ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Positive” หรือ “บวก” อีกด้วย
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่าอุปสงค์วัสดุก่อสร้างน่าจะยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทยังคงมีการใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการจัดซื้อที่ดินและมีแนวโน้มที่จะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะปานกลางแทนที่จะลดลงตามการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดปูนซีเมนต์ภายในประเทศ รวมถึงประโยชน์จากการขยายการดำเนินงานสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และการมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติก รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel -- RDF) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการกระจุกตัวของแหล่งเงินกู้และข้อกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงในธุรกิจปูนซีเมนต์
บริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิตเท่ากับ 13.5 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 23% ของกำลังการผลิตของทั้งประเทศ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากการมีธุรกิจขนาดใหญ่ การดำเนินธุรกิจปูนซีเมนต์ที่ครบวงจรในแนวดิ่ง (Vertical Integration) และการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งเหล่านี้ก็ถูกบั่นทอนโดยความเสี่ยงหลายประการ อาทิ วงจรอุตสาหกรรมที่เป็นวงจรขึ้นลง การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาถ่านหิน เป็นต้น
ประโยชน์จากการกระจายความหลากหลายทางธุรกิจสู่การผลิตไฟฟ้า
สถานะทางธุรกิจของบริษัทมาจากการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายในธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์ (50% ของรายได้รวมในปี 2562) ธุรกิจพลาสติก (18%) และธุรกิจผลิตไฟฟ้า (20%) อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการพึ่งพากระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างมาก ซึ่งธุรกิจนี้ดำเนินการโดย บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยสร้างกระแสเงินสดส่วนใหญ่ ถึงประมาณ 70% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของทั้งกลุ่มบริษัท
ประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการกระจายธุรกิจไปสู่การผลิตไฟฟ้านั้นมีมากพอที่จะช่วยชดเชยความผันผวนโดยธรรมชาติของธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติกลงได้ นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้กระแสเงินสดโดยรวมของบริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีความแข็งแกร่งซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) เป็นปัจจัยส่งเสริมความเข้มแข็งดังกล่าว ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ประโยชน์แก่บริษัทอย่างมีสาระสำคัญโดยช่วยสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนในระยะยาว อีกทั้งยังทำให้สามารถคาดคะเนกำไรได้ดียิ่งขึ้นและยังช่วยขยายฐานกระแสเงินสดได้อีกด้วย
การประเมินอันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงตำแหน่งทางการตลาดที่เข้มแข็งของบริษัทจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทดำเนินการโดยบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่สำคัญของกลุ่ม บริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 7 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 440 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าจำนวน 4 โรง (180 เมกะวัตต์) ถือสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3 ฉบับเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าขนาด 163 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. อีกทั้งยังได้รับ Adder ในอัตรา 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งนี้ใช้เชื้อเพลิง RDF หรือเชื้อเพลิงจากขยะและความร้อนทิ้งจากโรงงานปูนซีเมนต์ซึ่งทำให้ความเสี่ยงด้านการดำเนินงานโรงไฟฟ้ามีค่อนข้างสูงเนื่องจากปริมาณความร้อนทิ้งที่ไม่คงที่และคุณภาพ RDF ที่ไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ Adder ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2 ฉบับแรก (73 เมกะวัตต์) ก็จะหมดอายุในเดือนมกราคมและสิงหาคม 2565 ในขณะที่ Adder ในสัญญาฉบับสุดท้าย (90 เมกะวัตต์) จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2568
ความเสี่ยงจากการซื้อที่ดิน
รัฐบาลได้ริเริ่ม “โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ” (Special Economic Zone -- SEZ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขึ้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยครอบคลุมพื้นที่ 16,700 ไร่ซึ่งจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่ง และโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงจากทั้งก๊าซธรรมชาติ ชีวมวล หรือพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ
บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าร่วมในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเป็นอย่างมาก โดยในปัจจุบัน บริษัทวางแผนที่จะให้บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติกำลังการผลิตขนาด 1,700 เมกะวัตต์ในโครงการดังกล่าว ในการเตรียมการเสนอโครงการและเพื่อที่จะเป็นผู้ประกอบการรายแรก ๆ ในโครงการนี้ บริษัทได้ให้บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เริ่มทยอยซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2561 และได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินหลายแปลงรวมทั้งสิ้น 16,700 ไร่ มูลค่ารวมประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 บริษัทได้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินที่ทำสัญญาไปแล้วจำนวน 5.6 พันล้านบาทและวางแผนจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือภายในระหว่างปี 2563-2564
ทริสเรทติ้งมองว่าการซื้อที่ดินล่วงหน้าจะทำให้ทั้งบริษัททีพีไอ โพลีน และบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์มีความเสี่ยงหลายประการ ทั้งนี้ เนื่องจากการเริ่มต้นของโครงการยังคงไม่ชัดเจน การตัดสินใจที่เร็วเกินไปอาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากความล่าช้าของโครงการ โอกาสที่รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงนโยบาย และการคัดค้านจากประชาชนในท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะเปิดการประมูลซึ่งจะทำให้บริษัทต้องถือครองที่ดินไว้โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงน่าจะจำกัดลงได้ในตอนนี้ เนื่องจากทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์จะไม่ทำการลงทุนใดๆ เพิ่มเติมในโครงการดังกล่าวจนกว่าบริษัทได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาล เช่น การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ เป็นต้น
ในกรณีที่บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ชนะการประมูลในโครงการดังกล่าว ระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์อาจต้องใช้เงินลงทุนเกินกว่า 1 แสนล้านบาทสำหรับการพัฒนาโครงการในระยะแรกซึ่งจะรวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่า 7-8 หมื่นล้านบาท การลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เงินกู้ของบริษัทดังกล่าวจะส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทแม่ด้อยลงอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทแม่ หรืออาจทำให้บริษัทแม่ผิดเงื่อนไขหุ้นกู้ได้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์น่าจะจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อมด้านการเงินหรือบริษัทอาจจัดทำแผนการเงินที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงภาระหนี้ที่สูงเกินไปดังกล่าว
EBITDA จะขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 2564
ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทยังคงปรับตัวดีขึ้นตามคาดโดยได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทมี EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 7.7 พันล้านบาทในปี 2562 จาก 5.9 พันล้านบาทในปี 2561 และมีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 5.7 พันล้านบาทในปี 2562 จาก 3.9 พันล้านบาทในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธุรกิจปูนซีเมนต์ยังคงอ่อนแอเนื่องจากการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศในขณะที่การคาดการณ์ในเรื่องการลดต้นทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์นั้นยังไม่ปรากฏผลชัดเจน ทั้งนี้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวยังไม่สามารถเดินเครื่องได้ตามเป้าหมายโดยมีสาเหตุมาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอของโรงงานปูนซีเมนต์
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเติบโตสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 8.3 พันล้านบาทในปี 2564 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 7.5 พันล้านบาทในปี 2565 หลังจากที่ Adder ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2 ฉบับแรกหมดอายุลง ทริสเรทติ้งมองว่าผลการดำเนินงานที่มั่นคงของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทซึ่งเพียงพอที่จะชดเชยความอ่อนแอของธุรกิจปูนซีเมนต์ได้ อัตราการใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิง RDF น่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2563 หลังจากการติดตั้งหม้อไอน้ำชุดใหม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ในขณะที่ตลาดปูนซีเมนต์คาดว่าจะยังคงซบเซาต่อไปจากความล่าช้าในการลงทุนโครงการของภาครัฐและจากอุปทานส่วนเกินของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน
ระดับการก่อหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากความต้องการใช้เงินลงทุนจำนวนมากซึ่งประกอบไปด้วยการซื้อที่ดินในจังหวัดสงขลาและการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งใหม่ๆ ปัจจุบันบริษัทกำลังมองหาโอกาสในการลงทุนเพื่อรักษาอัตราการเติบโต โดยวางแผนให้บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์เข้าร่วมประมูลโครงการจำนวนหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะจำนวน 2 โรงขนาดโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2561 (PDP 2018) และการซื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ดำเนินงาน
จากการคาดการณ์ภายใต้กรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งประมาณการว่างบลงทุนของบริษัทในช่วงปี 2563-2565 จะมีทั้งสิ้นประมาณ 2.06 หมื่นล้านบาทโดยประกอบไปด้วยการซื้อที่ดินจำนวน 6.5 พันล้านบาท การปรับปรุงและบำรุงรักษาโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าจำนวน 6.1 พันล้านบาท และงบประมาณลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่ารวม 8 พันล้านบาท การใช้เงินลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDAของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วงระหว่าง 7-7.5 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิน่าจะอยู่ต่ำกว่า 10% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 53%
ทั้งนี้ ภายใต้กรณีพื้นฐานดังกล่าว ทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมการพิจารณาการลงทุนในระยะแรกของโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่มีความแน่นอนทั้งในแง่ของเวลาและโครงสร้างการลงทุน
ความเสี่ยงด้านรีไฟแนนซ์ที่มากขึ้น
อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงด้านการรีไฟแนนซ์เนื่องจากบริษัทมีหุ้นกู้ 2 ชุดมูลค่ารวม 9.6 พันล้านบาทที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนเมษายน 2564 นี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะจำกัดลงบ้างจากมาตรการเชิงรุกต่าง ๆ ของบริษัท เช่น การหาเงินกู้ยืมจากธนาคารมาสำรองไว้และการออกหุ้นกู้ล่วงหน้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ของบริษัทก็ยังขึ้นอยู่กับสภาพตลาดตราสารหนี้ที่ดีด้วย
อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากการขาดแหล่งเงินกู้ที่หลากหลายอีกด้วย เงินทุนที่มาจากแหล่งหุ้นกู้ของบริษัทยังคงมีสัดส่วนถึง 80% ของหนี้ทั้งหมดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในการนี้ บริษัทยังคงสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขของหุ้นกู้โดยบริษัทต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ต่ำกว่า 1.5 เท่า โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 1.03 เท่า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์จะลดลงเล็กน้อยในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้น 1%-1.5% ในช่วงระหว่างปี 2564-2565
• รายได้จากธุรกิจพลาสติกจะคงที่ในช่วงเดียวกัน
• รายได้จากธุรกิจพลังงานจะเพิ่มขึ้น 2%-4% ในระหว่างปี 2563-2564 ก่อนที่จะลดลงในปี 2565
• อัตรากำไรจาก EBITDA จะอยู่ในระหว่าง 19%-21%
• เงินลงทุนจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 2.06 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2563-2565
• เงินปันผลต่อหุ้นจะมีอัตราระหว่าง 0.03-0.05 บาทในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถานะในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติกจะยังคงเดิมในขณะที่ธุรกิจพลังงานจะยังคงมีผลประกอบการที่น่าพอใจและยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดให้แก่กลุ่ม บริษัท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับการก่อหนี้ให้เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นนั้นมีจำกัดในเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นอาจเกิดขึ้นได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อEBITDA ของบริษัทลดลงต่ำกว่า 6 เท่าเป็นเวลานานและบริษัทสามารถกระจายแหล่งกู้ยืมได้ ปัจจัยบวกเหล่านี้อาจเกิดได้จากระดับการก่อหนี้ที่ลดลงหรือผลการดำเนินงานที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่สูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน ในการนี้ อันดับเครดิตอาจลดลงจากการทรุดตัวของธุรกิจปูนซีเมนต์ รวมถึงผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ และการลงทุนที่มีขนาดใหญ่กว่าคาด ในขณะที่การสูญเสียส่วนทุนจำนวนมากจากคดีฟ้องร้องที่ยังคงค้างอยู่ก็อาจก่อให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TPIPL207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TPIPL208A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,205 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TPIPL214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL214B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,530 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TPIPL231B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TPIPL234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,645 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TPIPL251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable