ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทยซึ่งมีความสามารถในการรับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงการที่มีความซับซ้อน อันดับเครดิตยังสะท้อนการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในกลุ่มบริษัทในเครือซึ่งทำให้เกิดการผสานพลังทางธุรกิจและช่วยให้บริษัทรับมือกับสภาวะที่งานก่อสร้างซบเซาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตของบริษัทก็ลดทอนลงบางส่วนจากรายได้ที่หดตัวและมูลค่างานรับเหมาก่อสร้างในมือที่มีจำนวนน้อย ในการประเมินอันดับเครดิตทริสเรทติ้งยังพิจารณารวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและความเป็นไปได้ที่การประมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐจะล่าช้าอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างที่หลากหลายซึ่งครอบคลุมตั้งแต่งานก่อสร้างทั่วไป เช่น ถนน ทางด่วน อาคาร และสะพานไปจนถึงงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง เช่น ระบบขนส่งมวลชนใต้ดินและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นต้น
บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อันดับที่ 2 ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของประเทศไทยเมื่อพิจารณาในแง่ของรายได้และขนาดของสินทรัพย์ ทั้งนี้ จากการมีประสบการณ์ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ยาวนานและฐานทุนขนาดใหญ่ บริษัทยังเป็นผู้รับเหมาระดับแนวหน้าเพียงไม่กี่รายที่มีความสามารถในการประมูลงานและดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐได้อีกด้วย
การลงทุนเชิงกลยุทธ์เริ่มสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ
บริษัทมีกลยุทธ์ในการสร้างฐานรายได้ประจำด้วยการลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของประเทศ เช่น ระบบขนส่งมวลชน รวมไปถึงสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานหรือสัญญาซื้อขายระยะยาว
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำในระดับหนึ่งซึ่งช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากวงจรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างลงได้ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพและบริษัทซีเคพาวเวอร์มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและผลการดำเนินงานที่ดี บริษัทเหล่านี้ได้จ้างให้บริษัทดำเนินโครงการก่อสร้างจำนวนมากที่เป็นส่วนของการขยายงานของแต่ละบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินปันผลจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอและมีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนในบางโอกาสอีกด้วย การลงทุนเชิงกลยุทธ์เหล่านี้ยังช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางด้านการเงินจากการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์และมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
การแข่งขันมีความรุนแรงและการประมูลงานมีความล่าช้า
ในปี 2562 การก่อสร้างภายในประเทศขยายตัวที่ระดับ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวที่ระดับ 2.4% ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวเพียง 1.4% ทั้งนี้ การก่อสร้างภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่ไม่ดีนักเนื่องจากการก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของภาคการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเหลืออยู่จำนวนมากก็ทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าการก่อสร้างภาคเอกชนภายในประเทศน่าจะยังคงซบเซาต่อไปอีกในระยะใกล้ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการก่อสร้างภาครัฐจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของการก่อสร้างภายในประเทศ
ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการก่อสร้างภายในประเทศประกอบไปด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าและใช้เวลานานรวมถึงการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ ความล่าช้าของกระบวนการออกพระราชบัญญัติงบประมาณของภาครัฐส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณและทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากความล่าช้าในการประมูลโครงการและการแต่งตั้งผู้รับเหมา
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีความเห็นว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ก็อาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่กดดันต่อสภาวะเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความเสี่ยงในหลายมิติ เช่น การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ที่ล่าช้าออกไปจากเดิม งานก่อสร้างมีอุปสรรคติดขัดในระหว่างดำเนินการ หรือแม้กระทั่งการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจบั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลงได้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองในด้านบวกต่ออุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในช่วงระยะปานกลาง โดยทริสเรทติ้งมองว่างบลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่เสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
รายได้หดตัว
เช่นเดียวกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อื่น ๆ บริษัทต้องรอการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลซึ่งมีความล่าช้า งานโครงการภาครัฐขนาดใหญ่จำนวนมากที่ต้องเลื่อนออกไปนั้นส่งผลให้มูลค่างานใหม่ของบริษัทลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้วบริษัทได้งานใหม่ซึ่งมีมูลค่าเพียง 1.4 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2561-2562 ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2562 นั้นต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้ โดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 2.34 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 21% จากปีก่อนหน้า อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงก็ทำให้บริษัทรายงานกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพียง 2.7 พันล้านบาทซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
จากการมีโครงการที่เปิดประมูลไม่มาก จึงทำให้มูลค่างานในมือของบริษัทอยู่ที่เพียง 3.86 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 และส่งผลกดดันอย่างหนักต่อบริษัทที่จะต้องหาโครงการใหม่เข้ามาเพิ่มเติมโครงการในมือ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อยจนกว่าจะถึงช่วงครึ่งหลังของปีนี้อันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้ของบริษัทจะยังคงหดตัวต่อไปอีกในปี 2563 หลังจากนั้นผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปีนี้เมื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐสามารถเปิดประมูลได้อย่างต่อเนื่อง
คาดว่าภาระหนี้จะทรงตัว
จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงไปอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2565 อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะอยู่ในช่วง 7%-8% ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพและบริษัทซีเคพาวเวอร์ที่ประมาณ 1.6-1.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากบริษัททีทีดับบลิวประมาณ 450-500 ล้านบาทต่อปี โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 2.8 พันล้านบาทในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2565
ณ สิ้นปี 2562 ภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปในการลงทุนเชิงกลยุทธ์และให้การสนันสนุนเงินกู้ยืมระยะยาวในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 51.2% ณ สิ้นปี 2562 ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะทรงตัวอยู่ในช่วง 50%-55% ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10 เท่าในช่วงปี 2563-2564 และจะลดลงเหลือประมาณ 7-8 เท่าในปี 2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตของบริษัท โดยพิจารณาถึงโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทที่เป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ประกอบธุรกิจลงทุน ซึ่งภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงได้อีกหากเงินให้กู้ยืมเพื่อสนับสนุนโครงการไซยะบุรีมีการชำระคืนด้วยการกู้ยืมใหม่
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนชั่วคราวจำนวน 9.2 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ประมาณ 1.6-1.8 พันล้านบาท ในขณะที่คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.0-1.5 พันล้านบาทและเงินปันผลจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 0.6-0.8 พันล้านบาท ภาระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 1.9 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 0.5 พันล้านบาท และหุ้นกู้อีกจำนวน 1 พันล้านบาท
นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนด้วยความยืดหยุ่นทางการเงินจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 3 แห่งอีกด้วย โดย ณ สิ้นปี 2562 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 7.71 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2.1 เท่าของภาระหนี้รวมของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีแนวโน้มที่จะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญในบริษัททั้ง 3 แห่งนี้ต่อไป
บริษัทจำเป็นต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้สอดคล้องตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้เกินกว่า 3 เท่า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ เดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 1 เท่า ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้
• รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2565
• อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะอยู่ในช่วง 7%-8%
• บริษัทจะได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่โดยมีมูลค่ารวมที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
• เงินสนับสนุนให้กู้ยืมในโครงการไซยะบุรีจะยังคงมีอยู่ในช่วงหลายปีข้างหน้า
• จะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่หรือการสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ได้งานใหม่จากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับ 7%-8% เอาไว้ได้แม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงก็ตาม ในขณะเดียวกัน บริษัทก็จะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับ 50%-55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเอาไว้ได้โดยที่เงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในระยะเวลาอันใกล้มีค่อนข้างจำกัด แต่จะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงและอยู่ต่ำกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 50% เอาไว้ได้
ในขณะที่ปัจจัยลบสำหรับอันดับเครดิต ได้แก่ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดจากความล่าช้าและการมีต้นทุนก่อสร้างในโครงการหลัก ๆ ที่สูงกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากผลการดำเนินงานลดลงอย่างมาก หรือมีการลงทุนขนาดใหญ่ หรือมีการให้การสนับสนุนทางการเงินที่มีมูลค่าสูงแก่บริษัทในกลุ่ม ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนสูงเกินกว่า 60% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CK20NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
CK215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
CK217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 820 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
CK225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
CK226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
CK227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 910 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
CK235B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
CK245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
CK246B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
CK247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
CK25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
CK267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
CK283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
CK287A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,020 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
CK296A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable