ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 7 หมื่นล้านบาทและครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2568 ของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่ธนาคารมีธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ที่มีความมั่นคงรวมถึงเงินกองทุนและรายได้ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดจากธุรกิจการธนาคารของบริษัทที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีจุดแข็งในด้านสินเชื่อรถยนต์ซึ่งมีรายได้ที่กระจายตัวปานกลาง
สถานะทางธุรกิจของธนาคารทิสโก้สะท้อนถึงจุดแข็งของสินเชื่อรถยนต์ซึ่งธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ระดับ 7.8% โดยอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 18 รายในปี 2561 แต่โดยรวมแล้วธุรกิจการธนาคารของบริษัทยังอยู่ในระดับปานกลาง
การกระจายตัวด้านรายได้ของธนาคารอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น โดยธนาคารมีรายได้หลักมาจากธุรกิจการปล่อยสินเชื่อซึ่งมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและเงินปันผลคิดเป็น 78% ของรายได้รวมในปี 2562 แม้กระนั้น รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิยังถือว่าเป็นรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจำนวนมากซึ่งมีสัดส่วนถึง 32% ของรายได้รวมในปีเดียวกัน ในส่วนนี้เป็นรายได้จากค่านายหน้าขายประกันที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 48% ของค่าธรรมเนียมและบริการรวม
ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ยังคงเป็นธุรกิจหลักในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย
ทริสเรทติ้งคาดว่ากลุ่มทิสโก้จะยังคงมุ่งเน้นการใช้ความชำนาญในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันให้เป็นประโยชน์ต่อไป สินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันประกอบด้วยสินเชื่อที่ออกให้ทั้งที่ธนาคารทิสโก้และที่ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มภายใต้ชื่อ “สมหวัง เงินสั่งได้” ธนาคารมีการดำเนินกลยุทธ์เพิ่มผลตอบแทนโดยให้ความสำคัญกับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันในระยะหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2562 สินเชื่อประเภทดังกล่าวของธนาคารมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 11.3% ซึ่งสูงกว่าการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งอยู่ที่ระดับ -1.3% ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลักโดยเฉพาะสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันซึ่งให้ผลตอบแทนสูงเนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง
มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารทิสโก้มีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหลาย โดย ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารทิสโก้มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ระดับ 17.4% โดยทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารทิสโก้อยู่ที่ระดับ 17%-18% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยพิจารณาฐานจากสินเชื่อที่หดตัวในปี 2563 ซึ่งจะกลับมาเติบโตที่ประมาณ 2% หลังจากนั้น และอัตราการจ่ายปันผลที่ระดับ 65%-75% ทั้งนี้ เงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 72% ของเงินกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพเงินกองทุนที่อยู่ในระดับปานกลาง
รายได้ที่แข็งแกร่งช่วยส่งเสริมเงินกองทุน
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารทิสโก้จะคงความสามารถในการทำกำไรในระดับสูงเพียงพอที่จะรองรับสภาวะความผันผวนตามวงจรธุรกิจได้ แม้ว่าสถานการณ์ดอกเบี้ยจะอยู่ในแนวโน้มที่ลดลง แต่ธนาคารก็ยังสามารถคงอัตราผลตอบแทนได้ดีจากการเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันซึ่งให้อัตราผลตอบแทนที่ดี ทั้งนี้ การมีอัตราผลตอบแทนที่สูงและการควบคุมคุณภาพที่ดีทำให้ธนาคารมีผลกำไรที่แข็งแรงจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.8% ในปี 2562 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 2.1% ทริสเรทติ้งประมาณการว่าธนาคารจะคงผลกำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตให้อยู่ในระดับ 3.1%-3.3% ได้ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำยังช่วยส่งเสริมอัตราการกำไรของธนาคารอีกด้วย อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารที่ระดับ 1.8% ในปี 2562 นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.3% ทริสเรทติ้งยังประมาณการอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของธนาคารว่าจะอยู่ที่ระดับ 44%-45% และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 1.3%-1.5% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
คุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยน่าจะระงับได้
แม้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ยังไม่อาจจะประเมินได้ แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าการบริหารความเสี่ยงที่ดีและนโยบายการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวัง ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้ในส่วนของค่าใช้จ่ายเครดิต ส่วนในด้านคุณภาพสินทรัพย์นั้น อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 2.4% ณ สิ้นปี 2562 ลดลงจากระดับ 2.9% ณ สิ้นปี 2561 โดยสืบเนื่องมาจากการปรับปรุงระบบการจัดชั้นและการรับรู้รายได้ของสินเชื่อประเภทผ่อนชำระที่เสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ในปี 2563 เอาไว้ได้จากการที่ธนาคารมีสินเชื่อในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มาก เช่น กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 5% ของสินเชื่อรวม สำหรับพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อส่วนใหญ่ของธนาคารนั้นเป็นการปล่อยกู้สำหรับการซื้อรถใหม่ซึ่งมีคุณภาพสินทรัพย์โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี
การพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากฐานลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ลดลง
สถานะเงินทุนของธนาคารจัดว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ จากการมีสัดส่วนของฐานเงินฝากรายย่อยที่ค่อนข้างน้อย อัตราส่วนบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account -- CASA) ต่อเงินฝากรวมยังคงลดลงโดยมาอยู่ที่ระดับ 19% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 29% เมื่อ 1 ปีก่อน โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายเงินฝากและต้นทุนการระดมทุนของธนาคารอยู่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเงินฝากต่อแหล่งเงินทุนรวมของธนาคารยังเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 91% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 79% ในช่วงสิ้นปีก่อน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำและการลดลงของเงินกู้ยืมในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นผลมาจากการที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของ ธปท. ในการดำรงแหล่งที่มาของเงินให้สอดคล้องกับการใช้ไปของเงิน (Net Stable Funding Ratio -- NSFR) แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นผลบวกต่อธนาคารโดยแสดงให้เห็นว่าธนาคารลดการพึ่งพาฐานลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ลง ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงมาอยู่ที่ระดับ 109% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 121% ณ สิ้นปีก่อนโดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากและการคงอัตราการขยายสินเชื่อในระดับเดิม
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของธนาคารทิสโก้มีเพียงพอ โดยธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 19% ณ สิ้นปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 134% ณ เดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำแต่ก็อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 179% ตามตัวเลขที่ ธปท. รายงาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารทิสโก้ในระหว่างปี 2563-2565 เป็นดังนี้
• อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะหดตัวในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% หลังจากนั้น
• ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 1.0%-1.2%
• อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับ 2.2%-2.4%
• อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะอยู่ที่ระดับ 17%-18%
• อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 3.1%-3.3%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์เอาไว้ได้ ตลอดจนรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีรายได้ในระดับสูง และมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งต่อไปได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารทิสโก้ในการรักษาความแข็งแกร่งของเงินกองทุน รวมถึงเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจการธนาคาร และ/หรือเพิ่มความสามารถในการระดมเงินจากแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงได้ ในขณะที่อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ เงินกองทุน และความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Banks Rating Methodology, 3 March 2020
- Group Rating Methodology, 10 กรกฏาคม 2558
ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCOB)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 70,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2568 A
- TISCO204A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
- TISCO205B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
- TISCO208A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
- TISCO213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,320 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
- TISCO223B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,220 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable