ทริสเรทติ้งประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ชัยวัฒนา
แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ “BB+” โดยการประกาศดังกล่าวสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระของบริษัทท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยของตลาดการเงิน
บริษัทมีหุ้นกู้จำนวนรวม 631.4 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระภายในปีนี้ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นกู้จำนวน 337.1 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 และหุ้นกู้จำนวน 294.3 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 1 กันยายน 2563 ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน บริษัทมีวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้พร้อมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันประมาณ 200 ล้านบาท ทำให้บริษัทยังขาดเงินอีกจำนวน 137.1 ล้านบาทสำหรับใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 นี้ ในการนี้ บริษัทวางแผนจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอชำระหนี้บางส่วนและขอเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือนนี้ออกไป ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 1 กันยายน 2563 นั้นน่าจะชำระได้ด้วยเงินกู้ระยะยาวก้อนใหม่ที่บริษัทจะได้รับจากสถาบันการเงินและเงินที่จะได้รับจากการขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของตลาดการเงินและการชะลอตัวของธุรกิจรถยนต์ก็ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระเพิ่มสูงขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรจากธุรกิจเบาะหนังรถยนต์และธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2562 จากระดับต่ำสุดที่ประมาณ 900 ล้านบาท กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 350 ล้านบาทในปี 2562 จากระดับต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปีในช่วงหลายปีก่อน อย่างไรก็ดี การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 กำลังส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเบื้องต้นทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลงประมาณ 20% เป็น 1.7 พันล้านบาทในปี 2563 และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวมาอยู่เหนือระดับ 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 รายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าและการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจใหม่คือเรือและรถมินิบัสที่ลำเรือและตัวถังรถทำด้วยอะลูมิเนียมน่าจะช่วยลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ลงได้ ทั้งนี้ ในปี 2562 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทและคิดเป็น 45% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายรวม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าแนวโน้มธุรกิจของบริษัทในระยะยาวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปัจจัยที่สร้างความกังวลให้แก่ทริสเรทติ้งคือสภาพคล่องของบริษัทในระยะสั้นและแผนการลงทุนของบริษัทที่น่าจะทำให้กระแสเงินสดตึงตัวในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มเติมจะกดดันงบดุลและกระแสเงินสดของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทวางแผนจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ด้วยการใช้เชื้อเพลิงขยะหรือ RDF โครงการนี้ประกอบไปด้วยการก่อสร้างและติดตั้งอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการบริหารจัดการขยะ (ระยะที่ 1) และการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า (ระยะที่ 2) โดยงบลงทุนทั้งหมดในเบื้องต้นน่าจะอยู่ที่ 1.0-1.3 พันล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 30% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนหากบริษัทจะเริ่มงานในระยะที่ 2 ทั้งนี้ หากบริษัทลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมากก็อาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตได้
ทริสเรทติ้งจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและจะปรับเปลี่ยนแนวโน้มเครดิตพินิจหากบริษัทสามารถแสดงให้เห็นว่าจะสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนมาได้อย่างเพียงพอต่อการชำระหนี้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มเครดิตพินิจ: Negative