ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็น “BB+” จาก “BBB-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของบริษัทและความกังวลของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานในโครงการรับเหมาก่อสร้างที่หลากหลายของบริษัททั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ในการนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงมุมมองในเชิงบวกสำหรับภาพรวมของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงจากลักษณะธุรกิจที่เป็นวงจรขึ้นลงและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าแผน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลงานและความสามารถในการแข่งขันซึ่งเป็นที่ยอมรับ
สถานะทางธุรกิจที่อยู่ในระดับปานกลางของบริษัทเกิดจากการมีผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านการดำเนินงานที่เป็นไปตามแผนและผลงานที่แล้วเสร็จ บริษัทให้บริการงานก่อสร้างหลากหลายประเภท เช่น งานก่อสร้างอาคาร โรงงานอุตสาหกรรม งานโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ท่าเรือ ระบบชลประทาน อุโมงค์ และงานดันท่อลอด เป็นต้น
บริษัทเน้นงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แต่บริษัทมีข้อจำกัดในการประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีคุณสมบัติในการประมูลจะต้องเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ รวมทั้งต้องมีผลงานโครงการขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ และต้องมีเงินทุนจำนวนมาก ดังนั้น บริษัทจึงต้องใช้วิธีประมูลงานประเภทดังกล่าวภายใต้กิจการร่วมค้าหรือเป็นผู้รับเหมาช่วง
ยอดขายจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่าคาดการณ์
บริษัทพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ผ่านบริษัทย่อยโดยได้เปิดขายบ้านเดี่ยวจำนวน 2 โครงการและคอนโดมิเนียมอีก 1 โครงการซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 4.6 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่รุนแรงของตลาดที่อยู่อาศัยและชื่อเสียงของบริษัทที่ยังไม่เป็นที่รู้จักทำให้บริษัทยังไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ โดยยอดขายโครงการบ้านเดี่ยวยังคงต่ำกว่าที่คาดไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบในเชิงลบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ก็น่าจะส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลงในระยะสั้นอีกด้วย
ดังนั้น รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงยังคงมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำและไม่เพียงพอที่จะสร้างผลกำไรโดยรวมให้แก่บริษัทได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีสินค้าที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวนหนึ่งและต้องแบกภาระต้นทุนทางการเงินของโครงการเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทคงไม่สามารถเติบโตในธุรกิจนี้ได้อย่างมั่นคงนัก
มีผลขาดทุนจำนวนมากจากงานก่อสร้างล่าช้าและอัตรากำไรที่อยู่ในระดับต่ำ
การปรับลดอันดับเครดิตมีผลมาจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของบริษัท โดยบริษัทมีรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท ลดลงถึง 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าจะมีงานรอส่งมอบจำนวนมาก แต่รายได้ของบริษัทกลับต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการเอาไว้ โดยส่วนใหญ่มาจากความล่าช้าของงานก่อสร้างโครงการหลัก ๆ ซึ่งประกอบด้วย งานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมสำหรับสถานีรถไฟฟ้ารางเดี่ยวจำนวน 2 สายและงานย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ที่ขาดหายไปจากยอดขายที่อยู่อาศัยที่ไม่ต่อเนื่องอีกด้วย
บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเหลือเพียง 4.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งลดลงจากระดับ 6%-7% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า อัตรากำไรที่อยู่ในระดับต่ำดังกล่าวเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในการประมูลงานและการมีต้นทุนที่เกินงบประมาณในบางโครงการ กล่าวได้ว่าบริษัทมีอัตรากำไรในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงได้ ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ลดลงอย่างมากจนเหลือเพียง 4.2% เมื่อเทียบกับ 8%-10% ในช่วงปี 2559-2561 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะขาดทุนจำนวนมากเกือบประมาณ 500 ล้านบาทในปี 2562 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ขาดทุน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทไม่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก
ผลการดำเนินงานจะยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง
ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้งานใหม่มูลค่ารวมประมาณ 4.6 พันล้านบาทซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ที่ 7 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบอยู่ที่ 1.65 หมื่นล้านบาท และในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ระดับ 9-12 พันล้านบาทต่อปี
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอของบริษัทจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปเนื่องจากงานที่ยังไม่ส่งมอบจำนวนมากมีอัตรากำไรที่ต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น ความล่าช้าของโครงการหลัก ๆ จะยิ่งส่งผลให้อัตรากำไรโดยรวมลดลงยิ่งขึ้นอีกด้วย บริษัทยังคงต้องเน้นงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและได้รับงานใหม่ด้วยการเป็นผู้รับเหมาช่วงซึ่งโดยทั่วไปจะมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำ
จากอัตรากำไรที่อยู่ในระดับต่ำ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลกำไรที่ต่ำหรืออาจขาดทุนเล็กน้อยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยประมาณการพื้นฐานสำหรับปี 2563-2565 ของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบริษัทจะอยู่ในช่วง 5.5%-6% และอัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 7% ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 6% กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 600-750 ล้านบาทต่อปี และเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 300-450 ล้านบาทต่อปี
โอกาสสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในระยะปานกลาง
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างภายในประเทศเติบโตที่ระดับ 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการก่อสร้างภาครัฐเพิ่มขึ้น 5.7% ในขณะที่ภาคเอกชนนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 1.8% แนวโน้มของงานก่อสร้างภาคเอกชนจะยังคงชะลอตัวตามการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยซึ่งมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของการก่อสร้างภาคเอกชน ทั้งนี้ การที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอยู่ในปัจจุบันก็ทำให้คาดว่าการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2563 จะยังคงชะลอตัวตามไปด้วยเช่นกัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าการก่อสร้างภาครัฐจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการก่อสร้างภายในประเทศ ทั้งนี้ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนอกจากพึ่งพาภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวแล้ว งบการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจก็เป็นปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงยังคงมีมุมมองในเชิงบวกสำหรับภาพรวมของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอยู่ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถได้รับงานขนาดใหญ่ใหม่ ๆ จากโครงการเหล่านี้ในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของธุรกิจยังประกอบไปด้วยความล่าช้าเป็นเวลายาวนานในการเบิกจ่ายงบประมาณและการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ กระบวนการอนุมัติพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 มีความล่าช้ากว่ากำหนดและยังมีข้อขัดข้องจากปัญหาการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณและจะทำให้การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ต้องล่าช้าออกไปด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากการเปิดประมูลมีความล่าช้า
ภาระหนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูง
การขาดทุนจำนวนมากในปี 2562 ทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทอ่อนแอ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 51.9% ณ เดือนกันยายน 2562 เพิ่มจาก 46.1% ณ สิ้นปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจากความล่าช้าในงานก่อสร้างบางโครงการ ยิ่งไปกว่านั้น ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะไม่สามารถขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีเพื่อนำเงินที่ได้มาไปลดภาระหนี้ลงได้อีกเช่นกัน
ภายใต้ประมาณการพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 4.5-5 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 55%-60% กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนนี้จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ -2% ในปี 2562 และหลังจากนั้นจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 เท่า
มีโอกาสผิดเงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงิน
บริษัทมีแนวโน้มที่จะผิดเงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงิน ซึ่งบริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนภาระหนี้รวมสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้เกิน 2.5 เท่า เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินหลักในสัญญาหุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากธนาคาร ในขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 2.3 เท่า ณ เดือนกันยายน 2562 ทริสเรทติ้งมองว่าหลังจากนี้บริษัทจะมีความเสี่ยงในการผิดข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวค่อนข้างสูง จากข้อกำหนดที่ค่อนข้างตึงตัวนี้ อัตราส่วนดังกล่าวมีโอกาสที่จะสูงเกินข้อกำหนดหากบริษัทไม่สามารถบริหารจัดการความต้องการเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระ สำหรับกรณีนี้ ทริสเรทติ้งย้ำว่าหากบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขทางการเงินดังกล่าวได้ หรือไม่สามารถขอผ่อนผันข้อกำหนดทางการเงินได้ อันดับเครดิตของบริษัทก็อาจได้รับการปรับลดลง
สภาพคล่องที่ตึงตัว
บริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัว โดย ณ เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดจำนวน 766 ล้านบาทและและวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 452 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 300-450 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้จำนวนมากที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้ารวมทั้งสิ้น 3.9 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารจำนวน 2.1 พันล้านบาทและหุ้นกู้อีกจำนวน 1.7 พันล้านบาท บริษัทใช้เงินกู้ยืมจากธนาคารเกือบทั้งหมดเป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการก่อสร้างซึ่งมีกำหนดชำระคืนตามความก้าวหน้าของการก่อสร้าง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถต่อสัญญาการกู้ใหม่ออกไปได้ ในขณะเดียวกันบริษัทวางแผนจะชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนมากดังกล่าวแล้ว ความเสี่ยงจากการหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระคืนหนี้ก็นับว่าเป็นประเด็นกังวลอีกประการหนึ่งของบริษัทด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• ในช่วงปี 2563-2565 รายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 9-12 พันล้านบาทต่อปี
• อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 7%
• อัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 6%
• บริษัทจะได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และมูลค่า 7 พันล้านบาทในปี 2564 และปี 2565
• รายได้จากโครงการอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ในช่วง 350-500 ล้านบาทต่อปี
• เงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจหลักเอาไว้ได้และจะสามารถประมูลงานขนาดใหญ่ใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องจากการที่ภาครัฐเร่งประมูลงานโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทนั้นน่าจะอยู่ในระดับตามที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินนั้นน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 55%-60%
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากภาระหนี้สินของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะยังคงมีสัดส่วนที่น้อย อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตจะเกิดได้หากบริษัทสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและลดภาระหนี้สินลงได้อย่างมากจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 50% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเกินกว่า 15%
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงอ่อนแอลงจากระดับปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขทางการเงินหรือไม่สามารถขอผ่อนผันข้อกำหนดทางการเงินได้ก็จะมีผลให้อันดับเครดิตปรับลดลงได้เช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) (NWR)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
NWR208A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,720.1 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable