ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” และปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จากเดิม “Negative” หรือ “ลบ” โดยการปรับดังกล่าวสะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART) ซึ่งทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทนั้นมีสถานภาพเป็นสมาชิกหลัก (Core Member) ของกลุ่มสามารถ (SAMART Group) และอันดับเครดิตของบริษัทและของ SAMART มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้บริการด้านเครือข่ายสื่อสารและการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology -- IT) ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในการดำเนินโครงการภาครัฐ การมีสัดส่วนรายได้ในระดับปานกลางจากสัญญาให้บริการ และการมีความเสี่ยงด้านการเงินในระดับที่รับได้ของบริษัท ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความผันผวนของธุรกิจการค้าและรับเหมาติดตั้งระบบที่ขึ้นอยู่กับงบประมาณด้าน IT ของภาครัฐเป็นอย่างมากอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของบริษัทเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของ SAMART
อันดับเครดิตของบริษัทเชื่อมโยงกับสถานะเครดิตของ SAMART เนื่องจาก SAMART ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 71% และบริษัทยังถือว่าเป็นผู้สร้างรายได้หลักของกลุ่มสามารถด้วย ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตของบริษัทยังพิจารณาถึงระดับการพึ่งพาอาศัยกันในระดับสูงระหว่าง SAMART และบริษัท โดยทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเป็นสมาชิกหลักรายสำคัญ (Core member) ของกลุ่ม SAMART เมื่อพิจารณาตาม “ระเบียบวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม” (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งทำให้อันดับเครดิตของบริษัทอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของ SAMART
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นผู้นำและผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในธุรกิจให้บริการด้าน IT ที่ครบวงจรและหลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการภาครัฐ นอกจากนี้ สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ที่สม่ำเสมอจากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงซึ่งช่วยเสริมให้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทมีความมั่นคงแน่นอนอีกด้วย
ในปี 2562 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 9 พันล้านบาท โดยเกือบ 40% เป็นรายได้จากสัญญาให้บริการ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงไม่ต่ำกว่าปีละ 3.2-3.5 พันล้านบาทในระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งรายได้จากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงดังกล่าวจะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัทยิ่งขึ้น
มีความเสี่ยงจากความผันผวนของขนาดและความต่อเนื่องของธุรกิจการค้า/รับเหมาติดตั้งระบบ
สถานะความเสี่ยงของบริษัทมาจากผลประกอบการที่ผันผวนซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบที่มีขนาดมูลค่าโครงการที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกัน การดำเนินงานของบริษัทก็มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนและความไม่ต่อเนื่องในการจัดสรรงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐในบางครั้งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลต่อบริษัทไม่มากนักเมื่อพิจารณาจากจำนวนโครงการที่บริษัทดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบ IT ของประเทศ
มูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบจะเป็นฐานรายได้ในปี 2563
ในปี 2562 บริษัทมีการลงนามในสัญญาโครงการใหม่มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 9.5 พันล้านบาท โดยมูลค่างานประมาณ 4.1 พันล้านบาทจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2563 และจะรับรู้เป็นรายได้อีก 1.7 พันล้านบาทในปี 2564 และอีกประมาณ 0.8-1 พันล้านบาทในปี 2565-2567 นอกจากนี้ สัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงที่กำลังจะหมดอายุในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าก็คาดว่าน่าจะได้รับการต่อสัญญาต่อไปอีกด้วยเมื่อพิจารณาจากขีดความสามารถในการดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมายของบริษัท
ในช่วงปี 2563-2565 ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8-9 พันล้านบาทต่อปี โดยสมมติฐานดังกล่าวยังคำนึงถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่จะส่งผลต่อรายได้จากงานบริการของบริษัทในโครงการที่รายได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารในสนามบินของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เช่น โครงการ Advance Passenger Processing System (APPS) และโครงการ Common Use Terminal Equipment (CUTE) ในบางสนามบินอีกด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐ รายได้ของบริษัทก็อาจได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้าอีกเช่นกัน อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งก็คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะมีจำกัดเมื่อพิจารณาจากความต้องการในการพัฒนาระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับดี แม้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับแรงกดดันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการมีสัดส่วนของงานด้านการค้าและรับเหมาติดตั้งระบบที่เพิ่มขึ้นซึ่งงานรับเหมาติดตั้งระบบนั้นมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันและความล่าช้าของโครงการอีกด้วย อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในระหว่างปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับ 18%-20% โดยเทียบกับระดับ 19.1% ในปี 2562 และคาดหมายว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 1.5-1.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงดังกล่าว
ภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการใหม่ โดยบริษัทมีแผนลงทุนรวม 3.9 พันล้านบาทในปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสัญญาให้บริการในโครงการ APPS และโครงการ CBS Phase 2 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 และคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.5-3.2 เท่าในช่วงปี 2563-2565 จาก 1.9 เท่าในปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ในระดับประมาณ 49%-58% ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเทียบกับที่ระดับ 46.3% ในปี 2562
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อความต้องการใช้จ่าย โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจำนวน 1.6-1.7 พันล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 0.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ตลอดจนวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 6 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีแผนลงทุนรวมมูลค่าประมาณ 4 พันล้านบาทและมีหนี้ที่จะต้องชำระคืนรวมประมาณ 3.4 พันล้านบาทในระยะ 12 เดือนข้างหน้า รวมทั้งคาดว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลอีกประมาณ 300-400 ล้านบาท
ภาระหนี้ที่บริษัทกู้ยืมเพื่อใช้ในการลงทุนโครงการส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นและเงินกู้โครงการ เนื่องจากโครงการของบริษัทส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ดังนั้น การมีรายได้ที่แน่นอนเชื่อถือได้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กระบวนการกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินโครงการและได้เงื่อนไขที่ดีจากผู้ให้กู้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• บริษัทจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8-9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับ 18%-20%
• บริษัทจะใช้เงินลงทุนจำนวน 3.9 พันล้านบาทในปี 2563 และ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของ SAMART ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทั้งนี้ ตาม “ระเบียบวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม” ของทริสเรทติ้ง การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะมีต่ออันดับเครดิตของบริษัทแม่ก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นจนทำให้สถานะทางการเงินของกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมาก หรืออันดับเครดิตของ SAMART อยู่ภายใต้แรงกดดันในเชิงลบ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable