ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” โดยการลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอลงมากขึ้น ซึ่งเกิดจากความต้องการสินค้าในตลาดหลักของบริษัทที่หดตัวลงผนวกกับวงจรขาลงที่ยาวนานในอุตสาหกรรมกุ้งและเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” นั้นสะท้อนความเป็นไปได้ที่บริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอีกด้วย
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปในประเทศไทยและกลยุทธ์ที่บริษัทจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลขั้นสูงสุดทั้งในด้านความปลอดภัยของอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากการที่บริษัทพึ่งพาสินค้ากุ้งเป็นอย่างมาก โดยสินค้ากุ้งนั้นมีความอ่อนไหวตามความผันผวนของตลาดโดยธรรมชาติและตามสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังอ่อนไหวตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและการกีดกันทางการค้าอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลประกอบการทางการเงินอ่อนแอลง
ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากในปี 2562 โดยบริษัทมีรายได้ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายก็ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 1.4% ในปี 2562 เมื่อเทียบกับระดับ 4.8%-9.6% ในช่วงปี 2559-2561 ส่งผลให้บริษัทรายงานผลขาดทุนจำนวน 218 ล้านบาทในปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงมีสาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์กุ้งในตลาดหลักของบริษัทที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป ผนวกกับวงจรขาลงที่ยืดเยื้อของอุตสาหกรรมกุ้งและการอ่อนค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิง
เนื่องจาก 53%-63% ของยอดขายรวมของบริษัทมาจากการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ดังนั้น บริษัทจึงมีความเสี่ยงที่เกิดจากการกระจุกตัวของตลาดที่ส่งออกสินค้าในระดับหนึ่ง โดยบริษัทมียอดขายจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงอย่างมากคงเหลือ 5,652 ตันในปี 2562 หรือลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังจากที่บริษัทได้ลดจำนวนลูกค้าสำคัญบางรายออกจากฐานลูกค้าตั้งแต่ปลายปี 2561 นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงยังส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นอย่างมากอีกด้วย โดยในปี 2562 มูลค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงลดลง 8% เมื่อเทียบกับเงินบาท อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงบางส่วนก็ลดทอนลงจากการที่บริษัทใช้สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
ในอนาคตข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะอ่อนตัวลงอีกในปี 2563 และจากนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2564-2565 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นระดับ 5% ในปี 2564-2565 ตามอุปสงค์และราคากุ้งในตลาดโลกที่ค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น
ความไม่แน่นอนของกิจการร่วมค้า
บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศโดยการลงทุนในกิจการร่วมค้าในธุรกิจกุ้งครบวงจรในนาม Belize Aquaculture Ltd. (BAL) (บริษัทถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งสิ้น 34%) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลางตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2562 BAL มีผลการดำเนินงานขาดทุน อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้บันทึกส่วนแบ่งขาดทุนดังกล่าวเนื่องจากผลขาดทุนสะสมจากกิจการร่วมค้าสูงกว่าเงินลงทุน
ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีภาระคงเหลือกับกิจการร่วมค้า BAL รวมทั้งสิ้น 702 ล้านบาทซึ่งอยู่ในรูปของลูกหนี้ค้างชำระอื่น ๆ มูลค่า 378 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 65 ล้านบาท และเงินให้กู้ยืมระหว่างบริษัทอีกจำนวน 259 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขายทรัพย์สินในกิจการร่วมค้าหรือหาผู้ร่วมทุนใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจต่อในอนาคตข้างหน้า
มีประสบการณ์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้ง
บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมาในฐานะผู้แปรรูปและผู้ส่งออกกุ้ง รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 5.53 พันล้านบาทในปี 2562 จาก 2.17 พันล้านบาทในปี 2552 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 10% บริษัทมีฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับการรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศหลายสถาบันทั้งในด้านความปลอดภัยของอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สินค้าของบริษัทจึงได้มาตรฐานสำหรับการจำหน่ายในห้างค้าปลีกชั้นนำทั่วโลก
ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้นส่งผลทำให้ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น
ระดับสินค้าคงคลังของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 131 วันในปี 2562 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 118 วันในช่วงปี 2559-2561 ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.1% ในปี 2562 จาก 49.5% ในปี 2561 นอกจากนี้ บริษัทยังคงใช้เงินลงทุนในระดับที่สูงจำนวน 272 ล้านบาทในปี 2562 เมื่อเทียบกับจำนวน 163-458 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2559-2561 ด้วย ในอนาคตคาดว่าบริษัทยังคงมีแนวโน้มที่จะใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากระดับสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้นแต่เงินลงทุนของบริษัทน่าจะปรับตัวลดลง โดยคาดว่าเงินลงทุนจะลดลงเหลือปีละ 100-120 ล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งต่ำกว่าในช่วงปี 2561-2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 272-458 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงระหว่าง 56%-58% ในปี 2563-2565
สภาพคล่องค่อนข้างตึงตัว
ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าของบริษัทเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 130 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงระยะเวลาเดียวกันที่จำนวน 698 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 65 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้นอีกจำนวน 2.65 พันล้านบาท ในอนาคตทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1%-9% ในช่วงปี 2563-2565 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 1-3 เท่าในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 4.7-5.7 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565
• อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในช่วงระหว่าง 8%-10% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 2%-5% ในช่วงปี 2563-2565
• สมมติฐานอื่น ๆ จะใกล้เคียงกับแนวโน้มในอดีต
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบริษัทจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจเปลี่ยนกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากผลการดำเนินงานและผลประกอบการทางการเงินของบริษัทฟื้นตัวเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทยังคงถดถอยลงอย่างมีสาระสำคัญและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (CFRESH)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CFRESH215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative