ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ EDL-Generation Public Company (EDL-Gen) ที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ด้วย
การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ทริสเรทติ้งได้เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ลงมาเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ในขณะที่อันดับเครดิตของ สปป. ลาว ยังคงเดิมที่ระดับ “BBB”
อันดับเครดิตของ EDL-Gen ที่ระดับ “BBB” สะท้อนถึงความเชื่อมโยงกับ Electricite du Laos (EDL) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้รับซื้อไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท ทั้งนี้ EDL มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป. ลาว ดังนั้น สถานะเครดิตของ EDL จึงขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของ สปป. ลาว
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าใน สปป. ลาว อีกด้วย อย่างไร
ก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสถานะเครดิตประเทศของ สปป. ลาว ตลอดจนแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของ EDL และภาวะอุปทานส่วนเกินของตลาดไฟฟ้าใน สปป. ลาว ด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงสถานะเครดิตของ EDL และ สปป. ลาว
สถานะเครดิตของ EDL-Gen สะท้อนถึงสถานะเครดิตของ EDL และ สปป. ลาว ทั้งนี้ EDL-Gen เป็นบริษัทย่อยหลักของ EDL โดยสืบทอดบทบาทในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าป้อนให้แก่ประเทศแทน EDL มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ในขณะเดียวกัน EDL ก็เป็นลูกค้ารายเดียวของ EDL-Gen และยังเป็นเจ้าของระบบสายส่งแรงสูงของประเทศแต่เพียงผู้เดียวอีกด้วย ดังนั้น EDL-Gen จึงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ EDL ภายใต้โครงสร้างดังกล่าว
EDL มีอิทธิพลต่อทิศทางธุรกิจของ EDL-Gen ในหลายแง่ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัท โครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงนโยบายในการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น
EDL เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีกระทรวงการเงินของ สปป. ลาว หรือ Ministry of Finance of Lao PDR (MOFL) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ดังนั้น สถานะเครดิตของ EDL จึงสะท้อนถึงความเป็นไปได้ในระดับสูงที่รัฐบาล สปป. ลาว จะให้การสนับสนุนในภาวะที่ EDL เผชิญกับความยากลำบาก โดยความเป็นไปได้ดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ทั้ง EDL และ EDL-Gen ต่างก็มีบทบาทสำคัญตามแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าของ สปป. ลาว นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้ายังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป. ลาว เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกด้วย
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของ สปป. ลาว
EDL-Gen เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของ สปป. ลาว โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 16.5% ของกำลังการผลิตรวมของ สปป. ลาว ทั้งนี้ EDL-Gen เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 22.6% ของไฟฟ้าที่ใช้ใน สปป. ลาว
กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของ EDL-Gen เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2562-2563 โดยในปี 2562 EDL ได้โอนหุ้นที่ลงทุนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (Independent Power Producer -- IPP) ทั้งสิ้น 4 โครงการให้แก่ EDL-Gen ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนที่ 350 เมกะวัตต์ และ EDL ยังได้โอนส่วนขยายของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 1 จำนวน 80 เมกะวัตต์ให้แก่ EDL-Gen อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการ Donsahong ซึ่งเป็นโครงการ IPP ด้วยขนาดกำลังการผลิต 52 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนที่ EDL-Gen ลงทุนก็ได้เริ่มดำเนินงานแล้วในเดือนธันวาคม 2562 สำหรับปี 2563 นั้น EDL มีแผนจะโอนโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีก 3 แห่งรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 187 เมกะวัตต์ให้แก่ EDL-Gen ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ากำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของ EDL-Gen จะเพิ่มเป็น 1,896 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2563 จาก 1,159 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2561
อุปทานส่วนเกินภายในประเทศจะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี
จากข้อมูลเบื้องต้นที่ทริสเรทติ้งได้รับระบุว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดใน สปป. ลาว เพิ่มขึ้นเป็น 9,972 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2562 จาก 7,080 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งจากกำลังการผลิตทั้งหมดนั้น ไฟฟ้าจำนวน 5,961 เมกะวัตต์เป็นกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า IPP เพื่อการส่งออกโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่ส่งมายังประเทศไทย ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลือจำนวน 4,011 เมกะวัตต์นั้นส่งไปจำหน่ายภายในประเทศโดยผ่านระบบสายส่งของ EDL
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กำลังการผลิตไฟฟ้าสำหรับจำหน่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compounded Annual Growth Rate) ที่ 17.5% โดยกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 4,011 เมกะวัตต์ในปี 2562 จาก 2,105 เมกะวัตต์ในปี 2558 ในขณะที่อุปสงค์การใช้ไฟฟ้าภายในประเทศเติบโตช้ากว่า โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9.3% เพิ่มขึ้นเป็น 1,085 เมกะวัตต์ในปี 2562 จาก 760 เมกะวัตต์ในปี 2558 ส่งผลทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 เมกะวัตต์ EDL มีความพยายามที่จะคลี่คลายสถานการณ์นี้โดยหาตลาดส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และมาเลเซียโดยผ่านทางสายส่งไฟฟ้า (Grid-to-grid) นอกจากนี้ EDL ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าหลักที่จะเชื่อมต่อภาคกลางและภาคใต้ของ สปป. ลาว เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามอีกด้วย โดยโครงการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าหลักนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งหมายความว่าสถานการณ์อุปทานส่วนเกินนี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีก 2-3 ปี
ภาวะอุปทานส่วนเกินภายในประเทศนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ EDL-Gen ในด้านการจำหน่ายไฟฟ้าเนื่องจาก EDL จะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP รายอื่นและอาจจะลดการซื้อไฟฟ้าจาก EDL-Gen ลงเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก จากการที่โรงไฟฟ้า IPP หลายแห่งมีลักษณะเป็นฝายน้ำล้น (Run-of-river) ผู้ผลิตไฟฟ้าเหล่านี้จึงไม่สามารถลดกำลังการผลิตในฤดูน้ำหลากลงได้ ในขณะที่โรงไฟฟ้าหลายแห่งของ EDL-Gen นั้นมีอ่างเก็บน้ำและสามารถชะลอการผลิตได้ในช่วงฤดูน้ำหลากและดำเนินการผลิตเต็มที่ได้ในฤดูแล้ง
ภาวะแล้งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปี 2562-2563
EDL-Gen ผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 25% ในปี 2562 เนื่องจากภาวะฝนแล้งที่รุนแรงในทางตอนเหนือของ สปป. ลาว จากข้อมูลเบื้องต้นที่ทริสเรทติ้งได้รับระบุว่า EDL-Gen ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 2,114 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง (ล้านหน่วย) ให้แก่ EDL ในขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโครงการ IPP ลดลงเหลือ 3.39 แสนล้านกีบในปี 2562 จาก 6.26 แสนล้านกีบในปี 2561 โดยสืบเนื่องมาจากปริมาณน้ำที่น้อยลงใน สปป. ลาว
ภาวะแล้งในปี 2562 ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักของ EDL-Gen อยู่ในระดับที่ต่ำสุด ณ สิ้นปี 2562 ดังนั้น จึงคาดว่าปริมาณไฟฟ้าที่จะผลิตได้ในปี 2563 จากโครงการปัจจุบันของบริษัทไม่น่าจะมากกว่าที่ผลิตได้ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม EDL ได้โอนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 187 เมกะวัตต์ให้แก่ EDL-Gen ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงประมาณการว่ารายได้ของ EDL-Gen จากการจำหน่ายไฟฟ้านั้นน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8% เป็นประมาณ 1.3 ล้านล้านกีบจากการรับโอนโรงไฟฟ้ามาจาก EDL
มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
EDL-Gen ยังคงได้รับผลกระทบจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามาโดยตลอดด้วยเหตุที่ค่าเงินกีบอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสกุลเงินบาทไทย ทั้งนี้ เนื่องจากเงินกู้ของ EDL-Gen อยู่ในสกุลเงินตราต่างประเทศ EDL-Gen จะยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อไปเนื่องจากความไม่สอดคล้องกันของสกุลเงินในส่วนของรายรับและรายจ่าย โดยโครงสร้างรายได้ของบริษัทประมาณ 50% เป็นเงินกีบ ในขณะที่ 46% เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 4% เป็นเงินบาทไทย อีกทั้งเงินกู้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทด้วย
ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินกู้ตามที่รายงานในงบการเงินรวมทั้งสิ้น 13.9 ล้านล้านกีบ โดยเป็นเงินกู้ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 60% และในสกุลเงินบาท 39% ส่วนอีก 1% อยู่ในสกุลเงินยูโรและเยน
มีการลงทุนพอประมาณในช่วงปี 2564-2568
EDL-Gen ได้มีการปรับลดการลงทุนตามแผนลง โดยบริษัทตัดสินใจที่จะเลื่อนการลงทุนในโครงการ IPP บางโครงการออกไป ในช่วงปี 2563-2566 บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 ล้านล้านกีบสำหรับการถือหุ้น 100% ในโรงไฟฟ้าของ EDL จำนวน 4 แห่ง รวมถึงซื้อหุ้นในโครงการ IPP จำนวน 2 โครงการจาก EDL และลงทุนในโครงการ IPP เองอีก 2 แห่ง นอกจากนี้ EDL-Gen ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 4 โครงการและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 1 โครงการด้วย จากเงินลงทุนที่คาดการณ์ไว้ที่ 5 ล้านล้านกีบนั้น EDL-Gen ได้จ่ายชำระค่าหุ้นล่วงหน้าในหลาย ๆ โครงการให้แก่ EDL ไปแล้วจำนวน 2.2 ล้านล้านกีบ ทั้งนี้ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของ EDL-Gen ในช่วงปี 2564-2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 80 เมกะวัตต์ต่อปี เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี 2562 จำนวน 490 เมกะวัตต์และในปี 2563 จำนวน 247 เมกะวัตต์
ภาระหนี้ยังคงเพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่า EDL-Gen จะมีภาระหนี้ที่สูงขึ้นจากการรับโอนโรงไฟฟ้ามาจาก EDL ในช่วงปี 2562-2563 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรวมภาระหนี้ของโรงไฟฟ้าที่ EDL-Gen ซื้อมาจาก EDL เข้ามาในงบการเงิน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 63%-67% ในระหว่างปี 2563-2565 จากระดับ 58.5% ณ สิ้นปี 2562
กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นหลังปี 2564
จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่า EDL-Gen จะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น เป็นประมาณ 2.0-2.1 ล้านล้านกีบในปี 2565-2566 จาก 1.4 ล้านล้านกีบในปี 2562 เมื่อ EDL-Gen รับรู้ผลประโยชน์จากการซื้อโรงไฟฟ้าและหุ้นในโรงไฟฟ้า IPP จาก EDL อย่างเต็มที่ โดยในปี 2565 จะเป็นปีที่โรงไฟฟ้าเกือบทั้งหมดเปิดดำเนินงานเต็มปี
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 11-12 เท่าในปี 2563 จากประมาณ 9.6 เท่าในปี 2562 อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะดีขึ้นโดยอยู่ในช่วง 8-10 เท่าในระหว่างปี 2564-2565 ทั้งนี้ จากระดับประมาณการของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรวมถึงการลงทุนทำให้คาดว่า EDL-Gen อาจจำเป็นจะต้องกู้เงินเพื่อนำมาชำระคืนหุ้นกู้สกุลเงินบาทที่จะครบกำหนดในปี 2564
สถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของ EDL-Gen จะมีเพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งที่มาของเงินทุนประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.1 ล้านล้านกีบ ณ สิ้นปี 2562 เงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.9 แสนล้านกีบ ในขณะที่บริษัทไม่มีภาระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 อย่างไรก็ตาม EDL-Gen มีเงินกู้ระยะยาวที่จะกำหนดชำระจำนวน 5.8 แสนล้านกีบ ดังนั้นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเมื่อรวมกับประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานนั้นจึงน่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้เงินกู้ในปี 2563
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าของ EDL-Gen จะเพิ่มขึ้น 8% ในปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงการรับโอนโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามา 3 แห่ง
• ภาวะอุปทานส่วนเกินและภาวะคอขวดของสายส่งใน สปป. ลาว คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายลงในปี 2565
• อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) จะสูงเกินกว่า 80% ตลอดระยะเวลาประมาณการ
• เงินลงทุนในช่วงปี 2563-2566 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านกีบ โดยเงินลงทุนนี้ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงประจำปี การซื้อโรงไฟฟ้าจาก EDL การซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้า IPP หลายแห่งจาก EDL รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ และการลงทุนในโรงไฟฟ้า IPP อื่น ๆ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของ สปป. ลาว โดยทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างธุรกิจและระดับของความสัมพันธ์ระหว่าง EDL และ EDL-Gen จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน และ EDL จะยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่ใน EDL-Gen และจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล สปป. ลาว ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” นั้นขึ้นอยู่กับแนวโน้มอันดับเครดิตของ สปป. ลาว เป็นสำคัญ ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลในเชิงบวกหรือลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตประเทศของ สปป. ลาว ทั้งนี้ สถานะเครดิตของ EDL-Gen สะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของ EDL และรัฐบาล สปป. ลาว อย่างเต็มที่
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign Credit Rating), 8 ตุลาคม 2556
EDL-Generation Public Company (EDL-Gen)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
EDLGEN217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,810.3 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB
EDLGEN21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB
EDLGEN227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,085.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB
EDLGEN237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,078.1 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB
EDLGEN247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,660.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB
EDLGEN24DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB
EDLGEN257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,443.1 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB
EDLGEN287A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,897.9 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB
EDLGEN307A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 809.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 BBB
EDLGEN311A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,093.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 BBB
EDLGEN337A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,621.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 BBB
EDLGEN239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2566 BBB
EDLGEN269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2569 BBB
EDLGEN289A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2571 BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative