ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) มาอยู่ที่ระดับ “BBB” จากเดิมที่ระดับ “A-” โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่อ่อนแอมากกว่าที่คาด ในขณะที่โอกาสฟื้นตัวยังเป็นไปได้ค่อนข้างยากในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการโฆษณายิ่งชะลอตัวลง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับสื่อของผู้ชมและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสื่อที่มีภาวะแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไปยังส่งผลให้ความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทเป็นไปอย่างจำกัดอีกด้วย ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าการที่บริษัทน่าจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า สถานะอันดับเครดิตที่เหมาะสมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับ “BBB”
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่คาด
ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 รายได้ของบริษัทลดลงในอัตราเฉลี่ย 15% ต่อปีในขณะที่ต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทลดลงในอัตราที่ช้ากว่ามาก ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการดำเนินงานจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว พฤติกรรมในการรับชมสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการแข่งขันจากสื่อดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น
ในปี 2562 ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ รายได้ของบริษัทลดลง 18% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยลดลงมาอยู่ที่ 8.4 พันล้านบาท ในปีที่มีการเลือกตั้งซึ่งปกติแนวโน้มการใช้งบโฆษณาจะมีสูงนั้น แต่การเลือกตั้งในปี 2562 กลับมีการใช้งบโฆษณาไม่มาก นอกจากนี้ การแข่งขันที่สูงขึ้นจากแพลทฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น YouTube, Line TV, Netflix, Viu และอื่น ๆ ก็ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการชมสื่อบันเทิงเพิ่มขึ้นมากและยิ่งทำให้ผู้ชมรายการกระจายตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้โฆษณาสินค้าต้องบริหารจัดการงบโฆษณาให้เหมาะสมยิ่งขึ้นตามไปด้วย
รายได้ค่าโฆษณาของบริษัทลดลง 22% มาอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท แม้บริษัทจะพยายามลดต้นทุนการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ต้นทุนที่ลดลงก็ยังช้ากว่ารายได้ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (ไม่รวมรายการพิเศษและค่าตัดจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการทีวี ซึ่งทริสเรทติ้งคิดเป็นต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทตามลักษณะของธุรกิจ) อยู่ที่จำนวน 127 ล้านบาท เทียบกับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1.1 พันล้านบาท
ผลการดำเนินงานจะยังคงอ่อนแอต่อเนื่องในปี 2563
ทริสเรทติ้งคาดว่าปี 2563 จะยังคงเป็นปีที่ยากลำบากของบริษัทอีกปีหนึ่ง ความสามารถในการหารายได้จะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรงท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ซึ่งทำให้ผู้โฆษณาจะยิ่งลดงบใช้จ่ายโฆษณาลงไปอีก สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยคาดว่าค่าใช้จ่ายโฆษณารวมทุกสื่อจะลดลง 4.4% ในปี 2563 เป็น 1.17 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายโฆษณาทางทีวีจะลดลงประมาณ 5% มาอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท แต่ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายโฆษณาทางทีวีจะลดลงมากกว่านั้นเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยืดเยื้อรวมทั้งผู้ชมรายการที่จะยังคงกระจายตัวมากยิ่งขึ้น
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงในระดับ 14%-16% ในปี 2563 มาอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านบาท โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานรายได้ที่หายไปประมาณ 400 ล้านบาทจากการคืนทีวีดิจิทัลช่อง 28 และช่อง 13 แม้ว่ารายได้บางส่วนจะกลับไปอยู่ที่ช่องหลักคือช่อง 33 ก็ตาม นอกจากนี้ ภาวะทางเศรษฐกิจน่าจะยังส่งผลให้รายได้โฆษณาของบริษัทลดลงอีกด้วยเช่นกัน ในขณะที่เชื้อโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและโชว์ที่ต้องถูกยกเลิกหรือเลื่อนแผนกิจกรรมออกไปอีกด้วย นอกจากนี้ สมมติฐานของทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงความพยายามของบริษัทที่จะเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์และการขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะการที่บริษัทได้เป็นพันธมิตรกับ “WeTV” และ “Tencent Video” ซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานผู้ชมให้แก่บริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งยังคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 7-7.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โดย
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากช่องทางออนไลน์และการจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและโชว์จะกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าโฆษณาของบริษัทน่าจะลดลง 5%-6% ต่อปี ในขณะที่โอกาสที่รายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้นนั้นน่าจะมาจากความสำเร็จในการหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น “D2C” และการเชื่อมต่อช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นทริสเรทติ้งไม่คิดว่าแหล่งรายได้ดังกล่าวจะมีมากพอที่จะช่วยชดเชยการลดลงของค่าโฆษณาปกติได้
ความสามารถในการทำกำไรขึ้นอยู่กับการจัดการต้นทุน
ทริสเรทติ้งมองว่าการลดต้นทุนจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้น ในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อที่จะลดต้นทุนการดำเนินงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านบุคลากร ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งมองว่าอัตรากำไรของบริษัทจะอยู่ภายใต้แรงกดดันในปี 2563 ผลประโยชน์จากต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงจากการคืนช่อง 28 และช่อง 13 รวมทั้งการยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อกในเดือนมีนาคม 2563 จะถูกลดทอนลงจากค่าใช้จ่ายพิเศษด้านพนักงานจากโครงการลดขนาดองค์กร ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5% ในปี 2563 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7%-9% ในช่วงปี 2564-2565 จากการมีค่าใช้จ่ายด้านเครือข่ายที่ลดลงและการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น โดยอัตรากำไรดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 140-200 ล้านบาทในปี 2563 และ 400-600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
มาตรการของ กสทช. สนับสนุนภาระหนี้และสภาพคล่องของบริษัท
มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้ผู้ประกอบการคืนช่องทีวีดิจิทัลและการยกหนี้ค่าประมูลใบอนุญาตส่วนที่เหลือให้ผู้ประกอบการเป็นปัจจัยที่ช่วยลดภาระหนี้และสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัท
บริษัทได้รับประโยชน์จากการยกหนี้ค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลจำนวนประมาณ 1.65 พันล้านบาทและได้รับเงินจากการคืนช่องโทรทัศน์ดิจิทัลทีวีช่อง 28 และช่อง 13 รวม 820 ล้านบาท ทำให้ภาระหนี้ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาทในปี 2562 จาก 4 พันล้านบาทในปี 2561 เนื่องจากบริษัทไม่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่ ทริสเรทติ้งจึงประมาณการว่าบริษัทจะมีแผนลงทุนประมาณ 145 ล้านบาทในปี 2563 และปีละ 110 ล้านบาทในระหว่างปี 2564-2565 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 8-9 เท่าในปี 2563 และจะทยอยลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เท่าในช่วงปี 2564-2565
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะดำรงสถานะสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่ดีได้ต่อไปในระยะ 12 เดือนข้างหน้าโดยพิจารณาจากแหล่งที่มาและแผนการใช้เงินทุนของบริษัท ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 140-200 ล้านบาทต่อปีและจะมีเงินสดและเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2562 อีกจำนวน 2.8 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระทางการเงินรวม 450 ล้านบาทและมีแผนลงทุนประมาณ 145 ล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• บริษัทจะมีรายได้ 7-7.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะต่ำกว่า 5% ในปี 2563 ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7%-9% ในปี 2564-2565
• บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 145 ล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 110 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำทางธุรกิจและรักษาฐานะการเงินที่แข็งแกร่งได้ต่อไป การประเมินแนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงโอกาสที่บริษัทจะเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์และการขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศซึ่งจะช่วยชดเชยรายได้บางส่วนที่หายไปจากงบใช้จ่ายโฆษณาทางทีวีแบบเดิม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่สถานะทางด้านการแข่งขันของบริษัทกลับมามีความแข็งแกร่งและผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ ในขณะที่ปัจจัยกดดันต่อการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งจากภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่องของงบโฆษณาหรือจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจและรูปแบบสื่ออื่น ๆ ที่สามารถทดแทนกันได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) (BEC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable