ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” ที่ “BBB” หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ “BBB-” และเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Positive” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 9, 2020 14:39 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทที่อยู่สูงเกินกว่าระดับ 20% ตามเกณฑ์การจัดอันดับของทริสเรทติ้ง

ในเวลาเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ด้วยเพื่อสะท้อนการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทซึ่งจะช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อันดับเครดิตสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า ตลอดจนประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรหรือบูรณาการในแนวดิ่ง (Vertical Integration) กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า และผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของโครงการโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงด้านการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้า ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และระดับการก่อหนี้ของบริษัทที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้สินที่ปรับตัวดีขึ้น

กระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทยอยเปิดดำเนินงาน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นที่เมืองเซ็นได (Sendai) และคิมิตสึ (Kimitsu) สามารถเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนการที่วางไว้ ช่วยสร้างกระแสเงินสดให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 พันล้านบาทในปี 2562 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มมากขึ้นโดยจะอยู่ระหว่าง 4.5-5 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้สินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.3 เท่าในปี 2562 จากผลของการลงทุนที่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 6 เท่าเมื่อเทียบกับ 8 เท่าภายใต้ประมาณการก่อนหน้าของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะไม่ทำการลงทุนจำนวนมากจนทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.2 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่เหนือระดับ 10% ในช่วงปี 2563-2565

โรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ

ทริสเรทติ้งมองว่าประสบการณ์ในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทจะช่วยรักษาผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ต่อไป

ผลงานในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทเป็นที่ประจักษ์ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณไฟฟ้ารวมต่อปีที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทขึ้นถึงระดับปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ 50% (ระดับ P50) ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมขึ้นถึงระดับ P75 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของบริษัทนั้นทรงตัวอยู่ในระดับที่น่าพอใจเกินกว่า 80%

กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ในการพิจารณาอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังได้นำความเสี่ยงในระดับต่ำซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจผลิตไฟฟ้ามาประเมินร่วมด้วย โดยเห็นว่าธุรกิจนี้น่าจะยังคงเป็นหัวใจสำคัญของผลประกอบการของบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้อันเนื่องมาจากความเสี่ยงในการดำเนินงานและความเสี่ยงในการชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้ามากกว่า 100 แห่งในพื้นที่ที่แตกต่างกันซึ่งช่วยลดการพึ่งพิงผลการดำเนินงานของโครงการใดโครงการหนึ่งหรือเพียงไม่กี่โครงการอีกด้วย ทั้งนี้ ณ เดือนมกราคม 2563 กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทรวมกันทั้งหมดอยู่ที่ 625 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงโครงการใหม่อีก 2 แห่งในประเทศเวียดนามด้วย โดยพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นส่วนประกอบหลักของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า (455 เมกะวัตต์) ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพลังงานที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามที่คาดการณ์และสร้างกระแสเงินสดที่น่าเชื่อถือได้

โรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าจึงอยู่ในระดับต่ำ เมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคเอกชนด้วย ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนโดยทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงในการชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่า อย่างไร

ก็ตาม บริษัทมีกำลังการผลิตภายใต้รูปแบบสัญญาดังกล่าวคิดเป็นจำนวนที่น้อยกว่า 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น อีกทั้งผู้ซื้อไฟฟ้าภาคเอกชนส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสถานะด้านเครดิตในระดับที่ยอมรับได้

ขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า

บริษัทเป็นผู้ประกอบการรายสำคัญในธุรกิจดั้งเดิมคือการจัดหาและการผลิตอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า บริษัทจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยที่สินค้าของบริษัทนั้นมีความหลากหลายครอบคลุมทุกขั้นตอนของระบบการส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งผลงานที่ยาวนานและการมีสินค้าที่หลากหลายช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้ามีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยที่ค่อนข้างมั่นคงที่ระดับประมาณ 31% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

บริษัทยังคงได้ประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรเนื่องจากธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มของบริษัทในปัจจุบันมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและผู้จัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้านั้น บริษัทสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop Service) แก่เจ้าของโครงการซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ความเสี่ยงด้านการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้า

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่จำนวน 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่น คือ โครงการอุตสึโนะมิยะ (Utsunomiya) และโครงการอิวาคุนิ (Iwakuni) โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทรวมกันอยู่ที่ 142 เมกะวัตต์ โครงการทั้ง 2 แห่งนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทและใช้เวลา 3-4 ปีจึงจะพัฒนาแล้วเสร็จ การก่อสร้างที่ใช้เวลานานอาจส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถคาดเดาและค่าใช้จ่ายที่เกินจากงบที่ตั้งเอาไว้ได้ ซึ่งในที่สุดก็อาจกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงด้านการก่อสร้างได้ โดยความเสี่ยงดังกล่าวนั้นได้รับการแก้ปัญหาบางส่วนด้วยเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เมื่อปีที่แล้วนั้น ทริสเรทติ้งมีความกังวลว่าโครงการอิวาคุนิอาจถูกปรับลดราคาจำหน่ายไฟฟ้าลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ แต่บริษัทก็สามารถขออนุมัติเชื่อมต่อสายส่งได้ทันภายในกำหนดซึ่งทำให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าของโครงการแห่งนี้ยังคงอยู่ที่ 32 เยนต่อหน่วย

ความเสี่ยงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

บริษัทเพิ่งจะซื้อหุ้นเกือบ 100% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 แห่งในจังหวัดเต็ยนิญ (Tay Ninh) ประเทศเวียดนาม โดยโครงการทั้ง 2 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 60 เมกะวัตต์เริ่มดำเนินงานแล้วในเดือนพฤษภาคม 2562 โครงการในประเทศเวียดนามโดยทั่วไปแล้วมีความเสี่ยงสูงกว่าโครงการในประเทศญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากความเสี่ยงในด้านกฎระเบียบข้อบังคับและคู่สัญญาที่มีสูงกว่า โดยทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) นั้นไม่แข็งแกร่งเท่ากับสถานะเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้าภาครัฐในประเทศไทย อีกทั้งสายส่งในบางจังหวัดก็ยังประสบกับปัญหาด้านขีดความสามารถในการรับส่งกระแสไฟฟ้าอีกด้วย

ตามที่กล่าวแล้ว ความเสี่ยงด้านการดำเนินงานโครงการในประเทศเวียดนามของบริษัทถือว่าพอยอมรับได้ โดยโครงการทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงจากการตัดทอนปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าไม่มากนัก ทั้งนี้ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการทั้งคู่นี้ก็ไม่เคยถูกตัดทอนปริมาณการรับซื้อนับตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้านั้นขึ้นมาถึงระดับที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ P50 นอกจากนี้ การลงทุนในประเทศเวียดนามในปัจจุบันก็ยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 5% ของสินทรัพย์รวมของบริษัทอีกด้วย

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ แต่ก็อาจทำให้สถานะทางการเงินอ่อนแอลงได้

ในปี 2561 บริษัทซื้อหุ้นใน บริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด (FEC) เพื่อต้องการจะเติบโตในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งต่อมาในปี 2562 บริษัทภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นชนะการประมูลโครงการนำสายเคเบิลลงใต้ดินขนาดใหญ่จำนวน 2 โครงการ ส่งผลให้มูลค่างานในมือของบริษัทเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดที่เกือบ 8 พันล้านบาท มูลค่างานในมือจำนวนมากดังกล่าวจะหนุนให้รายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทปีละ 2-4 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 จากระดับต่ำกว่า 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะทำให้รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในทางตรงกันข้าม การขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น ความล่าช้าของการก่อสร้างและอัตรากำไรที่ถูกกดดันจากการแข่งขันประมูล นอกจากนี้ สัญญาก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะสร้างความท้าท้ายต่อการควบคุมต้นทุนและการจัดการด้านทุนหมุนเวียนของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยธรรมชาติแล้วจะให้อัตรากำไรที่ต่ำกว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้า เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทโดยรวมก็น่าจะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 45%-50% ในช่วงปี 2563-2565

ระดับการก่อหนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น

อันดับเครดิตของบริษัทลดทอนลงจากโครงสร้างเงินทุนที่มีการก่อหนี้จำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขยายการลงทุน บริษัทกำลังจะได้วงเงินกู้โครงการคิมิตสึซึ่งบริษัทจะนำไปจ่ายคืนให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งจะทำให้ระดับการก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้น การขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็น่าจะทำให้หนี้สินเพิ่มสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนอีกด้วย

ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจำนวนทั้งสิ้น 2.28 หมื่นล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 61.7% ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 3.66 หมื่นล้านบาทและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นถึงระดับประมาณ 70% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

สภาพคล่องยังแข็งแรง

บริษัทน่าจะจัดการกับสภาพคล่องได้แม้ระดับการก่อหนี้ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยหนี้ของบริษัทประมาณ 3.4 พันล้านบาทจะครบกำหนดในปี 2563 ในขณะที่ ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกับเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดประมาณ 4.6 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรองรับหนี้ที่จะครบกำหนดได้ทั้งจำนวน ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้จำนวน 1 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในปี 2563

ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 3 เท่า ซึ่งบริษัทปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดเนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 1.9 เท่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวได้อย่างน้อยในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า

สมมติฐานพื้นฐาน

• กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 700-800 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า

• รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ระหว่าง 0.9-1.1 หมื่นล้านบาท

• อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ระหว่าง 45%-50%

• เงินลงทุนในช่วงปี 2563-2565 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.82 หมื่นล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้เข้มแข็งขึ้น

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของบริษัทยังคงน่าพอใจและธุรกิจอุปกรณ์ระบบไฟฟ้ายังคงมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างควรจะมีผลการดำเนินงานที่ดีตามที่บริษัทคาดหมายไว้ และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะยังอยู่ที่ระดับประมาณ 6 เท่าอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอ

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทแย่ลงอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ต่ำกว่าการคาดการณ์หรือเป้าหมายที่วางไว้ หรือบริษัทลงทุนขนาดใหญ่ด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก หรือขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

GUNKUL214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,819 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ