อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีข้อจำกัดบางประการจากการที่บริษัทมีรายได้และกำไรในธุรกิจวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลและโครงการเสาสื่อสารโทรคมนาคมที่ต่ำกว่าคาด รวมถึงความผันผวนของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ โดยการปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นและการจัดเก็บเงินลูกหนี้ค้างชำระได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านซึ่งทำให้งบการเงินปรับดีขึ้นด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
โครงการที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวนมากจะช่วยขับเคลื่อนรายได้
ในปี 2562 บริษัทสร้างรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 1.42 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2561 โดยมีแรงผลักดันจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจ ICT รวมถึงรายได้ของธุรกิจดิจิทัลที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น และจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาและจากศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าครบวงจร
ธุรกิจ ICT เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สูงสุดให้แก่กลุ่มบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นโดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 65% ของรายได้รวม ทั้งนี้ ในปี 2562 รายได้จากธุรกิจ ICT ซึ่งบริหารโดย บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL) เติบโตสูงถึง 18% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนซึ่งเป็นผลจากรายได้จากธุรกิจการค้าและรับเหมาติดตั้ง รวมทั้งจากธุรกิจให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุง นอกจากนี้ รายได้จากบริการจัดการจราจรทางอากาศก็มีอัตราการเติบโตที่ระดับ 3% ในปี 2562 ด้วย โดยอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศและการเติบโตของผู้โดยสารทั่วโลกที่มีความต้องการโดยสารทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น
บริษัทมีงานระหว่างพัฒนาในมือที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่ารวมกันจำนวนมาก โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 70% เป็นงานในธุรกิจ ICT ส่วนที่เหลือเป็นงานในธุรกิจก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยและงานสายส่งไฟฟ้า ทั้งนี้ งานเหล่านี้จะรับรู้เป็นรายได้ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจบริการจัดการจราจรทางอากาศซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ประจำอีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะมาจากงานในมือที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวนมากในธุรกิจ ICT รวมถึงโครงการ ICT ใหม่ ๆ ที่บริษัทมีโอกาสจะได้รับงาน แต่ก็จะถูกลดทอนโดยรายได้จากธุรกิจวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลและโครงการเสาสื่อสารโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีโอกาสที่จะชนะงานประมูลโครงการ ICT ใหม่ ๆ และได้งานโครงการที่สร้างรายได้สม่ำเสมอเข้ามาเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวให้แก่บริษัท
อย่างไรก็ตาม จากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2562 จนขยายไปทั่วโลกในช่วงเวลานี้นั้นทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศและจำนวนผู้โดยสารลดลงซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทในธุรกิจบริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาในปี 2563 ได้
แรงกดดันจากลูกหนี้ค้างชำระลดลง
ณ สิ้นปี 2562 บริษัทบันทึกรายการลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระเกิน 12 เดือนจำนวน 3.9 พันล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้การค้าจากธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยบริษัทมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไปแล้วถึงประมาณ 70% ของหนี้ค้างชำระทั้งหมด
บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (SDC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลมีลูกหนี้การค้าจำนวนมากที่เกิดจากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ซึ่งปัจจุบันเลิกดำเนินการแล้ว) ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน SDC และบริษัทย่อยยังคงตามเก็บเงินคืนจากลูกหนี้ที่ค้างชำระได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับเงินคืนจากลูกหนี้จำนวนประมาณ 666 ล้านบาทในปี 2562 และประมาณ 756 ล้านบาทในปี 2561 นอกจากนี้ SDC ยังได้รับเงินคืนจากลูกหนี้บางรายที่บริษัทได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้เต็มจำนวนแล้วอีกด้วย และได้โอนกลับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้ดังกล่าวคิดเป็นจำนวน 106 ล้านบาทในปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทไม่มีหนี้สูญเกิดขึ้นในปี 2562 และผู้บริหารของกลุ่มบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นคาดว่าจะสามารถจัดเก็บหนี้ที่เหลือต่อไปได้จากผลสำเร็จในการได้รับชำระคืนหนี้ในอดีตและความพยายามในการตามเก็บหนี้ที่ค้างชำระของบริษัท
มีความล่าช้าในโครงการให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัล
SDC ได้เข้าสู่ธุรกิจการให้บริการด้านดิจิทัลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัล (Digital Trunk Radio System -- DTRS) ที่ SDC รับผิดชอบสร้างรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างช้าเนื่องจากงบประมาณภาครัฐมีความล่าช้า ทั้งนี้ คาดว่าหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ โครงการให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลภายใต้กระทรวงมหาดไทยนั้น จะสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่บริษัทในปี 2564 โดยจะมีผู้ใช้วิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลภายใต้โครงการนี้มากกว่า 9 หมื่นรายในช่วง 3 ปีข้างหน้า
บริษัทอยู่ในช่วงการขยายโครงข่ายวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับฐานลูกค้าจำนวนมากที่จะเข้าใช้ระบบในปี 2564 นอกจากลูกค้าในโครงการของกระทรวงมหาดไทยแล้ว บริษัทยังมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจากโครงการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ และโครงการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอื่น ๆ อีกด้วย โดยรายได้จากการให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลจะมาจาก 2 ทางคือ รายได้จากการให้บริการสื่อสาร (แอร์ไทม์) และรายได้จากการจำหน่ายเครื่องวิทยุสื่อสาร ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการจะเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพของกระแสรายได้ในระยะยาว
ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินระหว่างประเทศ
บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (Cambodia Air Traffic Services Co., Ltd. -- CATS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ทำหน้าที่ให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10%-14% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ CATS เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงดังกล่าวจากการเพิ่มขึ้นของการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาและความต้องการโดยสารทางอากาศของผู้โดยสารทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจำนวนเที่ยวบินที่บินขึ้นจากหรือลงจอดในประเทศกัมพูชาและที่บินเหนือน่านฟ้าประเทศกัมพูชาเติบโตในอัตราเฉลี่ย 11% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การจำกัดการเดินทางของประเทศต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจขนส่งของประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศซึ่งรวมถึงจำนวนเที่ยวบินที่ลงจอดหรือที่บินขึ้นในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเที่ยวบินที่บินระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศจีนน่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้และกำไรของ CATS ในปี 2563 จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากไวรัสโควิด-19 โดยระดับของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสนี้
บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นวางแผนจะนำบริษัทย่อย คือ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (SAV) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย SAV เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นใน CATS เป็นหลัก บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นวางแผนจะนำ SAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนเมษายนปีนี้ แต่ระยะเวลาในการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนครั้งแรกของ SAV ตามที่วางแผนไว้อาจเลื่อนออกไปโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น
กำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 22.3% หรือคิดเป็น 3.2 พันล้านบาทในปี 2562 จาก 1.5 พันล้านบาทในปี 2561 อันเนื่องมาจากผลกำไรที่ดีขึ้นในทุกสายธุรกิจของบริษัทและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลง ในปี 2562 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจำนวน 1.5 พันล้านบาท ลดลงจากระดับ 2.5 พันล้านบาทในปี 2561 จากการที่บริษัทไม่มีหนี้เสียจำนวนมาก
ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่รับได้ โดยคาดว่าระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 17%-22% โดยความสามารถในการทำกำไรนั้นคาดว่าจะยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากธุรกิจ ICT เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรจากธุรกิจบริการจัดการคมนาคมทางอากาศในปี 2563 น่าจะลดลงจากผลของจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ลดลง ตลอดจนสถานการณ์ความไม่แน่นอนภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้
ระดับหนี้สินที่ยอมรับได้
บริษัทรายงานหนี้สินทางการเงินที่จำนวนทั้งสิ้น 1.14 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจาก 1.16 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 63% ในปี 2562 และมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 2.9 เท่าซึ่งลดลงจากระดับ 6 เท่าในปี 2561 อันเป็นผลมาจากความสามารถในการทำกำไรที่ดีขี้น
ในช่วงปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนโดยรวมประมาณ 9 พันล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการให้บริการด้าน ICT ใหม่ ๆ รวมถึงโครงการวิทยุสื่อสารในระบบดิจิทัลและเสาโทรคมนาคมเป็นหลัก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 70% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 6 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.7 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 และจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกจำนวนประมาณ 1.5-2.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2665 ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนและภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระ โดยคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.7-6.4 พันล้านบาทในระหว่างปี 2563-2564 และประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2565 บริษัทมีภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 1.7 พันล้านบาทในปี 2563 และอีกประมาณ 0.5 พันล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่า 13% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ต่ำกว่า 6 เท่า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565
• อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17%-22% ในช่วงปี 3 ปีข้างหน้า
• ค่าใช้จ่ายในการลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ 9 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นและผลการจัดเก็บหนี้ค้างชำระได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านซึ่งทำให้งบการเงินของบริษัทปรับดีขึ้น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ ICT เอาไว้ได้ อีกทั้งยังคาดหวังว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจดิจิทัลจะปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับ ในขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าบริษัทจะดำเนินนโยบายในการลงทุนอย่างรอบคอบและบริหารจัดการลูกหนี้อย่างระมัดระวัง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานหรือสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ในการปรับลดอันดับเครดิตก็อาจเกิดขึ้นได้อีกเช่นกันหากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงเกินกว่า 6 เท่าเป็นระยะเวลานาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable