ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ “A-”
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และ/หรือสำหรับการลงทุน และ/หรือชำระคืนหนี้เดิมของบริษัท และ/หรือให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อย
ทริสเรทติ้งได้ออกประกาศ “เครดิตพินิจ”* แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ให้แก่อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของบริษัทเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศลงทุนของบริษัทในสัดส่วน 20% ใน บริษัท
เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ซึ่งเรียกรวมกันว่า “กลุ่มเทสโก้เอเชีย” (Tesco Asia Group) ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทอีกครั้งหากธุรกรรมเสร็จสิ้น หรือเมื่อมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะมีต่อสถานะเครดิตของบริษัทจากการทำธุรกรรมดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนแล้ว
อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ตลอดจนการมีฐานการผลิตในหลายประเทศ รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากระดับหนี้สินที่สูงของบริษัท ตลอดจนความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งความเสี่ยงจากโรคระบาดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าสินค้า และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเป็นระยะเวลานาน
เครดิตพินิจ (CreditAlert)
ทริสเรทติ้งได้ออกประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ให้แก่อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ทั้งหมดของบริษัทตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศที่ระบุว่าบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดจะเข้าลงทุนในสัดส่วน 20% ในกลุ่มเทสโก้เอเชีย ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ากระบวนการซื้อกิจการจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2563 นี้ โดยจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้อบังคับก่อนสัญญา (Conditions Precedent to Agreement) ซึ่งรวมถึงการได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหรือยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับในปัจจุบัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงผลกระทบที่จะมีต่อสถานะเครดิตของบริษัทจากการทำธุรกรรมดังกล่าว ถึงแม้ว่าการซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยเสริมสถานะทางธุรกิจของบริษัทในด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและเพิ่มการกระจายสินค้าเนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกชั้นนำในประเทศไทยและมาเลเซีย แต่การก่อหนี้เพื่อซื้อกิจการในครั้งนี้จะส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นและจะส่งผลต่อความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างมาก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กลับมาสู่ระดับผลกำไรที่น่าพอใจ
บริษัทมีผลดำเนินงานที่ดีในปี 2562 สาเหตุหลักมาจากผลประกอบการที่ดีของธุรกิจสัตว์บก ในขณะที่ธุรกิจสัตว์น้ำมีอัตรากำไรลดลงเล็กน้อย การขาดแคลนสุกรจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกร (African Swine Fever -- ASF) ในหลายประเทศส่งผลให้ราคาสุกรในประเทศไทยและเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก ราคาเนื้อไก่ก็เพิ่มขึ้นจากการเป็นอาหารทดแทน ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวลดลง ส่งผลทำให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จากระดับ 3.6-4.8 หมื่นล้านบาทในปี 2560-2561 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10.4% ในปี 2562 จากระดับ 7%-9% ในปี 2560-2561
ในอนาคตข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับอานิสงส์จากราคาสุกรที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับต่ำ อุปสงค์ของไก่ส่งออกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีนจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่ผ่านมาไม่นานนี้คือการซื้อกิจการของ Hylife ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจหมูแปรรูปคุณภาพสูงในประเทศแคนาดาอีกด้วย
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งยังประเมินถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 (COVID-19) และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกด้วย โดยทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าผลกระทบที่จะมีต่อผลประกอบการของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง หากเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ส่วนยอดขายสินค้าให้แก่ธุรกิจร้านอาหารจะลดลง ในขณะที่ยอดขายอาหารแช่แข็งจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าว
ภาระหนี้ระดับสูงจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่
แผนการลงทุนเพื่อขยายกิจการที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องจำนวนมากและการซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.47 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 จาก 3.35 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62.1% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 61.4% ณ สิ้นปี 2561
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโต บริษัทจึงได้วางแผนงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีสำหรับการขยายงานโดยไม่รวมการซื้อกิจการ และบริษัทยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนจากการซื้อกิจการที่สอดคล้องกับธุรกิจหลักด้วย
นอกจากนี้ การลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียโดยใช้เงินกู้เป็นหลักตามประกาศในช่วงที่ผ่านมาหากประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและจะส่งผลต่อความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างมาก โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 65% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่า
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากกำไรที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับ 9.8% ในปี 2562 เพิ่มจากระดับ 8.3% ในปี 2561 สภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท แหล่งที่มาของเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้โดยหลัก ๆ จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน สภาพคล่องของบริษัทยังมาจากเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นรวมประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนจำนวนมากใน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 33.9% ในบริษัทซีพี ออลล์ โดยมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าวเมื่อคิดตามราคาตลาด ณ วันที่ 30 มีนาคม 2563 แล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.83 แสนล้านบาท
เป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศ โดยในกลุ่มอาหารสัตว์นั้น บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของปริมาณการผลิตประมาณครึ่งหนึ่งในธุรกิจอาหารกุ้งและมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดอาหารสัตว์บก ส่วนในกลุ่มไก่และสุกรนั้น บริษัทมีปริมาณการผลิตไก่และสุกรคิดเป็นสัดส่วน 22% และ 18% ของประเทศตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทได้รับประโยชน์อย่างมากจากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) เนื่องจากบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ
การกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
การกระจายตัวของฐานการผลิตและแหล่งที่มาของรายได้ในเชิงภูมิศาสตร์ช่วยลดความเสี่ยงในด้านการดำเนินงานให้แก่บริษัทได้บางส่วน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทมีฐานการผลิตอยู่ใน 17 ประเทศซึ่งตั้งอยู่ใน 5 ทวีป โดยในปี 2562 รายได้รวมของบริษัทประมาณ 33% มาจากฐานการผลิตภายในประเทศและอีก 67% มาจากฐานการผลิตในต่างประเทศ กิจการในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 24% ของรายได้รวม ตามมาด้วยรายได้จากกิจการในประเทศเวียดนามในสัดส่วน 16% ส่วนแหล่งรายได้หลักอื่น ๆ นั้นมาจากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น สหราชอาณาจักร ไต้หวัน อินเดีย สหรัฐอเมริกา กัมพูชา รัสเซีย และตุรกี ซึ่งในแต่ละประเทศคิดเป็นสัดส่วน 2%-4% ของรายได้รวมในปี 2562
ในด้านของการตลาดนั้น รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวในหลากหลายพื้นที่ ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 27% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2562 ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายสินค้าในทวีปเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตในปัจจุบันนั้นมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 58% ของรายได้รวมส่วนประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามีรายได้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% และ 5% ของรายได้รวมตามลำดับ ทั้งนี้ ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์นั้นมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบที่เกิดจากโรคระบาดและการกีดกันทางการค้าลงด้วย
ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ก็ช่วยลดความผันผวนของกำไรของบริษัทได้ส่วนหนึ่งด้วย บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าสัตว์บกและกุ้งที่ครบวงจร ผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกอบด้วยอาหารสัตว์ เนื้อไก่ สุกร และกุ้ง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหาร ธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดในปี 2562 คือธุรกิจเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่ สุกร และกุ้ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 44% ของรายได้รวม ตามมาด้วยรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์ (38%) และธุรกิจอาหาร (18%)
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลง 1% ในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 3%-4% ต่อปีในช่วง 2564-2565
• อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วงระหว่าง 9%-10% ในช่วงปี 2563-2565
หากไม่รวมการซื้อกิจการ ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2563-2565
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 12 กันยายน 2561
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CPF204A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,060 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
CPF20NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
CPF205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
CPF218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
CPF218B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
CPF225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
CPF228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
CPF235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,940 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,460 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPF257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPF277A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF281A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,540 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF28NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF30NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
CPF314A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPF328A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+
CPF41DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+
CPF418A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+
CPF17PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 15,000 ล้านบาท A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 15 ปี A+
แนวโน้มเครดิตพินิจ: Negative
หมายเหตุ * เครดิตพินิจ เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการทบทวนผลอันดับเครดิตของตราสารหนี้หรือองค์กรที่ทริสเรทติ้งได้ประกาศผลอันดับเครดิตไปแล้ว ซึ่งโดยปกติการทบทวนดังกล่าวจะกระทำตลอดอายุของตราสารหรือสัญญาและสรุปผลเมื่อครบรอบปี ในระหว่างเวลานั้นหากมีกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของหน่วยงานแต่ข้อมูลผลกระทบยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาทบทวน ทริสเรทติ้งจะประกาศ "เครดิตพินิจ" เพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบถึงผลดังกล่าว โดยมีแนวโน้ม 3 รูปแบบ คือ Positive (บวก) Negative (ลบ) และ Developing (ยังไม่ชัดเจน) ตามลักษณะของผลกระทบนั้น ๆ ทั้งนี้ จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลอันดับเครดิตแต่อย่างใด