ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาทไถ่ถอนภายใน 3 ปีของธนาคารที่ระดับ “AAA” ด้วย
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของธนาคารในการเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (กลุ่ม MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนทางธุรกิจและเงินทุนที่กลุ่ม MUFG มีให้แก่ธนาคารมาโดยตลอด รวมถึงความช่วยเหลือที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มธนาคารแม่ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารย่อยของ MUFG Bank Ltd. (MUFG Bank) ซึ่ง MUFG Bank ถือหุ้นทั้งหมดโดยกลุ่ม MUFG (ได้รับการจัดอันดับ “A/Positive” จาก S&P Global Ratings) และยังเป็นสมาชิกหลักของ กลุ่ม MUFG อีกด้วย
สถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารกรุงศรีอยุธยาสะท้อนถึงธุรกิจและกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายเป็นอย่างดี รวมไปถึงความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อยและตลาดลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนและสถานะเงินทุนของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลางและการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ก็เป็นปัจจัยลดทอนอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารด้วยเช่นกัน
ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต โดยธนาคารได้รับการจัดให้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญในเชิงระบบ (Domestic Systematically Important Banks -- D-SIB) ของประเทศไทยในปี 2560 ส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อของธนาคารอยู่ที่ระดับ 14.4% ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 10 แห่ง ณ สิ้นปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจสินเชื่อรายย่อยจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนผลประกอบการของธนาคารในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งรายได้ก่อนหักภาษีจากธุรกิจสินเชื่อรายย่อย (ไม่รวมรายได้จากการขายเงินลงทุน 50% ในบริษัทเงินติดล้อ จำกัด) นั้นมีสัดส่วนประมาณ 55% ของรายได้จากการดำเนินงานก่อนหักภาษีเงินได้ของธนาคารในปี 2562 ค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่กว่า 80% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมดของธนาคารมาจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคและอุปโภค ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิต การขายประกัน การโอนเงิน และการให้เงินกู้
ต้นทุนการดำเนินงานที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางของธนาคาร แม้กระนั้นอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตอยู่ที่ระดับ 2.2% ในปี 2562 สูงกว่าระดับของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่หลายแห่ง อัตราส่วนผลตอบแทน/สินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยไม่รวมรายได้จากการขายบริษัทเงินติดล้อ อยู่ทีระดับ 1.2% ในปี 2562 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ไทย
ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วน CET-1 ของธนาคารน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับปัจจุบันที่ 12%-13% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยใช้สมมติฐานอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ระดับ 7% ต่อปีและอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 25% ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ อัตราส่วน CET-1 ของธนาคารอยู่ที่ระดับประมาณ 13.05% ณ สิ้นปี 2562
ธนาคารยังคงสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ดีเอาไว้ได้โดยมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 1.92% ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารยังคงเพิ่มระดับสำรองอย่างต่อเนื่องซึ่งเห็นได้จากต้นทุนทางเครดิตที่อยู่ในระดับ 1.62% ในปี 2562 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 163% ณ สิ้นปี 2562 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่เล็กน้อย
ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเงินทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและหลากหลาย ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากที่ระดับ 12.2% ในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นปี 2562 เงินฝากรวมของธนาคารขยายตัวที่ระดับ 9.9% ในปี 2562 จากเงินฝากประจำเป็นหลัก ธนาคารมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่และเงินฝากประจำต้นทุนสูงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ในความเห็นของทริสเรทติ้ง การพึ่งพาดังกล่าวมีความเหมาะสมกับลักษณะสินทรัพย์ของธนาคารอันประกอบไปด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ดอกเบี้ยคงที่ซึ่งมีสัดส่วนกว่าหนึ่งในสี่ของสินเชื่อรวม เงินฝากของธนาคารจึงมีสัดส่วนอยู่เพียง 79% ของแหล่งเงินทุนรวม ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 87% บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ 41% ของเงินฝากรวม ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับประมาณ 60% ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินแบบปรับเป็นตัวเลขเต็มปีของธนาคารอยู่ที่ระดับ 1.8% ในช่วงปี 2562 ซึ่งสูงกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่รายอื่น ๆ
ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยามีสภาพคล่องเฉพาะในส่วนของธนาคารเองอยู่ในระดับที่เพียงพอและใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางรายอื่น ๆ ทริสเรทติ้งมองว่าแหล่งเงินกู้และความช่วยเหลือที่ธนาคารได้รับจากกลุ่ม MUFG ถือเป็นปัจจัยเสริมด้านสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 31% ซึ่งถือว่าน่าพอใจ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 180% โดยอยู่ที่ระดับ 136% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ระดับ 90%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงสถานภาพในการเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม MUFG และจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากธนาคารแม่ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่สถานะด้านเครดิตของกลุ่ม MUFG มีการเปลี่ยนแปลง หรือในกรณีที่ทริสเรทติ้งพิจารณาเห็นว่าระดับความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่มีต่อกลุ่มเปลี่ยนไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการในการจัดอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์, 3 มีนาคม 2563
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 3 ปี AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable