ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4.5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยเช่นกัน โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่อาจเพิกถอนได้โดย บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ หุ้นกู้มีการค้ำประกันดังกล่าวมีสิทธิเท่าเทียมกันกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ในการนี้ บริษัทตั้งใจจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวไปใช้ทดแทนหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท (PS205A) ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนพฤษภาคม 2563 และจ่ายชำระเงินกู้ยืมระยะสั้น
อันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 98.23% นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงรายได้จากเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากบริษัทพฤกษา
เรียลเอสเตทซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของกลุ่มตาม Group Rating Methodology ของทริสเรทติ้งอีกด้วย
บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความหลากหลายของสินค้า ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน และยอดขายรอการส่งมอบจำนวนมากที่ช่วยสนับสนุนรายได้ของบริษัทในอนาคตได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของกลุ่มบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลาง ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดคิดกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและความต้องการที่อยู่อาศัย
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจัดว่าสูงที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยอยู่ในระดับ 4.4-4.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2561 แต่ลดลงมาอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ยอดขายของบริษัททำสถิติสูงสุดที่ 5.11 หมื่นล้านบาทในปี 2561 และลดลงเหลือ 3.56 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนเมษายน 2562 ซึ่งมีความเข้มงวดขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายและรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปีนี้จะลดลงเนื่องจากความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยและอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบได้ อย่างไรก็ตาม รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทน่าจะปรับดีขึ้นเป็น 4-4.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โดยรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทต่อไป ในขณะที่รายได้จากธุรกิจสถานพยาบาลจะยังมีไม่มากนัก
ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนาเป็นจำนวนมากถึงประมาณ 200 โครงการซึ่งมีมูลค่าเหลือขายรวม 1.05 แสนล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) โดยโครงการทาวน์เฮ้าส์คิดเป็นสัดส่วน 47% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมด ในขณะที่โครงการบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 29% และ 24% ตามลำดับ บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้ดังกล่าวให้แก่ลูกค้าคิดเป็นมูลค่าจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2565
อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 19%-21% ในช่วงปี 2559-2562 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 15% ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวซึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 จึงคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจลดลงเล็กน้อยในปีนี้เนื่องจากบริษัทต้องใช้เงินทุนในการทำการตลาดและส่งเสริมการขายเพื่อเร่งยอดขายและยอดโอนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 15% เอาไว้ได้
แม้ว่าบริษัทจะขยายสู่ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและธุรกิจสถานพยาบาล แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่าเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 42% และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 0.75 เท่า
แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีความแข็งแกร่ง แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงต่อตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดของกลุ่มบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน บริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน” ขึ้นเพื่อเข้าไปซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตดีแต่ไม่สามารถต่ออายุที่ครบกำหนดได้ทั้งจำนวนมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้และลดความเสี่ยงจากการต่ออายุหุ้นกู้ของภาคเอกชนได้
ตามงบการเงินรวมของบริษัทพฤกษา โฮลดิ้ง บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.48 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหนี้สินระยะสั้นจำนวน 6 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 1.7 พันล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 7.1 พันล้านบาท แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.8 พันล้านบาท รวมถึงวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกจำนวน 5.7 พันล้านบาท ในขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินเปล่าที่ปลอดภาระค้ำประกันมูลค่าตามบัญชีจำนวน 6.1 พันล้านบาทอีกด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง และทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทย่อยจะสามารถส่งมอบยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่รอรับรู้รายได้จำนวนมากได้ตามแผน แม้ว่าความต้องการที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวจากทั้งผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศผนวกกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 15% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 50% เอาไว้ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของกลุ่มบริษัท หากการลงทุนในธุรกิจใหม่ประสบผลสำเร็จก็จะส่งผลดีต่อกลุ่มบริษัท ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากการลงทุนในธุรกิจใหม่ของบริษัทส่งผลให้สถานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทอ่อนแอลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (PSH)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
PSH215A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 4,750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
PSH22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
PSH223A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
PSH235A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
PSH24NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable