ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลระดับโลก ตลอดจนแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับ กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ ฐานการผลิตที่กระจายตัว และแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคาน้ำตาล ตลอดจนกำแพงการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดหาอ้อยทั้งในส่วนของปริมาณและคุณภาพของอ้อยด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้อัตรากำไรหดตัว
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ยังคงอ่อนแอต่อเนื่องมาจากปี 2561 ราคาน้ำตาลที่ตกต่ำเป็นระยะเวลานานจากอุปทานส่วนเกินของผลผลิตอ้อยทั่วโลกส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทลดลง บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561-2562 ลดลงจากระดับ 1.85 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2560 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 16%-18% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561-2562 จากระดับ 23.3% ในช่วงเดียวกันของปี 2560 ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจเอทานอลและธุรกิจผลิตไฟฟ้ากลับได้รับประโยชน์จากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบลดต่ำลง
อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกได้เปลี่ยนกลายมาเป็นอุปทานขาดแคลนในช่วงฤดูกาลผลิต 2562/2563 อันเนื่องมาจากสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและการลดลงของพื้นที่ปลูกอ้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและประเทศอินเดีย ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 15 เซ็นต์/ปอนด์จากระดับราคาเฉลี่ย 12.4 เซ็นต์/ปอนด์ในช่วงฤดูกาลผลิต 2561/2562
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้และอัตรากำไรของบริษัทจะลดลงต่อไปอีกในปี 2563 ผลประโยชน์จากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นน่าจะถูกหักลบโดยปริมาณน้ำตาลที่ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ กำไรจากธุรกิจเอทานอลและธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะลดลงเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้นเมื่ออ้อยขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปตามการปรับตัวของปริมาณอ้อยและวงจรธุรกิจ
ภาระหนี้เพิ่มขึ้นและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ลดลงในช่วงวงจรธุรกิจขาลง
บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนจำนวนมากและมีอัตรากำไรที่อ่อนแอลงในช่วงวงจรธุรกิจขาลง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55% ณ เดือนกันยายน 2562 เทียบกับระดับ 50%-52% ในปี 2558-2560 กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ก็ปรับตัวลดลง ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 13.2% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ลดลงจากระดับ 17%-22% ในปี 2558-2560 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จากระดับ 5%-6.3% ในปี 2558-2560
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 1.2-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโรงงานน้ำตาลหลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งใช้ลงทุนในการขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าภายในประเทศและสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ แม้ว่าจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้คงอยู่ที่ระดับประมาณ 55% ได้ เนื่องจากบริษัทมีปริมาณผลผลิตที่ลดลงอย่างมาก ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12% ในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 15% ในปี 2564-2565
เป็นผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำของโลก
บริษัทเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียและเป็น 1 ใน 5 ของกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก บริษัทมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และออสเตรเลีย นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอินโดนีเซียผ่านทางบริษัทร่วมทุนอีกด้วย ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากำไรของบริษัทมีความผันผวนน้อยกว่าผู้ผลิตน้ำตาลรายอื่น ๆ ในประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและมีโรงงานตั้งอยู่ในหลายประเทศ
บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลรวม 4.6 ล้านตันในฤดูการผลิต 2561/2562 จากปริมาณการผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่ระดับ 179.9 ล้านตัน สำหรับในระดับประเทศนั้น บริษัทเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดมานาน โดยโรงงานของบริษัทในประเทศไทยผลิตน้ำตาลจำนวน 2.9 ล้านตันในฤดูการผลิต 2561/2562 หรือคิดเป็นสัดส่วนทางการตลาดสูงสุดที่ระดับ 20% ของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในลำดับที่ 3 ในประเทศจีนอีกด้วย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 10% และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 1 ล้านตัน ในขณะเดียวกัน บริษัทยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศออสเตรเลียโดยมีปริมาณการผลิตที่จำนวน 0.5 ล้านตันอีกด้วยเช่นกัน
ธุรกิจพลังงานช่วยรองรับความผันผวนของรายได้
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้ารวม 606.3 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้าที่ทำกับหน่วยงานราชการรวม 248.8 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตเอทานอลสูงสุดนั้นอยู่ที่ 1.46 ล้านลิตรต่อวัน
รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1.52 หมื่นล้านบาทในปี 2561 และ 1.23 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จาก 1.05 หมื่นล้านบาทในปี 2556 ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าและการเติบโตของความต้องการใช้เอทานอล
ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและเอทานอลรวมกันประมาณ 16% ของรายได้รวม กระแสเงินสดที่มั่นคงจากการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจพลังงานช่วยพยุงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ประสบภาวะราคาน้ำตาลตกต่ำได้บางส่วน
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทจะมีหุ้นกู้จำนวน 4.2 พันล้านบาทและเงินกู้ระยะยาวจำนวน 4 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระ รวมทั้งจะมีงบเพื่อการลงทุนอีกประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนแหล่งเงินทุนนั้นจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 1.11 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกประมาณ 2.12 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถที่บริษัทจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกทั้งจากตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศและเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะลดลง 6%-9% ต่อปีในระหว่างปี 2562-2563 และจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6%-7% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 16%-17% ในระหว่างปี 2562-2563 และจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 19%-20% ในระหว่างปี 2564-2565
• ค่าใช้จ่ายส่วนทุนทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.2-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและประเทศจีนต่อไปได้ โดยคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้แม้จะมีการเปิดเสรีอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยก็ตาม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทมีโอกาสปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดหมายไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ในระดับเกินกว่า 7 เท่า ในทางตรงกันข้าม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นจากระดับปัจจุบันเป็นอย่างมากและเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC209A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC20OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC229A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
MPSC236A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,610 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
MPSC256B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,210 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
MPSC259A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
MPSC26DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
MPSC286A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,630 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
MPSC28DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
MPSC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable