ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “ธ. เกียรตินาคิน” ที่ “A” หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ “BBB+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 17, 2020 17:11 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคารที่ระดับ “A” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ตลอดจนเงินกองทุนที่เพียงพอซึ่งได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการทำกำไรที่เข้มแข็ง และคุณภาพสินทรัพย์ที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่ธุรกิจธนาคารของธนาคารเกียรตินาคินมีขนาดค่อนข้างเล็กและธนาคารมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมและลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ในระดับค่อนข้างสูง ในระยะปานกลาง ธนาคารอาจเผชิญกับแรงกดดันจากการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยอันเกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนด้านเครดิตก็อาจบรรเทาลงบางส่วนจากการมีนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบของธนาคารและมาตรการผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้ของธนาคารเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ธุรกิจธนาคารมีขนาดเล็กแต่ธุรกิจตลาดทุนมีความแข็งแกร่ง

สถานะทางธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคินสะท้อนถึงการมีธุรกิจธนาคารที่มีขนาดค่อนข้างเล็กซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจวาณิชธนกิจที่แข็งแกร่งภายใต้การบริหารงานของ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ บล. ภัทรมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจวาณิชธนกิจ รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน และธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Banking) ที่กำลังเติบโต ส่วนธุรกิจด้านธนาคารหลัก ๆ ของธนาคารเกียรตินาคินนั้นประกอบด้วยธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงธุรกิจสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าพาณิชยกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระดับปานกลางที่ 5.8% ณ สิ้นปี 2561 จากบรรดาผู้ประกอบการสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากรวมอยู่ที่ระดับ 1.9% และ 1.4% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2562

ทริสเรทติ้งคาดว่าการผสานพลังระหว่างธุรกิจในกลุ่มจะยังคงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเติบโตในธุรกิจหลักของธนาคารอันประกอบไปด้วยบริการสินเชื่อและบริการทางการเงินสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ ลูกค้าวาณิชธนกิจ รวมไปถึงการบริหารความมั่งคั่งและการให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนแก่ลูกค้า Private Banking

แหล่งที่มาของรายได้มีความหลากหลาย

การพิจารณาอันดับเครดิตของธนาคารเกียรตินาคินนั้น ทริสเรทติ้งยังให้ความสำคัญกับแหล่งรายได้ที่หลากหลายซึ่งสร้างสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิต่อรายได้รวมที่ค่อนข้างเข้มแข็งที่ระดับ 25% ณ สิ้นปี 2562 รายได้ค่าธรรมเนียมดังกล่าวประกอบด้วยค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ นายหน้าขายประกัน การบริหารสินทรัพย์ และวาณิชธนกิจ ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับกลุ่มลูกค้าสถาบัน รวมทั้งในธุรกิจวาณิชธนกิจและที่ปรึกษาทางการเงินของธนาคารมีศักยภาพที่จะสร้างผลประกอบการที่มั่นคงมากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกันเหล่านี้ กระนั้นทริสเรทติ้งก็ยังคาดว่าธุรกิจธนาคารจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ธนาคารเกียรตินาคินในช่วงอีก 2-3 ปีข้างหน้าอยู่เช่นเดิม โดยในปี 2562 ผลกำไรสุทธิจากธุรกิจธนาคารมีสัดส่วนถึง 72% ของผลกำไรสุทธิของธนาคารเกียรตินาคินในปี 2562 ตามมาด้วยธุรกิจตลาดทุน (17%) และธุรกิจบริหารหนี้เสีย (11%)

เงินกองทุนค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้น

ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารว่าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 14.5% ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าจากการบริหารเงินกองทุนที่มีความระมัดระวังและแนวโน้มการหดตัวของพอร์ตสินเชื่อในปี 2563 จากผลกระทบที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงอันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าพอร์ตสินเชื่อของธนาคารเกียรตินาคินจะหดตัวที่ระดับ 10% ในปี 2563 แล้วจะกลับมาเติบโตจากฐานที่ต่ำดังกล่าวในปีถัดไป

อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ณ สิ้นปี 2562 ของธนาคารเมื่อรวมกับผลกำไรในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับ 60% แล้วนั้นจะอยู่ที่ระดับ 13.9%-14.0% นอกจากนี้ ธนาคารอาจจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III เพื่อมาทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมซึ่งมีมูลค่า 3 พันล้านบาทภายในสิ้นปี 2563 นี้

ผลกำไรอยู่ภายใต้ความท้าทาย

ธนาคารเกียรตินาคินมีความสามารถในการทำกำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยเมื่อวัดจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของธนาคารซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.94% ในปี 2562 โดยถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.2% อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนธุรกิจตลาดทุนและธุรกิจบริหารหนี้เสียที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้ธนาคารคงความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับสูงได้และจะช่วยรองรับความสูญเสียทางเครดิตที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตอยู่ที่ระดับ 3.7% ในปี 2562 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.0%

ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารในกรณีพื้นฐานว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.4%-1.6% ในระหว่างปี 2563-2565 โดยได้พิจารณารวมไปถึงกรณีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์รายได้ในกลุ่มธุรกิจหลักทั้งหมดของธนาคารเกียรตินาคินว่าจะหดตัวในปี 2563 และหลังจากนั้นจะฟื้นตัวโดยเริ่มจากฐานที่ต่ำตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ต้นทุนทางเครดิตของธนาคารว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงระดับ 1.5%-1.7% ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

มีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์

ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารเกียรตินาคินจะเผชิญกับแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มสูงขึ้นต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคาดว่ามาตรการผ่อนปรนของธนาคารที่มีให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะช่วยให้ธนาคารสามารถคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 4.5% ณ สิ้นปี 2563 จากที่ระดับ 4.0% ณ สิ้นปี 2562

ในความเห็นของทริสเรทติ้ง คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่มีสัญญาณอ่อนแอลงในปี 2562 นั้นยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมซึ่งไม่รวมหนี้เสียเดิมจากกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ 3 รายแรกและจากธุรกิจบริหารหนี้เสียเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.9% ณ สิ้นปี 2562 จาก 2.8% ณ สิ้นปี 2561 ประเภทของสินเชื่อหลักที่มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นได้แก่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.5% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 2.3% ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารมีแผนจะลดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองที่ให้ผลตอบแทนต่ำและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัดส่วนของสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้นนี้ลง สำหรับกลุ่มสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์นั้น อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจนในภาคการผลิต รวมถึงภาคสถานบริการและร้านอาหาร โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความเสี่ยงดังกล่าวในระดับไม่มากนักเนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเหล่านี้เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมที่ระดับประมาณ 7% เท่านั้น ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งไม่รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร

ในขณะเดียวกัน ธนาคารเกียรตินาคินยังคงลดสัดส่วนหนี้เสียจากกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเดิมอยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพในลูกค้ากลุ่มนี้ลดลงสู่ระดับ 10.7% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 13.5% ณ สิ้นปี 2561 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพแบบรวมงบการเงินของธนาคารซึ่งรวมหนี้เสียเดิมจากกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และจากธุรกิจบริหารหนี้เสียอยู่ที่ระดับ 4.0% ณ สิ้นปี 2562 โดยลดลงจากระดับ 4.1% ณ สิ้นปี 2561 และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.7%

การพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมและลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ยังอยู่ในระดับสูง

ธนาคารเกียรตินาคินยังคงพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมและลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ในระดับค่อนข้างสูง โดยแหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่เงินฝากของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 มีสัดส่วน 31% ของแหล่งเงินทุนรวมของธนาคารซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 13% ในขณะที่สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account and Savings Account – CASA) อยู่ที่ระดับ 38% ของเงินฝากรวม โดยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 60% เป็นอย่างมาก ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงธุรกิจเงินฝากที่มีขนาดเล็กและมีต้นทุนสูงซึ่งธนาคารต้องพึ่งพาจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงลูกค้าธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และลูกค้าธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ส่งผลให้ธนาคารมีต้นทุนทางการเงินที่ระดับ 2.32% ในปี 2562 ซึ่งอยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในความเห็นของทริสเรทติ้ง กลยุทธ์ขยายฐานเงินฝากที่มีเสถียรภาพและต้นทุนต่ำของธนาคารถือเป็นพัฒนาการในเชิงบวก กลยุทธ์ดังกล่าวมุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเงินฝากประจำ (KK Phatra Smart Settlement -- KKPSS) สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง รวมไปถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก CASA และบริการบริหารเงินสดให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยธนาคารมีความก้าวหน้าในการขยายเงินฝากดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมา

สภาพคล่องเพียงพอ

ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารเกียรตินาคินจะยังดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอต่อไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อัตราส่วนสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 124% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของทางการ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็กที่ 158% และค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ 183% ณ สิ้นปี 2562 ตามตัวเลขในรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเกียรตินาคินมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากรวมและเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารอยู่ที่ระดับ 32.2% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอแม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับประมาณ 40% ในช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III

อันดับเครดิต “BBB+” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (KK25DA) ของธนาคารเกียรตินาคินสะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ได้รับการชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และเป็นไปตามเกณฑ์ของ ธปท. ในการนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ทั้งนี้ ตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้อย่างน้อยภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. แล้ว โดยผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวสามารถตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารภายใต้เงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ดังกล่าว

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของธนาคารเกียรตินาคินในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้

• อัตราการเติบโตของสินเชื่อ: ระดับ -10% สำหรับปี 2563 และระดับ 3%-5% สำหรับปี 2564-2565

• ต้นทุนทางเครดิต: 1.5%-1.7%

• อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม: 4.1%-4.6%

• อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1: 14.0%-15.5%

• อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิต: 3.3%-3.4%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าธนาคารเกียรตินาคินจะยังคงเพิ่มความแข็งแกร่งของเงินกองทุน พัฒนาคุณภาพสินทรัพย์และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการผสานพลังกับธุรกิจตลาดทุนและธุรกิจบริหารความมั่งคั่งให้มากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารเกียรตินาคินในการขยายธุรกิจธนาคารและ/หรือเพิ่มความสามารถในการระดมเงินจากแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงได้ อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากเงินกองทุน รวมไปถึงคุณภาพสินทรัพย์ หรือสภาพคล่องอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญ นอกจากนี้ หากความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญอันเนื่องมาจากการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลง หรือมีรายการขาดทุนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้คาดหมายจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนก็อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงได้เช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- Banks Rating Methodology, 3 March 2020

ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

KK208A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A

KK212A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A

KK218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A

KK25DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ