ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” แต่เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” โดยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความเป็นไปได้สูงที่ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากโอกาสในการลงทุนในสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าใหม่ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทย่อยหลักคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทจากการมีรายได้ค่าบริการที่สม่ำเสมอจากการให้บริการเดินรถไฟฟ้า ตลอดจนการได้รับเงินปันผลที่สม่ำเสมอจากการถือหุ้น 33.33% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) และการมีสถานะที่มั่นคงในธุรกิจสื่อโฆษณา อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดบางส่วนจากโอกาสที่ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่กล่าวถึงข้างต้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้จากการให้บริการเดินรถที่คาดการณ์ได้และเพิ่มมากขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกระแสเงินสดจากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้ง 2 เส้นทาง ทั้งนี้ บริษัทให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าผ่านบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ได้เริ่มให้บริการในช่วงปลายปี 2561 ในขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในปี 2563 รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูงเนื่องจากมีการกำหนดอัตราค่าบริการแบบตายตัวไว้แล้วและยังถือว่าเป็นรายได้ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงอีกด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาทในปีบัญชี 2565 จากประมาณ 2.3 พันล้านบาทในปีบัญชี 2562
ผลกระทบระยะสั้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เงินปันผลรับลดลง
รายได้เงินปันผลจากกองทุนรวม BTSGIF จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยในปีบัญชี 2564 ผลการดำเนินงานของกองทุนรวม BTSGIF คาดว่าจะอ่อนแอลงเนื่องจากมาตรการปิดเมืองเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปีบัญชี 2564 แต่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2564 เมื่อการแพร่ระบาด สามารถควบคุมได้ในวงกว้างและภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นในปีบัญชี 2565 เนื่องจากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าจะส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นในโครงข่ายหลักซึ่งผ่านบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก จากเหตุผลดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้เงินปันผลของบริษัทจะลดลง 25% ในปีบัญชี 2564 จากนั้นจะปรับเพิ่มขึ้น 40% ในปีบัญชี 2565
จะต้องมีการลงทุนจำนวนมากหากโครงการใหม่ ๆ ได้รับความเห็นชอบ
บริษัทจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อใช้ลงทุนในหลายโครงการในช่วง 5 ปีข้างหน้า เมื่อโครงการเหล่านี้เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งนี้ โครงการหลักที่มีโอกาสในการลงทุนคือสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก บริษัทได้มีการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับกรุงเทพมหานครจำนวน 2 สัญญาเพื่อให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครมีความตั้งใจที่จะปรับโครงสร้างสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าไปเป็นสัญญาสัมปทานใหม่และบริษัทก็มีความตั้งใจที่จะลงทุนในสัญญาสัมปทานใหม่ด้วย โดยบริษัทได้มีการตกลงเงื่อนไขและข้อกำหนดกับกรุงเทพมหานครแล้วและอยู่ในระหว่างรอความเห็นชอบจากรัฐบาลซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทและผู้ร่วมทุนยังได้รับการประกาศให้เป็นผู้ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดสำหรับสัญญาดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M Contract) อายุ 30 ปีของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) รวมถึงสัญญาสัมปทานอายุ 50 ปีของโครงสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาอีกด้วย ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะต้องจัดหาแหล่งเงินทุนจำนวนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุนในโครงการเหล่านี้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาลดลงแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาของบริษัทจะลดลงอย่างมากถึงประมาณ 55% ในปีบัญชี 2564 จากปีบัญชีก่อนหน้าเนื่องจากไม่ได้รวมงบการเงินของ บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) เข้ามาด้วยและจากความต้องการโฆษณาที่ลดลงจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาจะฟื้นตัวประมาณ 30% ในปีบัญชี 2565 โดยคาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะค่อย ๆ ฟื้นตัวเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถควบคุมได้ในวงกว้างในช่วงสิ้นครึ่งแรกของปี 2563 นอกจากนี้ การเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวก็จะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจสื่อโฆษณาในขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีใหม่ ๆ ของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีเขียว
บริษัทดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท วี จี ไอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงเนื่องจากเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณาในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพียงรายเดียว นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวยังขยายธุรกิจไปสู่สื่อโฆษณานอกบ้านในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านการซื้อหุ้นในหลาย ๆ กิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อโฆษณาอีกด้วย โดยในปี 2563 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 41.16% ในบริษัทมาสเตอร์ แอด 23% ใน บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และ 18.86% ใน บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) การลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มฐานรายได้และยังผสานประโยชน์ทั้งในด้านการจัดจำหน่ายร่วมกันและการรวมฐานข้อมูลของผู้บริโภค อีกทั้งบริษัท วี จี ไอ ยังเสนอบริการโฆษณาสื่อออนไลน์ให้แก่ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคโดยการใช้ข้อมูลที่บริษัทได้รวบรวมไว้เป็นจำนวนมากได้อีกด้วย
ภาระหนี้มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น
ภาระหนี้ของบริษ้ทมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในกรณีที่มีการเปลี่ยนสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าไปเป็นสัญญาสัมปทานใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น เนื่องจากสัญญาสัมปทานใหม่ยังคงรอความเห็นชอบจากรัฐบาล ดังนั้น สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งจึงไม่ได้รวมผลกระทบจากโอกาสในการลงทุนใหม่นี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2563 อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.2 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) จาก 7.4 เท่าในปีบัญชี 2562 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเป็นหลัก ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะลดลงมาอยู่ที่ 4-5 เท่าในปีบัญชี 2564-2565 โดยอัตราส่วนที่ลดลงดังกล่าวจะมาจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นและจากการที่กรุงเทพมหานครจะชำระค่างานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการลงทุนสัญญาสัมปทานใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญหากบริษัทใช้เงินกู้สำหรับการลงทุนใหม่นี้เป็นหลัก
บริษัทมีการกู้ยืมเงินจำนวนมากสำหรับลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมภาระหนี้ที่ใช้ลงทุนในโครงการดังกล่าวให้เป็นหนี้ของบริษัทเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุนงานโยธารวมถึงเงินกู้สำหรับงานโยธาจะได้รับชำระคืนทั้งหมดจากภาครัฐ ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองนั้น ภาครัฐจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาพื้นที่และงานโยธา นอกจากนี้ เงินกู้ยืมสำหรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลยังเป็นเงินกู้โครงการที่มีลักษณะไม่มีสิทธิไล่เบี้ยผู้สนับสนุนโครงการอีกด้วย
สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 3.8 พันล้านบาทและมีหลักทรัพย์เพื่อค้าและหลักทรัพย์เผื่อขายจำนวน 3.8 พันล้านบาท บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 2.16 หมื่นล้านบาทด้วย บริษัทมีภาระในการชำระหนี้ระยะยาวในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 5.1 พันล้านบาทและภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 1.18 หมื่นล้านบาท
ในปีบัญชี 2564 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้โครงการ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2563 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 4.2 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อยู่ที่ระดับ 10.3% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 3.8 เท่า
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ในระยะ 12 ถึง 18 เดือนได้ ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.1 เท่า ซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ที่ 2.5 เท่า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระยะ 3 ปีข้างหน้าระหว่างปีบัญชี 2563-2565 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานดังต่อไปนี้
• รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาทในปีบัญชี 2565 จากประมาณ 2.3 พันล้านบาทในปีบัญชี 2562
• เงินปันผลรับจากกองทุนรวม BTSGIF จะลดลง 25% ในปีบัญชี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 40% ในปีบัญชี 2565
• รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาจะลดลง 55% ในปีบัญชี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 30% ในปีบัญชี 2565
• บริษัทจะรับรู้รายได้ประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาทจากงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตลอดจนการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า และรายได้จากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายสีชมพูและสายสีเหลือง
• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 60%-70%
• งบลงทุนรวมทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ราว ๆ 7.7 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในระดับสูงที่ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้สถานะเครดิตของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจนอยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านั้นยังไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลานานซึ่งอาจเป็นผลมาจากการลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากหรือผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BTSG20DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
BTSG22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
BTSG27DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
BTSG29DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
BTSG209A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
BTSG239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,290 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
BTSG289A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,660 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
BTSG245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
BTSG265A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
BTSG295A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
BTSG215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
BTSG225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative