ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” และคงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ “A-” โดยอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ลดลง 1 ขั้นจากอันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงโครงสร้างที่ด้อยกว่าของหุ้นกู้ จากการที่บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันที่ระดับ “AA” เช่นเดิม ทั้งนี้ หุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัทได้รับการค้ำประกันโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับสากล (International Scale) ที่ระดับ “BBB+” จาก S&P Global Ratings
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แข็งแรงจากพอร์ตการลงทุนในโรงไฟฟ้า และผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอของโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว รวมถึงสถานะทางการเงินยังคงดี อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตถูกจำกัดจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่และความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตแบตเตอรี่
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ความเข้มแข็งด้านเครดิตของบริษัทยังคงได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดที่แข็งแรงจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของบริษัท โดยบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเท่ากับ 664 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 4 โครงการกำลังการผลิต 278 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โครงการกำลังการผลิต 386 เมกะวัตต์ โดย ณ ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าทั้งหมดได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบหมดแล้ว
กระแสเงินสดที่ได้จากการลงทุนนั้นมีขนาดใหญ่และสามารถคาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับผู้รับซื้อไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าช่วยปิดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ และป้องกันผลกระทบจากการขึ้นลงของสภาวะเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่ต่ำของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมยังเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อความมั่นคงในการสร้างกระแสเงินสดอีกด้วย ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัทได้ให้ส่วนเพิ่มของอัตราค่าไฟฟ้า (Adder) เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดและอัตรากำไรเป็นระยะเวลานานอีกด้วย
ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่สม่ำเสมอ
ผลการดำเนินงานโดยรวมของโรงไฟฟ้าของบริษัทยังคงเป็นไปอย่างราบรื่น และดีกว่าตัววัดโดยอิงจากปริมาณไฟฟ้าที่น่าจะผลิตได้ด้วยความน่าจะเป็น 50% (P50) โดยในปี 2562 ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดเท่ากับ 1,389 กิกะวัตต์ชั่วโมงคิดเป็นเพิ่มขึ้น 55% จาก 891 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2561 การเพิ่มขึ้นเกิดจากการเริ่มดำเนินการของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม หรือโครงการหนุมานซึ่งมีกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ในเดือนเมษายน 2562 ทั้งนี้ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าได้ในไตรมาสแรกของปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 381 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นอีก 51% จาก 251 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าโรงไฟฟ้าทุกโรงของบริษัทจะยังผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงในระยะยาว และคาดว่าปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้จะอยู่ที่ประมาณ 1,480 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในระหว่างปี 2563-2565
ขยายการดำเนินงานไปสู่ธุรกิจนอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้า
บริษัทได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจแบตเตอรี่ในปี 2559 ผ่านการลงทุนในบริษัท Amita Technologies ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่จากไต้หวัน ด้วยความช่วยเหลือด้านเทคนิคจาก Amita Technology บริษัทได้ดำเนินการมาจนอยู่ในช่วงก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในเฟสแรกซึ่งมีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงในจังหวัดฉะเชิงเทรา บริษัทยังได้ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแบตเตอรี่อื่น ๆ รวมถึงสร้างเรือไฟฟ้า และโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่อีกด้วย
บริษัทยังได้พัฒนาธุรกิจไบโอดีเซลเพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์กรีนดีเซลและสารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material) อีกทั้งบริษัทได้ขยายไปสู่ธุรกิจต้นน้ำของธุรกิจไบโอดีเซล โดยการซื้อหุ้นจำนวน 75% ใน บริษัท ลาภภักดีปาล์ม จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์ม และซื้อหุ้นในสัดส่วน 70% ของ บริษัท คอมไบน์ เอ็นเนอร์ยี่ เทค จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการเช่าถังเก็บและขนส่งน้ำมันปาล์มดิบ
นอกจากนี้ บริษัทได้รับการอนุมัติจากประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ให้สามารถลงทุนใน บริษัท แลนด์ พรอสเพอริตี้ โฮลดิง จำกัด ได้ในสัดส่วนไม่เกิน 19% เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดฉะเชิงเทราด้วยเช่นกัน
ความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่
สถานะเครดิตของบริษัทยังคงถูกลดทอนจากความเสี่ยงจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในการพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่กำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี การลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับสถานะการเงินของบริษัทในปัจจุบัน การลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทจะต้องเผชิญต่อความเสี่ยงจากธุรกิจผลิตแบตเตอรี่หลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ใช้ ตลาดที่เป็นวัฎจักรและมีการแข่งขัน รวมถึงความเป็นไปได้ที่ราคาของแบตเตอรี่จะลดลงจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ดำเนินการป้องกันหลายอย่างเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว อาทิเช่น การซื้อเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ และการกระตุ้นความต้องการของแบตเตอรี่ผ่านการริเริ่มในหลายโครงการ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า บริษัทจะพัฒนาโครงการอย่างรอบคอบ โดยค่อย ๆ พัฒนาโครงการทีละเฟส เพื่อรักษาสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาด และหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และป้องกันความเสี่ยงที่สถานะการเงินจะด้อยลงจากการลงทุนในโครงการนี้
พยายามสร้างธุรกิจใหม่เพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่จะเริ่มลดลงในปี 2566
กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทคาดว่าจะคงที่จนถึงปี 2566 ก่อนที่จะลดลงประมาณปีละ 10% อันเนื่องจากส่วนเพิ่มของอัตราค่าไฟฟ้านั้นเริ่มทยอยหมดอายุ ความยั่งยืนของกระแสเงินสดของบริษัทนั้นจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธุรกิจใหม่ๆของบริษัท ซึ่งได้แก่ ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่, ธุรกิจผลิตกรีนดีเซล และสารเปลี่ยนสถานะ รวมถึงธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้ใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยจะส่งผลให้สัดส่วนของสินทรัพย์และรายได้ของบริษัทค่อย ๆ เปลี่ยน รวมถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทด้วยเช่นกัน
เราคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปสู่ 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 รายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่พลังงานไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นและคิดเป็น 40%-45% ในปี 2565 ในขณะเดียวกัน รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าน่าจะลดลงจาก 75% ในปี 2562 เป็น 50%-55% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ในแง่ของกระแสเงินสด คาดว่า EBITDA ที่เสถียรภาพจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นรายได้หลัก และมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของ EBITDA โดยรวมในช่วงระหว่างปี 2563-2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจาก 1.05 หมื่นล้านบาทเป็น 1.15 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว
สถานการณ์การเงินยังคงดี
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าสัดส่วนภาระหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ดีในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากสมมติฐานกรณีฐาน คาดว่าการใช้เงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 โดยส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เฟสแรกมูลค่า 3.3 พันล้านบาท โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2 พันล้านบาท การก่อสร้างเรือไฟฟ้าจำนวน 1 พันล้านบาท และการลงทุนในหุ้นของบริษัท แลนด์ พรอสเพอริตี้ โฮลดิง จำกัด ที่สัดส่วน 19% จำนวน 5.31 พันล้านบาท ในขณะเดียวกันคาดว่าเงินลงทุนน่าจะลดลงอย่างมากในช่วงปี 2564-2565
อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทน่าจะต่ำกว่า 4.0 เท่าในช่วงปี 2563-2565 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินสุทธิน่าจะอยู่สูงกว่า 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินกระแสเงินสดของบริษัทจะยังเพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า แหล่งที่มาของเงินทุนจะประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.05 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.75 พันล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้สินที่ต้องชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท โดยบริษัทมีหุ้นกู้จำนวน 3.0 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 - 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2563-2565
• EBITDA ของบริษัทคาดว่าจะเติบโตอยู่ระหว่าง 1.05-1.15 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2563-2565
• เงินลงทุนจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 4.5 พันล้านบาทต่อปี ในระหว่างปี 2564-2565
• อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ประมาณ 18%-20%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของบริษัทจะสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอตามที่วางแผนไว้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะตัดสินใจลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการแบตเตอรี่อย่างรอบคอบ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตค่อนข้างจำกัดในระยะกลาง เนื่องจากข้อจำกัดจากการลงทุนขนาดใหญ่ในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ อย่างไรก็ตาม โอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นอาจเกิดขึ้นได้ หากบริษัทสามารถขยายฐานของกระแสเงินสดได้อย่างมาก ในขณะที่ยังสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่ดีไว้ได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนที่ใช้เงินกู้อย่างเกินตัวหรือขาดทุนอย่างมากจากความผิดพลาดในการดำเนินโครงการใหม่ ๆ ของบริษัท
อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันคือธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งได้รับอันดับเครดิตในระดับสากล (International Scale) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จาก S&P Global Ratings โดยอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตามคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
EA207A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 AA
EA217A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA
EA227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
EA228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
EA248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
EA26OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
EA297A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-
EA298A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable