ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จากเดิม “Stable” หรือ “คงที่” ด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” สะท้อนการคาดการณ์ผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 และความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อบริษัทมากกว่าประมาณการของ
ทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” ยังสะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการขยายธุรกิจในต่างประเทศและผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวกว่าที่คาดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจร้านอาหารอีกด้วย ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังคงสะท้อนสถานะทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจร้านอาหารและร้านอาหารบริการด่วนด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563
การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมร้านอาหาร ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโดยรณรงค์ให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งนำไปสู่มาตรการปิดเมืองโดยมีการจำกัดการเดินทาง การให้ทำงานจากบ้าน หรือการอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ รวมไปถึงการให้กิจการร้านค้าและศูนย์การค้าส่วนใหญ่หยุดให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารแบบรับประทานที่ร้าน บริษัทได้ปิดให้บริการร้านอาหารบริการด่วนและร้านอาหารปกติที่รับประทานที่ร้านบางส่วนเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลานานเท่าที่ภาครัฐกำหนด โดยได้หันไปเน้นบริการอาหารแบบสั่งกลับบ้านและการส่งอาหารมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับความต้องการรับประทานอาหารที่บ้านที่สูงขึ้นในช่วงที่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ลดลงอย่างมาก ไปอยู่ที่ 2.2 พันล้านบาทในปี 2563 ซึ่งคิดเป็นการลดลงที่ประมาณ 30% จากปีก่อน โดยคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ลดลง 50%-70% ในช่วงที่มีคำสั่งปิดเมือง และจะลดลง 10%-30% หลังจากช่วงดังกล่าว โดยอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ภายในช่วงกลางปี 2563 และหลังจากนั้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจร้านอาหารจะทยอยฟื้นตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.3-3.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถลดต้นทุนคงที่ในธุรกิจร้านอาหารลงได้ประมาณ 30% ในช่วงที่มีคำสั่งปิดเมืองเนื่องจากบริษัทมีความพยายามในการลดต้นทุนอยู่แล้ว เช่น ลดค่าจ้างพนักงานและเจรจากับผู้ให้เช่าอาคารเพื่อลดค่าเช่าลงในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 180 ล้านบาทในปี 2563 จาก 550 ล้านบาทในปีก่อน และจะฟื้นตัวขึ้นไปที่ 530-560 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
แบรนด์ร้านอาหารบริการด่วนและร้านอาหารที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี
สถานะทางการตลาดของบริษัทมาจากการที่บริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีและมีสาขาครอบคลุมพื้นที่ในระดับปานกลาง บริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารแบบแฟรนไชส์จำนวน 3 ตรา ได้แก่ “ดังกิ้น โดนัท” “โอ บอง แปง” และ “บาสกิ้น รอบบิ้นส์” อีกทั้งยังมีร้านอาหารภายใต้แบรนด์ของตนเองคือ “เกรฮาวด์ คาเฟ่” นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินกิจการร้านอาหาร “เกรฮาวด์ คาเฟ่” 1 แห่งในกรุงลอนดอนและดำเนินกิจการร้านอาหารฝรั่งเศสอีก 1 แห่งในกรุงปารีสชื่อ “Le Grand Vefour” ซึ่งเป็นร้านที่ได้รับรางวัลดาวมิชลิน 2 ดวงอีกด้วย ทั้งนี้ เกรฮาวด์ คาเฟ่ สร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคิดเป็น 40% ให้แก่บริษัท ในขณะที่ร้านอาหารแบบแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ทั้งสามรวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของทั้งบริษัทในปี 2562 บริษัทมีสาขาร้านอาหารประกอบไปด้วย ร้านดังกิ้น โดนัท จำนวน 281 สาขา ร้าน
โอ บอง แปง จำนวน 78 สาขา ร้านบาสกิ้น รอบบิ้นส์ จำนวน 29 สาขา และร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ จำนวน 25 สาขา ณ สิ้นปี 2562
มองหาโอกาสเพื่อขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ
ในช่วงปลายปี 2560 บริษัทได้ซื้อกิจการร้านอาหาร Le Grand Vefour ในกรุงปารีสซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลดาวมิชลิน 2 ดวง และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน บริษัทยังได้เปิดร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ ซึ่งเป็นร้านที่บริษัทบริหารเองแห่งแรกในต่างประเทศที่กรุงลอนดอนด้วย โดยร้าน Le Grand Vefour มีการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยนับตั้งแต่บริษัทเข้าซื้อกิจการโดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปรับตัวขึ้นมาเป็นบวกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน ต่ำกว่าที่คาดโดยมีรายได้ในปี 2562 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
บริษัทมีเป้าหมายจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในตลาดที่บริษัทเห็นว่ามีศักยภาพในการเติบโตที่ดี บริษัทยังร่วมมือกับ Mr. Guy Martin ซึ่งเป็นหัวหน้าเชฟของร้าน Le Grand Vefour เพื่อวางแผนจะขยายสาขาร้านอาหารในประเทศฝรั่งเศสเพิ่มเติมอีกหลายแห่งในช่วงปี 2563-2564 อีกด้วยแม้ว่าจะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในปัจจุบันก็ตาม โดยบริษัทวางแผนจะเพิ่มร้านอาหารในประเทศฝรั่งเศสปีละประมาณ 5 แห่ง ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายธุรกิจในต่างประเทศจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการขยายธุรกิจในต่างประเทศประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้บริษัทมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและมีโอกาสในการเติบโตที่สูงขึ้น
อัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำและสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง
บริษัทมีฐานรายได้ที่มีขนาดเล็กและมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยในปี 2562 บริษัทมีรายได้ 3 พันล้านบาทและมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 550 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 18% บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณ 1.5% ในปีดังกล่าว ยอดขายในสาขาเดิมของแต่ละแบรนด์ร้านอาหารลดลง 6%-10% ในปี 2562 จากผลของการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจร้านอาหารและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในประเทศไทย
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงต่อไปและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยิ่งทำให้ผลการดำเนินงานอ่อนตัวลงไปอีก ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายในสาขาเดิมของแต่ละแบรนด์ร้านอาหารจะลดลดง 25%-35% ในปี 2563 และจะทยอยฟื้นตัวกลับไปอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดอีกครั้งในปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงจะยังคงกดดันอัตรากำไรของบริษัทในช่วงปี 2564-2565 ต่อไปเนื่องจากผู้ประกอบการร้านอาหารอาจจำเป็นจะต้องจัดกิจกรรมทางการตลาดและจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
ระดับหนี้สินจะเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และการขยายธุรกิจในต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวในปี 2563 และการลงทุนขยายธุรกิจในประเทศฝรั่งเศส บริษัทมีแผนจะลงทุนในการขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อไปในขณะที่หยุดการลงทุนในส่วนอื่น ๆ ไปก่อน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะลงทุนเป็นเงินจำนวนประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีในปี 2563-2564 และจะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 160 ล้านบาทในปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับราว ๆ 10 เท่าในปี 2563 จาก 2.7 เท่าในปี 2562 ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ภายในช่วงกลางปี 2563 และคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.2 เท่าในปีต่อ ๆ มา ซึ่งสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนนั้นทริสเรทติ้งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 47%-54% ในปี 2563-2565 จากระดับ 35% ในปี 2562
หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกินกว่า 3 เท่าโดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.3 เท่า นอกจากนี้ เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารของบริษัทยังมีเงื่อนไขให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายไม่เกิน 3 เท่า โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.56 เท่า 1.93 เท่า และ 2.97 เท่า ตามลำดับ ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าบริษัทมีส่วนเผื่อพอสมควรที่จะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารนั้นบริษัทอาจต้องขอผ่อนผันเงื่อนไขทางการเงินทั้งในส่วนของอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเนื่องจากกระแสเงินสดของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่อ่อนแอลงจะกดดันสภาพคล่องของบริษัทในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวในระยะอันใกล้นี้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารจำนวน 66 ล้านบาทและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารจำนวน 200 ล้านบาท ในขณะที่แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบไปด้วยเงินสดประมาณ 140 ล้านบาทและวงเงินหมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่เบิกใช้ได้ประมาณ 100 ล้านบาท ทริสเรทติ้งประเมินว่าหากเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารสามารถต่ออายุออกไปได้ แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะสามารถรองรับขาดทุนจากการดำเนินงานในธุรกิจร้านอาหารได้นานประมาณ 5 เดือนในช่วงที่มีการปิดเมืองจากการที่บริษัทมีการลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในช่วงมาตรการปิดให้บริการร้านอาหารที่รับประทานในร้าน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะปรับตัวลดลงประมาณ 30% ในปี 2563 และจะทยอยฟื้นตัวในช่วงปี 2564-2565 โดยกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
• อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 59%-60%
• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะลดลงไปอยู่ที่ 8% ในปี 2563 และจะฟื้นตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 15%-16% ในช่วงปี 2564-2565
• เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564 และ 160 ล้านบาทในปี 2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนการคาดการณ์ผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงและระดับหนี้สินที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความเสี่ยงที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดจะรุนแรงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ หรือการฟื้นตัวของบริษัทจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยต้องใช้เวลานานกว่าคาด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อออกไปหรือการฟื้นตัวของบริษัทจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ใช้เวลานานกว่าที่คาด อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้เช่นกันหากบริษัทมีการลงทุนเป็นจำนวนมากโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมหรือหากผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่ที่ขยายไปในต่างประเทศต่ำกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมาก ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากผลการดำเนินงานของบริษัทแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจนทำให้ระดับหนี้สินปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิมหรือใกล้เคียงกับประมาณการของทริสเรทติ้ง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) (MM)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative