B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
BJC233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
BJC239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
BJC239B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
BJC23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
BJC243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
BJC249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
BJC259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
BJC25DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
BJC269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
BJC26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,730 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
BJC273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
BJC273B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
BJC279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
BJC293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+
BJC299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 12 ปี A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative