ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช โฮเทล” ที่ “BBB+” แนวโน้ม “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 25, 2020 17:10 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช โฮเทล (ทรัสต์ฯ) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” โดยแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ารายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

(โควิด-19) และความล่าช้าของแผนเพิ่มทุนภายหลังจากการซื้อกิจการโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยใช้เงินกู้ยืมเป็นแหล่งเงินทุน

ในขณะที่อันดับเครดิตสะท้อนถึงสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูงของทรัสต์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีของกรุงเทพฯ ตลอดจนโครงสร้างรายได้ค่าเช่าซึ่งประกอบไปด้วยสัดส่วนที่เป็นค่าเช่าคงที่และค่าเช่าผันแปร และการเพิ่มทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในกลางปี 2564 นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตในอนาคตของทรัสต์ฯ จากสินทรัพย์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็ลดทอนลงจากความผันผวนของธุรกิจโรงแรมและขนาดสินทรัพย์ของทรัสต์ฯ ที่มีขนาดเล็ก

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานของโรงแรมได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากโควิด-19

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงแรมจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการของรัฐบาลที่จำกัดการเดินทางและการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ โรงแรมจำนวน 1 ใน 3 ของทรัสต์ฯ ได้ปิดดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2563 ในขณะที่โรงแรมอีก 2 แห่งยังคงเปิดดำเนินการอยู่แต่ก็มีอัตราการเข้าพักที่ต่ำมาก สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะสามารถยับยั้งได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 และธุรกิจโรงแรมจะเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกและความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจะยังคงส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2564 ต่อไปอีก

ปัจจุบันทรัสต์ฯ เป็นเจ้าของโรงแรม 3 แห่งซึ่งประกอบด้วย โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ เทอร์มินอล 21 โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ และโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55 ที่เพิ่งซื้อมาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยโรงแรมทั้งหมดมีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 1,401 ห้อง โรงแรมทุกแห่งได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีและตั้งอยู่ในทำเลที่ดีของกรุงเทพฯ โดยโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ เทอร์มินอล 21 เชื่อมต่อโดยตรงกับรถไฟฟ้าที่สถานีอโศกและรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีสุขุมวิท ส่วนโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ และโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55 ก็ตั้งอยู่ในซอยทองหล่อ ย่านสุขุมวิท และสามารถเดินทางจากรถไฟฟ้าสถานีทองหล่อได้ โดยโรงแรมทั้ง 3 แห่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ปี 2551 และปี 2559 ตามลำดับ

อัตราการเข้าพักของโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ เทอร์มินอล 21 อยู่ที่ระดับ 85%-94% ในช่วงปี 2560-2562 โดยอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยเติบโต 1%-4% ต่อปี และมีรายได้ค่าห้องพักอยู่ในช่วง 3,400-3,700 บาทต่อห้องต่อคืนในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักของโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ อยู่ที่ระดับ 78%-88% และมีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 3,800 บาทต่อห้องต่อคืนในช่วงปี 2561-2562 ในขณะที่มีรายได้ค่าห้องพักอยู่ที่ประมาณ 3,100 บาทต่อห้องต่อคืน ส่วนโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55 นั้นมีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับ 79%-87% ในช่วงปี 2560-2562 มีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยเติบโต 2%-8% ต่อปี และมีรายได้ค่าห้องพักอยู่ที่ 2,200-2,700 บาทต่อห้องต่อคืนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโรงแรมมาตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าการมีทำเลที่ตั้งและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีถือว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญเมื่อธุรกิจโรงแรมเริ่มฟื้นตัวกลับมา

รายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ ในปี 2563 ที่มาจาก บริษัท แอล แอนด์ เอช โฮเทล แมเนจเมนท์ จำกัด ในฐานะที่เป็นผู้เช่าช่วงจะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากปีที่แล้วซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อผลการดำเนินงานของโรงแรมแม้ว่าจะรวมค่าเช่าเต็มปีจากโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55 แล้วก็ตาม

ภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้เช่าช่วงจะยกเว้นการชำระค่าเช่าให้แก่ทรัสต์ฯ สำหรับช่วงเวลาที่เกิดผลกระทบคือเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2563 ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงในสัญญาเช่าระหว่างทรัสต์ฯ และบริษัท แอล แอนด์ เอช โฮเทล แมเนจเมนท์ ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ทรัสต์ฯ จะไม่ได้รับค่าเช่าจากผู้เช่าช่วงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 หรืออาจนานกว่านั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าการชำระค่าเช่าให้แก่ทรัสต์ฯ อาจได้รับการยกเว้นเป็นเวลาหลายเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนกันยายนของปีนี้ และแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ตามการคาดการณ์ แต่รายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ ก็อาจจะยังคงได้รับผลกระทบจากผลการดำเนินงานของโรงแรมที่อ่อนแอลงซึ่งส่งผลต่อรายได้ค่าเช่าในส่วนของค่าเช่าผันแปร

รายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของโรงแรมซึ่งบริหารโดยผู้เช่าช่วงภายใต้โครงสร้างการคิดค่าเช่าในปัจจุบันเป็นสำคัญ จากการที่กฎระเบียบที่เกี่ยวกับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ห้ามไม่ให้ทรัสต์ฯ นั้น ๆ ดำเนินการบริหารโรงแรมเอง ด้วยเหตุนี้ ทรัสต์ฯ จึงให้เช่าช่วงโรงแรมแก่บริษัท แอล แอนด์ เอช โฮเทล แมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ โดยบริษัท แอล แอนด์ เอช โฮเทล แมเนจเมนท์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าคงที่และค่าเช่าผันแปรให้แก่ทรัสต์ฯ โดยค่าเช่าคงที่จะมีการปรับปรุงใหม่ทุกปีตามผลประกอบการจริงของโรงแรมแต่ละแห่งแต่จะไม่ต่ำกว่าค่าเช่าคงที่ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในการลงนามในสัญญาเช่าช่วงตั้งแต่แรก สำหรับค่าเช่าผันแปรนั้นจะอยู่ที่ระดับ 85% ของผลการดำเนินงานที่ทำได้หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโรงแรมและค่าเช่าคงที่แล้ว ทั้งนี้ สัญญาเช่าช่วงของโรงแรมแต่ละแห่งมีกำหนดเวลาคราวละ 3 ปีโดยที่ทรัสต์ฯ มีสิทธิ์ต่ออายุสัญญาได้อีก 2 ครั้ง (3 ครั้งสำหรับโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55) ภายหลังจากสัญญาเช่าช่วงคราวแรกหมดอายุ

ในสภาวะปกติ การมีค่าเช่าคงที่เป็นประโยชน์ต่อทรัสต์ฯ ในแง่ที่ทรัสต์ฯ จะมีรายได้ขั้นต่ำที่แน่นอนในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ในสัญญาเช่าช่วงได้ระบุเงื่อนไขพิเศษที่ครอบคลุมกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น เหตุสุดวิสัยที่อนุญาตให้ผู้เช่าช่วงเลื่อนหรือยกเว้นการชำระค่าเช่าคงที่และค่าเช่าผันแปรให้แก่ทรัสต์ฯ ได้ หากรายได้ค่าห้องพักในเดือนที่ได้รับผลกระทบลดลงต่ำกว่ารายได้ค่าห้องพักสำหรับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ระดับ 20%-50% ผู้เช่าช่วงก็อาจเลื่อนการชำระค่าเช่าในเดือนที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวออกไปได้ และหากรายได้ค่าห้องพักในเดือนที่ได้รับผลกระทบลดลงต่ำกว่ารายได้ค่าห้องพักสำหรับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าเกินกว่า 50% และเข้าเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ระบุในสัญญาเช่าช่วง ผู้เช่าช่วงก็อาจยกเว้นการชำระค่าเช่าให้แก่ทรัสต์ฯ ในเดือนที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินทรัพย์

ทรัสต์ฯ พึ่งพารายได้ค่าเช่าจากโรงแรมเพียง 3 แห่งซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจึงผันแปรไปตามความผันผวนของธุรกิจโรงแรมและความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของโรงแรมใดโรงแรมหนึ่งหรือโรงแรมทุกแห่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ หากทรัสต์ฯ มีการขยายสินทรัพย์ที่สร้างรายได้มากขึ้นในอนาคต ความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะลดทอนลงไปได้ในระดับหนึ่ง

โอกาสในการเติบโตในอนาคตจากสินทรัพย์ของกลุ่ม

ตามปกติแล้ว บริษัทในกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ในฐานะผู้สนับสนุนของทรัสต์ฯ จะเพิ่มสินทรัพย์ที่เติบโตเต็มที่ซึ่งมีอัตราการเข้าพักสูงและมีการเติบโตของอัตราค่าห้องพักที่แน่นอนมาให้แก่ทรัสต์ฯ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์มีโรงแรม 2 แห่งซึ่งทรัสต์ฯ อาจมีแผนลงทุน ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา และโรงแรมใหม่ 1 แห่งในย่านพระราม 3 โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยามีห้องพักจำนวน 396 ห้องและเริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2561 โรงแรมใหม่ในย่านพระราม 3 อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2564 ปัจจุบันทรัสต์ฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะนำสินทรัพย์ใดเข้ามา รวมถึงยังไม่ได้พิจารณาขนาดการลงทุนและระยะเวลาที่จะลงทุนในสินทรัพย์ใหม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะมีแผนลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ตามปกติทุก 2-3 ปี โดยสินทรัพย์ใหม่จะยังคงมาจากผู้สนับสนุนหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกันเป็นหลัก ขนาดของสินทรัพย์ที่มีคุณภาพซึ่งเติบโตขึ้นจะช่วยสร้างรายได้ค่าเช่าให้มากขึ้นและเพิ่มความหลากหลายของกระแสเงินสดให้แก่ทรัสต์ฯ มากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย

หนี้สินในระดับสูงจากผลกระทบของโควิด-19 และความล่าช้าของการเพิ่มทุน

ทริสเรทติ้งมองว่าทรัสต์ฯ มีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเนื่องจากทรัสต์ฯ มีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวมให้ต่ำกว่า 30% อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55 โดยใช้เงินกู้ยืมเป็นแหล่งเงินทุนทั้งจำนวนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของทรัสต์ฯ เพิ่มขึ้นถึงระดับ 45% ณ สิ้นปี 2562 ตามแผนการลงทุนเดิมนั้น ทรัสต์ฯ จะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์โดยใช้ทุน 80% และเงินกู้ยืม 20% ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 แต่เนื่องจากสภาพของตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวยจากการแพร่ระบาดของไวรัส จึงทำให้ทรัสต์ฯ ต้องชะลอแผนการเพิ่มทุนออกไปและคาดว่าน่าจะเพิ่มทุนได้ในปี 2564

สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะสามารถเพิ่มทุนจำนวน 3.3 พันล้านบาทได้ภายในกลางปี 2564 โดยเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนคาดว่าจะใช้สำหรับการจ่ายชำระคืนหนี้ ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของทรัสต์ฯ จึงน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 20% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะต่ำกว่า 3 เท่าในปี 2564

ข้อกำหนดสิทธิทางการเงินของเงินกู้ธนาคารของทรัสต์ฯ กำหนดให้ทรัสต์ฯ ต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้ต่ำกว่า 1 เท่าและอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของทรัสต์ฯ อยู่ที่ 0.85 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ น่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนและอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดสิทธิของเงินกู้ธนาคารได้

สภาพคล่องตึงตัวแต่สามารถบริหารจัดการได้

แม้จะคาดว่ารายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ จะลดลงอย่างมากในปี 2563 แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าทรัสต์ฯ จะสามารถบริหารสภาพคล่องได้อย่างเพียงพอในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 แหล่งเงินทุนของทรัสต์ฯ มาจากเงินลงทุนในพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมูลค่ายุติธรรมจำนวน 247 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของทรัสต์ฯ มีค่อนข้างน้อยโดยกระแสเงินสดจ่ายออกส่วนใหญ่คือดอกเบี้ยจ่ายและเงินปันผล

นอกจากนี้ ทรัสต์ฯ ยังได้รับความยินยอมจากธนาคารผู้ให้เงินกู้ให้เลื่อนการจ่ายชำระเงินต้นในปี 2563 ออกไปได้ยกเว้นการจ่ายชำระคืนเงินกู้จำนวน 3.1 พันล้านบาท ในการนี้ ผู้จัดการทรัสต์ฯ มีแผนจะจ่ายชำระคืนเงินกู้ดังกล่าวด้วยวงเงินกู้ยืมระยะยาวที่ยังไม่ได้เบิกใช้

อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของทรัสต์ฯ อาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 และคาดว่าจะปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30%-40% ในช่วงปี 2564-2565 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอาจลดลงเหลือ 2 เท่าในปีนี้และคาดว่าจะดีขึ้นมาอยู่ที่ 6-9 เท่าในช่วงปี 2564-2565

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• อัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 และจะปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ในขณะที่อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยลดลง 10% ในปี 2563

• รายได้ค่าห้องพักในปี 2564 ต่ำกว่าในปี 2562 10%-15% และจะปรับดีขึ้นในปี 2565 โดยอยู่เท่ากับระดับในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส

• รายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ จะลดลงมากกว่าครึ่งในปี 2563 และคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ 0.9-1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565

• ทรัสต์ฯ จะสามารถเพิ่มทุนได้ที่จำนวน 3.3 พันล้านบาทในปี 2564 และเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนจะใช้สำหรับการชำระคืนหนี้

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของโรงแรมและรายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ ที่คาดว่าจะลดลงในปี 2563 รวมถึงภาระหนี้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากความล่าช้าของแผนการเพิ่มทุน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของทรัสต์ฯ อาจปรับลดลงหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปในทิศทางที่ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธุรกิจโรงแรมจะไม่สามารถเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตของทรัสต์ฯ ลงหากสภาพคล่องของทรัสต์ฯ ลดลงเร็วกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ หรือทรัสต์ฯ มีการจ่ายเงินปันผลจำนวนมากในไตรมาสที่มีการยกเว้นค่าเช่าอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย หรือแนวโน้มการเพิ่มทุนในปี 2564 ไม่มีความชัดเจน

ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตของทรัสต์ฯ อาจปรับเพิ่มขึ้นหากมีสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมภายหลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสสามารถควบคุมได้สำเร็จ ทั้งนี้ หากทรัสต์ฯ เพิ่มทุนได้สำเร็จและโครงสร้างเงินทุนปรับดีขึ้นโดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 20% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าก็จะส่งผลในเชิงบวกต่อแนวโน้มอันดับเครดิตของทรัสต์ฯ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, 12 ตุลาคม 2559

ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช โฮเทล (LHHOTEL)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ