ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จากเดิม “Positive” หรือ “บวก” ตามการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อีกด้วย การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าเงินลงทุนจำนวนมากจะส่งผลทำให้ระดับการก่อหนี้ของบริษัทแม่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะปานกลาง
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” โดยบริษัทจะนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการออกหุ้นกู้นี้ไปใช้สำหรับการซื้อที่ดินในจังหวัดสงขลา
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงที่บริษัทได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนการมีอัตรากำไรที่สูงจากส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ต้นทุนเชื้อเพลิงที่แข่งขันได้ และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากการมีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel -- RDF) รวมถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้หนี้เงินกู้ใน “โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ” (Special Economic Zone -- SEZ) ในภาคใต้ของประเทศไทย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
อันดับเครดิตมีกรอบจำกัดจากอันดับเครดิตของบริษัทแม่
อันดับเครดิตของบริษัทมีกรอบที่จำกัดไม่ให้เกินอันดับเครดิตของบริษัทแม่ซึ่งอยู่ที่ระดับ “BBB+” เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัททีพีไอ โพลีน (ซึ่งได้รับอันดับเครดิต “BBB+/Stable” จากทริสเรทติ้ง) เมื่อพิจารณาถึงสถานะของบริษัทโดยไม่รวมบริษัทแม่แล้ว (Stand-alone Basis) บริษัทจะได้รับอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A” ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าบริษัทแม่
อันดับเครดิตภายใต้กรอบจำกัดนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของบริษัททั้งสองในฐานะบริษัทแม่และบริษัทลูก โดยบริษัททีพีไอ โพลีน ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 70.24% นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแม่ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการของบริษัทและมีอิทธิพลต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จะยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการค้ำจุนอันดับเครดิตของกลุ่มบริษัททีพีไอ โพลีน โดยบริษัทจะยังคงเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดในสัดส่วนที่มากที่สุดให้แก่กลุ่มโดยการสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70%
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงระดับของการเชื่อมโยงทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญระหว่างบริษัทและบริษัทแม่ด้วย ทั้งนี้ การเชื่อมโยงนี้ทำให้บริษัทมีข้อจำกัดในการดำเนินงานและจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานะเครดิตของบริษัทแม่และความผันผวนของธุรกิจปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ เนื่องจาก บริษัททีพีไอ โพลีน เป็นทั้งผู้รับซื้อไฟฟ้าและผู้จำหน่ายพลังงานความร้อนทิ้งแต่เพียงรายเดียวของบริษัท ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของการดำเนินธุรกิจปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ก็จะส่งผลทำให้ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าและปริมาณความร้อนทิ้งของบริษัทแม่ไม่แน่นอนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทด้วย
กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิต “AAA/Stable” จากทริสเรทติ้ง) โดยภายใต้เงื่อนไขของสัญญานั้นบริษัทจะได้รับรายได้ที่สม่ำเสมอตราบเท่าที่โรงไฟฟ้าของบริษัทยังสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ได้ ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัทจำนวน 3 ฉบับซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตรวม 163 เมกะวัตต์นั้นยังให้ส่วนเพิ่ม Adder อีก 3.50 บาทต่อหน่วย บนค่าไฟฟ้าฐานที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 7 ปีซึ่งช่วยยกระดับอัตรากำไรของบริษัทให้อยู่ในระดับสูงอีกด้วย
ในการนี้ ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่ากระแสเงินสดที่มั่นคงของบริษัทจะเริ่มลดลงในช่วงปี 2565-2566 เนื่องจาก Adder ในสัญญา 2 ฉบับแรกจะหมดอายุในเดือนมกราคมและเดือนสิงหาคม 2565 โดยทั้งสองสัญญานี้มีกำลังการผลิตตามสัญญารวมกันทั้งสิ้น 73 เมกะวัตต์ ในขณะที่ ระยะเวลาของ Adder ในสัญญาฉบับสุดท้ายรวม 90 เมกะวัตต์จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2568
ต้นทุนเชื้อเพลิงที่แข่งขันได้
บริษัทมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนของเชื้อเพลิงจาก RDF และความร้อนทิ้งที่มีราคาถูกเนื่องจากเชื้อเพลิง RDF นั้นมีที่มาจากขยะฝังกลบและขยะชุมชน ในขณะที่ความร้อนทิ้งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันเฉพาะตัวของบริษัทเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นตั้งอยู่ใกล้กับโรงปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ อย่างไรก็ตาม ปริมาณพลังความร้อนทิ้งก็มีความไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่เช่นกัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าต้นทุนเชื้อเพลิงของบริษัทจะยังคงแข่งขันได้ การปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่ราคาของเชื้อเพลิงจะเพิ่มขึ้นได้ ปัจจุบันบริษัทสามารถนำขยะชุมชนไปเผาไหม้ได้โดยตรงในหม้อต้มไอน้ำบางชุดของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการแปลงขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF ก่อนได้ ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ขยะชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 31% ในปี 2562 จาก 19% ในปี 2561 ในขณะที่สัดส่วนที่เหลือเป็นขยะจากหลุมฝังกลบที่ถูกคัดแยกมาก่อนแล้วซึ่งจะมีต้นทุนที่แพงกว่าขยะชุมชนค่อนข้างมาก ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสัดส่วนในการใช้ขยะชุมชนเพิ่มมากขึ้นอีกหลังจากติดตั้งหม้อต้มไอน้ำใหม่จำนวน 3 ชุดแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2563 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงโดยรวมของบริษัทลดลง
ความเสี่ยงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอยู่ในระดับสูง
โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง RDF มีความซับซ้อนสูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซหรือถ่านหินโดยทั่วไปเนื่องจากคุณภาพของเชื้อเพลิงขยะนั้นไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะมีโอกาสที่จะมีการดำเนินงานสะดุดสูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเสถียรกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงมองว่าบริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะบำรุงรักษาและปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้คงประสิทธิภาพอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่สูงดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงด้วยประวัติในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะที่ยาวนานของบริษัทรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ป้องกันการหยุดเดินเครื่องนอกแผนของโรงไฟฟ้า
ความเสี่ยงจากการซื้อที่ดิน
โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนั้นเป็นการริเริ่มของรัฐบาลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการที่จะจัดตั้งโครงการดังกล่าวที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยการพัฒนาจะครอบคลุมพื้นที่ 16,700 ไร่ซึ่งจะรวมการสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่ง และโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 3,700 เมกะวัตต์อีก 1 โรง
บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าร่วมในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นที่จะเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติซึ่งมีกำลังการผลิตขนาด 1,700 เมกะวัตต์ในโครงการนี้ ในการเตรียมการเสนอโครงการและเพื่อที่จะเป็นผู้ประกอบการรายแรก ๆ ในโครงการนี้ บริษัทได้เริ่มทยอยซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินหลายแปลงรวมทั้งสิ้น 17,000 ไร่ มูลค่ารวมประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 บริษัทได้จ่ายเงินค่าที่ดินไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 5.6 พันล้านบาทและวางแผนจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือในระหว่างปี 2563-2564
ทริสเรทติ้งมองว่าการซื้อที่ดินล่วงหน้าจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงหลายประการ ทั้งนี้ เนื่องจากการเริ่มต้นของโครงการดังกล่าวยังไม่ชัดเจน การตัดสินใจที่เร็วเกินไปอาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากความล่าช้าของโครงการ ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงนโยบาย และการคัดค้านจากประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนี้ โครงการอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะเปิดประมูลซึ่งกำหนดเวลาที่ยังไม่แน่นอนอาจทำให้บริษัทต้องถือครองที่ดินไว้โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ เป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทยังคงสามารถรองรับภาระนี้ได้ ความเสี่ยงของบริษัทน่าจะจำกัดลงได้เนื่องจากทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะไม่ทำการลงทุนเพิ่มเติมใด ๆ ในโครงการดังกล่าวเว้นแต่ในกรณีที่บริษัทได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาล อาทิ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นต้น
ในกรณีที่บริษัทชนะการประมูลในโครงการดังกล่าว การลงทุนจะทำให้ระดับการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก บริษัทอาจต้องใช้เงินลงทุนเกินกว่า 1 แสนล้านบาทสำหรับการพัฒนาโครงการในระยะแรกซึ่งจะรวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่า 7-8 หมื่นล้านบาท ภาระหนี้สินของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจะทำให้สถานะทางการเงินของทั้งกลุ่มบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะส่งผลให้ต้องมีการปรับลดอันดับเครดิตทั้งของบริษัทแม่และของบริษัทลง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อมด้านการเงินหรือบริษัทอาจจัดทำแผนการเงินที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงภาระหนี้ที่สูงเกินกว่าจะรับได้ดังกล่าว
คาดว่า EBITDA จะขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 2564
ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2562 ยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยได้แรงหนุนจากปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ปริมาณไฟฟ้าที่บริษัทผลิตได้ในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,957 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจาก 1,248 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2561 EBITDA ของบริษัทก็เพิ่มขึ้น 31.9% เป็น 5.56 พันล้านบาท จาก 4.22 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตรากำไร EBITDA ก็ยังคงสูงโดยอยู่ที่ระดับ 52.1%
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์แห่งใหม่ซึ่งขายไฟฟ้าให้บริษัทแม่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากความต้องการไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้นั้นเชื่อมโยงกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของโรงปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ ทั้งนี้ กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ส่วนใหญ่จะเร่งดำเนินงานในช่วง Off-Peak ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าไฟฟ้ามีราคาถูกและจะลดลงในช่วง Peak เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า กรณีดังกล่าวส่งผลทำให้การผลิตไฟฟ้าของบริษัทต้องแกว่งตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าปัญหาด้านเทคนิคนี้จะได้รับการแก้ไขหลังจากที่บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งจะยอมให้บริษัทแม่สามารถจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงในช่วง Peak ได้
ภายใต้กรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF จะดีขึ้นหลังจากหม้อไอน้ำใหม่ได้รับการติดตั้งแล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้ EBITDA ของบริษัทจะสูงถึง 6 พันล้านบาทในปี 2563 และ 6.5 พันล้านบาทในปี 2564 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 5.8 พันล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากการหมดอายุของ Adder อัตรากำไร EBITDA คาดว่าจะลดลงเนื่องจากการมีสัดส่วนที่มากขึ้นของผลกำไรจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรโดยรวมของบริษัทก็น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงระหว่าง 48%-52%
มีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรง
ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังแข็งแกร่ง โดย ณ ปัจจุบันบริษัทมีแผนจะเข้าร่วมประมูลโครงการจำนวนหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 2 โครงการที่ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ต่อโครงการที่จังหวัดสงขลาและนครราชสีมา รวมถึงโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561 (PDP2018) และการซื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินงาน ทั้งนี้ ภายใต้กรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง เงินลงทุนของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 จะมีมูลค่ารวม 1.67 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบไปด้วยการซื้อที่ดินประมาณ 6.5 พันล้านบาทและเงินลงทุนที่ค้างอยู่สำหรับหม้อไอน้ำ 3 ชุดและสายการคัดแยก RDF แห่งใหม่จำนวนรวม 1.9 พันล้านบาทเป็นหลัก นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเพิ่มเงินลงทุนอีกจำนวน 8 พันล้านบาทสำหรับการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอีกด้วย
ด้วยเหตุดังกล่าว อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงน่าจะอยู่ระหว่าง 30%-35% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA น่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ 2-3 เท่า อัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้บ่งบอกถึงสถานะทางการเงินที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเน้นว่าบริษัทนั้นอยู่ในช่วงที่กำลังแสวงหาการเติบโต เพราะฉะนั้นการลงทุนขนาดใหญ่กว่าที่คาดการณ์ไว้จึงมีความเป็นไปได้
ทั้งนี้ ภายใต้กรณีพื้นฐานดังกล่าว ทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมการพิจารณาการลงทุนในระยะแรกของโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่มีความแน่นอนทั้งในแง่ของเวลาและโครงสร้างการลงทุน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.35 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในระหว่างปี 2563-2565
• รายได้จากการดำเนินงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565
• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 50%
• เงินลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 1.67 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2563-2565
• จำนวนเงินปันผลต่อหุ้นจะอยู่ที่อัตราระหว่าง 0.30-0.40 บาทในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัททีพีไอ โพลีน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงในระยะยาวและบริษัทจะยังคงดำรงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัททีพีไอ โพลีน ต่อไป ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะมีต่ออันดับเครดิตของบริษัทแม่ก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีจำกัดจากแนวโน้มการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ในทางกลับกัน การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือหากบริษัทมีการลงทุนที่ใช้เงินกู้มากเกินไปและส่งผลให้หนี้สินรวมของกลุ่มบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตยังอาจปรับลดลงได้เช่นกันหากทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตของบริษัท ทีพีไอ โพลีน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
TPIPP21NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+ TPIPP22NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html