ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต “AA/Stable” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศไทย ทั้งนี้ ตาม “วิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม” (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง บริษัทถือว่าเป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ดังนั้น อันดับเครดิตของบริษัทจึงมีระดับเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่และจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันเสมอ
ในการประเมินอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังมีปัจจัยเสริมจากการสนับสนุนจาก Telenor ASA (Telenor) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทแม่ของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสื่อสารแบบไร้สายตลอดจนการลงทุนในระดับสูงเพื่อขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และเพื่อใช้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ทั้งนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการที่จะสร้างการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ และการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
อันดับเครดิตของบริษัทเชื่อมโยงกับสถานะเครดิตของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งตามวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของดีแทค โดยบริษัทแม่ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทและมีส่วนในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทอย่างเต็มที่โดยผ่านช่องทางการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและบริษัทแม่แล้ว อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจึงมีระดับเท่ากันและจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ด้วย
บริษัทมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และถือเป็นบริษัทหลักในการสร้างรายได้ให้แก่ดีแทค โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีฐานลูกค้าจำนวน 20.6 ล้านราย หรือคิดเป็นจำนวนลูกค้าทั้งหมดของบริษัทแม่ และสร้างรายได้รวม 7.54 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 93% ของรายได้รวมของบริษัทแม่
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบจากบริษัทแม่ ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือทางการเงินในเวลาที่จำเป็นเนื่องจากบริษัทมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างผลการดำเนินงานโดยรวมให้แก่บริษัทแม่
การสนับสนุนจาก Telenor
อันดับเครดิตของบริษัทยังมีปัจจัยเสริมความแข็งแกร่งที่มาจากการสนับสนุนที่ Telenor มีให้แก่ดีแทค ซึ่งเป็นบริษัทแม่ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ความรู้ด้านเทคโนโลยี และการใช้ตราสัญลักษณ์ร่วมกันอีกด้วย ดีแทคถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ Telenor ในระดับแนวหน้าในกลุ่มบริษัทที่ Telenor ลงทุนนอกประเทศนอร์เวย์ ความสำคัญดังกล่าวทำให้ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า Telenor จะยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ดีแทคในเวลาที่จำเป็นต่อไป
การใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างการเติบโตของรายได้
ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการสร้างการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยคาดว่าการใช้บริการสื่อสารข้อมูล (Data Service) ที่เพิ่มขึ้น และการโอนย้ายลูกค้าในระบบเติมเงินมาเป็นลูกค้าระบบรายเดือนซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (Average Revenue per User -- ARPU) ที่สูงกว่านั้นน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ รายได้จากการให้บริการแก่ลูกค้าระบบรายเดือนที่เพิ่มขึ้นยังคาดว่าจะช่วยเสริมฐานรายได้รวมของบริษัทได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะยังคงรุนแรงต่อไปซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของรายได้ของบริษัท บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าในระบบเติมเงินและส่วนแบ่งทางการตลาด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงนี้ บริษัทพยายามอย่างมากที่จะหยุดการสูญเสียลูกค้า หากบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายของกลยุทธ์การแก้ปัญหาการสูญเสียลูกค้าดังกล่าวนี้ได้ ก็จะทำให้จำนวนลูกค้ากลับมาเพิ่มขึ้นและทำให้บริษัทเรียกคืนส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมาได้
บริษัทพยายามที่จะลดการสูญเสียลูกค้าลงโดยพยายามสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้โครงข่ายแก่ลูกค้าทั้งจากการเพิ่มจำนวนเสาส่งสัญญาณและการปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายให้ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจและออกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมทางการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ ซึ่งเป็นผลให้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ได้ประมาณ 45,000 รายหลังจากที่สูญเสียลูกค้าติดต่อกันมาหลายปีก่อนหน้านี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทจะยังคงรักษาระดับทิศทางการขับเคลื่อนฐานลูกค้าเช่นนี้ต่อไป แม้จะต้องใช้เวลาพอควรในการฟื้นคืนส่วนแบ่งทางการตลาดก็ตาม
ได้รับผลกระทบต่ำจากไวรัสโควิด-19
ทริสเรทติ้งคาดว่าการห้ามการเดินทางและการจำกัดการออกนอกเคหะสถานเพื่อระงับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 จะส่งผลทำให้รายได้จากซิมท่องเที่ยวและรายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) รวมถึงบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของบริษัทลดลงในช่วงการออกมาตรการปิดประเทศ
แต่ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการการขอความร่วมมือทำงานจากบ้าน (Work-from-Home) ของรัฐบาล โดยประชาชนจำนวนมากสามารถทำงานและเรียนหนังสือจากบ้านได้ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งนี้ ความต้องการใช้บริการและดำเนินกิจกรรมทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวก็จะส่งผลให้มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
มีจำนวนคลื่นเพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ
ทริสเรทติ้งมองว่าจำนวนคลื่นความถี่ (Spectrum Portfolio) ที่บริษัทมีซึ่งรวมถึงคลื่นความถี่ใหม่ที่บริษัทได้มานั้นเพียงพอที่จะรองรับความต้องการในการใช้บริการข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า และยังคาดว่าอุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะเริ่มให้บริการเทคโนโลยีรุ่นที่ 5 หรือ 5G (Fifth Generation) ในเชิงพาณิชย์ได้
ในเดือนมิถุนายน 2562 บริษัทได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (Megahertz -- MHz) จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 1.76 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ จากประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่าจะมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประมูลได้ในเดือนตุลาคม 2563 สำหรับคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์นั้นเป็นคลื่นความถี่ในช่วงความถี่ต่ำ (Low-band) ซึ่งใช้สำหรับส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในวงกว้าง
นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัทยังเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ (Gigahertz -- GHz) จำนวน 2 ชุดซึ่งมีคลื่นความถี่รวม 200 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 910.4 ล้านบาทอีกด้วย โดยคลื่นความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์นี้เป็นคลื่นความถี่ช่วงความถี่สูง (High-band) ซึ่งสามารถนำส่งข้อมูลได้เร็วมากและในจำนวนมาก แต่คลื่นนี้จะสูญเสียทิศทางและอ่อนไหวต่อสิ่งกีดขวางค่อนข้างสูง
ทริสเรทติ้งเข้าใจว่าการที่บริษัทไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ก็เพราะว่าบริษัทได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์อยู่แล้ว ซึ่งคลื่นความถี่ 2600 กับ 2300 เมกะเฮิรตซ์นี้อยู่ในช่วงความถี่ปานกลาง (Mid-band) เหมือน ๆ กัน นอกจากนี้ บริษัทยังได้ติดตั้งเสาส่งสัญญาณสำหรับคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ไปแล้วจำนวน 17,376 เสาเพื่อให้บริการส่งข้อมูลสื่อสารความเร็วสูงอีกด้วย
อัตราส่วนจำนวนคลื่นความถี่ช่วงต่ำถึงช่วงปานกลางต่อจำนวนผู้ใช้บริการของดีแทคอยู่ที่ประมาณ 6.3 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะที่คู่แข่งอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มีจำนวนคลื่นความถี่อยู่ที่ 6.0 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 1 ล้านราย และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ 7.2 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 1 ล้านราย ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนดังกล่าวแล้วจะเห็นว่าความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้าโดยใช้คลื่นความถี่ปัจจุบันต่อจำนวนลูกค้าของบริษัทนั้นถือว่าสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
กระแสเงินสดเติบโต
กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่าน โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.21 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จาก 1.14 หมื่นล้านบาทในปี 2558 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 29.4% ในปี 2562 เปรียบเทียบกับระดับ 17.6% ในปี 2558 การเพิ่มขึ้นของการทำกำไรมาจากรายได้จากการบริการที่เพิ่มสูงขึ้นและการลดค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหาร โดยบริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 1.93 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.42 หมื่นล้านบาทในปี 2561
ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 29%-30% โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงข่ายจะมีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นจากการมีเสาส่งสัญญาณที่เพิ่มขึ้นและจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ารายจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่บริษัททีโอทีและต้นทุนบริการข้ามโครงข่ายไปยังโครงข่าย 2300 เมกะเฮิรตซ์ของบริษัททีโอทีจะยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายทางการตลาดอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
มีหนี้สินในระดับสูง
บริษัทมีหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับสูง กล่าวคือ บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจำนวน 1.19 แสนล้านบาทซึ่งรวมถึงภาระการชำระค่าคลื่นความถี่ ตลอดจนเงินลงทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายโครงข่าย และหนี้สินตามสัญญาเช่าการเงินด้วย อนึ่ง บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 5.4 เท่า
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้งบลงทุนโดยรวมประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทในการขยายโครงข่าย นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระการชำระใบอนุญาตค่าคลื่นความถี่อีกปีละ 5.6 พันล้านบาทถึง 1.32 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในระดับ 5.5-6.5 เท่า ความสามารถในการระดมเงินทุนของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าหลังจากที่บริษัทสร้างรายได้จากคลื่นความถี่ใหม่ที่ประมูลมาได้
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่รับได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทแม่และการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ระดับประมาณ 13%-15% ในช่วงปี 2563-2565 โดยบริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.3 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 และจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกจำนวนประมาณ 1.7-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีและภาระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่อีก 5.6 พันล้านบาทถึง 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทมีภาระสินเชื่อหมุนเวียนที่จะครบกำหนดชำระจำนวนประมาณ 6 พันล้านบาทและมีเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีก 2.5 พันล้านบาทในปี 2564 อีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้จากการให้บริการของบริษัทจะคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปี 2563-2565
• อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วงประมาณ 29%-30% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า
• บริษัทจะใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายโครงข่ายการให้บริการในช่วง 3 ปีข้างหน้า
• ภาระการชำระใบอนุญาตค่าคลื่นความถี่จะอยู่ที่ปีละ 5.6 พันล้านบาทถึง 1.32 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ตามวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่มของทริสเรทติ้ง การเปลี่ยนแปลงใดใดในอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
DTN207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 AA
DTN213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA
DTN217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA
DTN227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA
DTN237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA
DTN244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
DTN247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
DTN257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA
DTN267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA
DTN267B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA
DTN274A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA
DTN279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA
DTN28DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA
DTN299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable